กาชื่อไว้เลย มีชัยเป็นประธาน นี่เขียนตั้งแต่เมื่อวาน และไม่ผิดคาดอะไรกับรายชื่อ 21 คน ซึ่งตอกย้ำความไม่มีจุดยืน แนวคิด ทฤษฎี นอกจากมารับใช้ (คือชุดที่แล้ว บวรสากมันยังมีไอเดียของตัว พวก NGO ก็ต้องการ "สภาพลเมือง" นักวิชาการบางคนอย่างจรัส มีแนวคิดของตัวที่ชูมานานเรื่องกระจายอำนาจ แต่ชุดนี้ ดูชื่อภัทระ คำพิทักษ์ ก็พอ 555
ผมพูดไว้หลายครั้งแล้วว่าไม่ต้องมองข้ามช็อต เอาแค่ 6 เดือนนี้ก่อนว่า ที่ คสช.คิดว่าจะเอาอยู่น่ะ ไม่ง่ายหรอก 1 เดือนที่ผ่านมาเราเห็นอะไร หนึ่ง ใช้อำนาจปิดปากคุกคาม สอง มุ่งเล่นงานเครือข่ายชินวัตร สาม สร้างภาพกับ UN สี่ กระตุ้นเศรษฐกิจโดยสมคิด แต่ห้า ก็ถูกตอบโต้เช่นกัน ตั้งแต่งาน 9 ปี 19 กันยา มาถึงตั๊น และซิงเกิลเกทเวย์
6 เดือนจากนี้ถ้าแบ่งง่ายๆ 3 เดือนแรกไม่เท่าไหร่ เศรษฐกิจปลายปี ไม่ดีขึ้นแต่ยังไงก็คงไม่แย่ลง มีงานมงคล มีเทศกาลวันหยุด ประเด็นการเมืองจะประปราย รัฐธรรมนูญก็คงยังไม่ร้อนเท่าไหร่ แต่ 3 เดือนหลัง หรือ 3 เดือนแรกของปีหน้า จะเห็นอะไรในระดับที่บอกได้ว่า อยู่หรือไป (คือผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นไปตามสูตร 6-4-6-4 ไม่จบเห่ ก็ต้องยื้ออยู่ไปแบบนี้เรื่อยๆ ไม่มีทางหรอกที่จะราบรื่นไปสู่ประชามติ-ทำ กม.ลูก-เลือกตั้ง)

000000

กาชื่อไว้ได้เลย มีชัย ฤชุพันธุ์ จะเป็นประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ
อ้าว ก็ผู้เฒ่า 77 เข้าทำเนียบไปดูรายชื่อกรรมการเมื่อวันศุกร์ ถ้าไม่รับจะเข้าทำเนียบทำไมกัน คนระดับนั้นถ้าขอแก้ไขรายชื่อ มีหรือหัวหน้า คสช.จะไม่แก้ให้ อุตส่าห์เข้าไปคุยกันซะดิบดีถ้าเปลี่ยนใจ มีชัยนั่นละเสียหาย
มองข้ามช็อตไปดีกว่า มีชัยจะร่างรัฐธรรมนูญหน้าตาอย่างไร ตรงนี้สิ ไม่มีใครตอบได้ เพราะตลอดชีวิตมีชัยไม่เคยแสดงจุดยืน ทัศนะ ไอเดียที่เป็นของตัวเอง รู้แต่ว่าใครมีอำนาจอยากให้เขียนกฎหมายอย่างไรก็เขียนได้ เป็นต้นตำรับ “เนติบริกร” ตัวจริง
ยกตัวอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติอยู่ต่อไป มีชัยก็เขียนได้ แต่ถ้าดูๆ ไปสังคมไม่ยอมรับ มีชัยก็แก้ได้ การที่มีชัยเป็นประธานจึงดีอย่างคือยืดได้หดได้ แต่เสียอย่างคือไม่รู้จะมีหลักคิดทฤษฎีแค่ไหน และรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่กำหนดให้รับฟังความเห็นก่อน
ฉะนั้นทางที่ดี คณะกรรมการควร “โยนหิน” กำหนดประเด็นให้สาธารณชนออกความเห็นเป็นระยะๆ ไม่ใช่ซุ่มทำเอง 6 เดือนลงประชามติ เพราะในทางการเมือง ถ้าครั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญคว่ำอีก ก็ใช่จะกลับมา restart ง่ายๆ โดยไม่กระทบกระเทือนเสถียรภาพ คสช. ยิ่งถ้าคว่ำคาประชามติ ก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น
1 เดือนหลัง สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ การ restart ก็ไม่ใช่ราบรื่น อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงขึ้น คสช.เรียกนักการเมืองนักข่าวไปกักตัว ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ไปทั่ว นักศึกษาจัดชุมนุม 9 ปี 19 กันยา มีคนมากกว่าทุกครั้ง รัฐบาลอวดผลงานประชุม UN ว่านานาชาติยอมรับ แต่ก็ไม่ยั่งยืน วันใดโดนต่างชาติวิพากษ์หนักๆ ประชาชนจะเห็นว่าทุกอย่างเหมือนเดิมล่าสุดยังมาโดนต่อต้าน “ซิงเกิ้ลเกตเวย์” จนถอยไปอ้างว่าแค่สั่งให้ศึกษา
ที่เป็นแง่บวก ก็คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ยังไม่แน่ว่าได้ผลแต่ก็สร้างความหวังให้ผู้คน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่อยากฟัง “ข่าวดี” ขณะที่ด้านคดีความก็เน้นไล่บี้เครือข่ายชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ซึ่งแม้ด้านหนึ่ง “ได้พวก” คือพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. แต่ด้านตรงข้ามก็ทำให้ คสช. “ติดหล่ม” จนถอยออกจากความขัดแย้งได้ยากมากขึ้นทุกวัน
6 เดือนจากนี้ไป 3 เดือนแรกคงไม่เท่าไหร่เพราะใกล้สิ้นปี มีงานมงคลมีเทศกาลท่องเที่ยว ร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เข้าไคลแมกซ์ประเด็นการเมืองคงมีบ้างประปราย เริ่มตั้งแต่รายชื่อสภาขับเคลื่อน ซึ่งจะถูกจับตาว่าใครได้โควต้าต่างตอบแทน ใครอกหักใครหลังหัก ฯลฯ
3 เดือนหลังสิครับ กลับจากปีใหม่สถานการณ์จะงวดเข้า กระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลหรือยังซบเซา รัฐธรรมนูญจะเอาอย่างไร กระแสสังคมจะเร่งเร้าตั้งแต่มกรา กุมภา
ประเด็นสำคัญคือร่างรัฐธรรมนูญนี่ละที่มองไม่เห็นว่าจะมีใครร่างให้เป็นที่พอใจของ คสช.และของทุกฝ่าย ไม่ว่าโคตรเซียนมาจากไหน เว้นแต่จะกระชากลากถูกันไปให้มีเลือกตั้ง แล้วหลังเลือกตั้งก็ไม่สงบอีก
3 เดือนหลังปีใหม่จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ แน่ละ ไม่มีใครล้มรัฐบาลได้ในเมื่อกองทัพเป็นเอกภาพ แต่ถ้าเมื่อไหร่ประชาชนรู้สึกว่าท่านแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ หาทางออกให้ประเทศก็ไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่กันต่อไปในสภาพเช่นไร

                                                                                                                ใบตองแห้ง
source :- FB Atukkit sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/20290

 
Top