สัมภาษณ์: ‘เนติวิทย์’ ว่าที่นิสิตหัวก้าวหน้า ในมหาวิทยาลัยอนุรักษ์นิยม
Posted: 09 Jun 2016 01:47 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ค้นหาคำตอบทุกข้อสงสัย ทำไม ‘เนติวิทย์’ นักเรียนหัวก้าวหน้าเลือกรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยมีแผนก่อตั้งองค์กรในรั้วมหาวิทยาลัย สารภาพจงใจล่อเป้าโปรโมตหนังสือ
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเรียนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจของตน ว่าไม่ได้เข้าศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างที่หวังเอาไว้ จนทำให้เกิดการเยาะเย้ยถากถางจากกลุ่มคนที่ไม่ชอบเนติวิทย์อย่างมากบนสังคมออนไลน์ แต่ในเวลาต่อมาเนติวิทย์ได้ออกมาบอกว่าตนแอดมิชชันติดภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเนติวิทย์ถึงเลือกเข้าจุฬาฯ ที่มีภาพลักษณ์อนุรักษ์นิยม แทนธรรมศาสตร์ที่มีภาพลักษณ์เสรีนิยมมากกว่า เขาตั้งใจจะทำอะไร และการกระทำของเขาคือการจงใจล่อเป้าหรือไม่ บทสนทนาต่อไปนี้จะตอบในคำถามที่หลายคนสงสัย
ดีใจไหมที่ติดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เนติวิทย์: ดีใจเหมือนกันครับที่ได้ติดมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง แต่ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมาก รู้เรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว เพราะว่าคะแนนแกทหรือคะแนนอะไรอย่างอื่นมันออกมานานแล้ว ก็เลยรู้มาสองสามเดือนแล้วด้วยซ้ำไปว่ามีโอกาสติดประมาน 70-80 เปอร์เซ็นต์
คนบางส่วนเขาสงสัยว่าทำไมถึงไม่ได้เข้าคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คุณเลือกอันดับอย่างไร
ผมเลือกตามความสนใจของผม ผมอยากจะเข้าเรียนเพื่อไปหาสังคมใหม่ๆ ก็เลยเลือกอันดับแรกเป็น รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ภาคปกครอง จากนั้นรองมาเป็นรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ภาคสังคมวิทยา แล้วอันดับสามเป็นคณะจิตวิทยา จุฬาฯ พออันดับสี่ก็เป็นรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ยื่นอันดับที่สี่เพราะไม่ได้อยากจะเรียนธรรมศาสตร์ คือผมไปสอบรับตรงมา ถ้าเห็นที่ผมโพสต์ ผมเขียนว่าผมสอบไม่ติดและบอกว่าไม่มีโอกาสเข้าธรรมศาสตร์ ไอ้สอบไม่ติดก็คือความจริงเพราะผมสอบไม่ติดรับตรงธรรมศาสตร์ ซึ่งเรื่องนี้ประกาศผลมานานแล้ว แล้วที่บอกว่าไม่มีโอกาส ก็ผมเลือกธรรมศาสตร์ไว้อันดับสี่ ผมเลยไม่มีโอกาสได้เข้า
ทำไมถึงเลือกรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับหนึ่ง แทนที่จะเป็นรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
มันมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งคือผมไม่ค่อยชอบบรรยากาศที่รังสิตเท่าไร มันร้อนมาก แล้วผมคิดว่ามันเคลื่อนไหวยากเพราะมันไกล อีกอย่างคือผมรู้จักนักกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์เยอะพอควร ผมเลยเบื่อแล้วบรรยากาศแบบนี้ เข้าไปมันคงไม่ได้สนุกเต็มที่สำหรับเรา ผมอยากเห็นคนที่มีความคิดหลากหลาย ความคิดอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมอะไรก็ได้ อยากเห็นหลายๆ แนวคิดบ้าง เพราะเราเห็นแนวคิดเสรีนิยมเยอะแล้ว ก็อยากลองเห็นความคิดของจุฬาฯ บ้างว่าเป็นยังไง
ได้ยินว่าคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ไม่ได้เป็นคณะอนุรักษ์นิยมอะไรซะขนาดนั้น ก็อยากจะเข้าไปแสวงหาความรู้ คือเมืองไทยเรายังติดชื่อเสียงมหาวิทยาลัยอยู่ มันก็เป็นโอกาสเราเหมือนกัน ที่ผมเลือกเข้าที่นี่เพราะว่าการทำกิจกรรมมันน่าจะง่ายขึ้น ชื่อจุฬาฯ มันอาจดึงดูดคนได้มากขึ้น ผมเลยลองดูแล้วกัน แต่ไม่ได้หมายถึงผมยึดติดสถาบัน ผมไม่ต้องการอยู่ประเทศไทย แต่ผมไม่มีตัวเลือกตอนนี้ แล้วอีกอย่างห้องสมุด [ห้องสมุดสันติประชาธรรม] ของผมนี้ ผมทำงานอยู่ที่นี่เป็นบรรณารักษ์ ถ้าผมไปอยู่รังสิต ผมอาจจะไม่ได้ทำงานดูแลที่นี่ต่อ ก็เลยเลือกจุฬาฯ มันอยู่ใกล้ แล้วก็เคลื่อนไหวง่ายขึ้นเพราะเรามีสถานที่เอง ฟังเสวนาก็ไปไม่ลำบาก เพราะว่าเสวนาส่วนใหญ่ก็จัดที่ท่าพระจันทร์ หรือจุฬาฯ ฉะนั้นถ้าอยู่รังสิตก็ไกลไป
“อีกอย่างคือผมรู้จักนักกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์เยอะพอควร ผมเลยเบื่อแล้วบรรยากาศแบบนี้ เข้าไปมันคงไม่ได้สนุกเต็มที่สำหรับเรา ผมอยากเห็นคนที่มีความคิดหลากหลาย ความคิดอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมอะไรก็ได้”
ทำไมตอนรับตรงถึงไม่ติด รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ความสามารถไม่พอมั้ง และอีกอย่างคือตามความรู้สึกก็ไม่อยากติดด้วย พอเห็นข้อสอบแล้วรู้สึกไม่อยากเรียน ตอนแรกเราเข้าใจว่ารัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ข้อสอบข้อเขียนต้องมันหน่อย อย่างปีที่แล้วได้ยินว่าข้อสอบให้วิพากษ์วิจารณ์นโยบาย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เออแบบนี้สิมันถึงสนุก แต่นี่ข้อเขียนให้แยกแยะระหว่าง ส.ส. กับ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ต่างกันยังไง ผมสิ้นหวังเลย แล้วข้อสอบกาก็ไม่ค่อยดี ถามคำถามแบบวันดินโลกคือวันที่เท่าไร คือไม่สนุกเลย แล้วก็ร้อน ไปสอบรังสิต โอ้โห ร้อนสุดๆ ไม่ไหว
คิดว่าสังคมในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะเป็นอย่างไร
ผมมีเพื่อนคนหนึ่งอยู่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อก่อนทำงานกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทด้วยกัน แล้วเขาเข้ามหาวิยาลัยเร็วกว่าผมปีหนึ่งเพราะผมไปแลกเปลี่ยนที่อินเดีย เขาบอกสังคมของรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รับน้องก็ไม่ได้มีอะไรรุนแรง ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นหรือน่าตื่นกลัวเหมือนบางคณะในมหาวิทยาลัย แล้วบางทีธรรมศาสตร์ เขาบอกว่าอาจจะรุนแรงกว่าด้วยซ้ำไป แต่ผมก็ไม่รู้นะ ไม่ได้มีทัศนะเชิงกลัวหรืออะไรอย่างนี้หรอกครับ เห็นอาจารย์หลายคนท่าทางหัวก้าวหน้าตั้งเยอะแยะ เช่น อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หรือว่าอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ มีอาจารย์สรวิศ ชัยนาม หรืออาจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุลก็เหมือนกัน คือถึงจะไม่เชิงซ้ายอะไร แต่เนื่องจากผมทำงานอยู่ที่นี่ก็เป็นพวกทางเลือกมีเยอะ ก็เห็นหน้าค่าตา หรือว่าอ่านหนังสือของอาจารย์ที่อยู่จุฬาฯ หลายคน ที่อาจจะไม่ได้เคลื่อนไหวอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็คุยได้ อย่างอาจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล หรือวีระ สมบูรณ์ อะไรอย่างนี้ ก็ไม่ได้ดูแย่อะไร
แล้วสังคมจุฬาฯ ในภาพรวม คิดว่าจะเป็นอย่างไร
ผมไม่เคยเห็น ผมบอกเลยว่าผมเป็นเด็กบ้านนอกไม่ได้เป็นเด็กในเมือง ไม่เหมือนพวกเตรียมอุดม โรงเรียนเก่าผมอยู่เอแบคบางนา ไกลมาก ผมเลยไม่รู้หรอกว่าจริงๆ มันเป็นยังไง ก็ต้องลองดูก่อน บางคนเขาก็นึกภาพว่าเป็นแบบสมัยจิตร ภูมิศักดิ์ โดนโยนบก คิดว่าจะเป็นอนุรักษ์นิยมหนักมาก มีอาจารย์บางคนก็บอกว่าเด็กจุฬาฯ ไม่สนใจเนื้อหาหรอกสนแต่เอาเกรด ตอบเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาก็ได้ตามใจครูอาจารย์ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะผมก็เป็นคนมองโลกในแง่ดีด้วย ยังไม่อยากประเมินค่าตอนนี้ ยังไม่ได้เข้าเรียนเลย
พอหลังจากคุณบอกว่าติดจุฬาฯ ก็มีคนบางส่วนบอกว่าจุฬาฯ มีโยนบก เอาถึงตาย หรืออาจสอบสัมภาษณ์ไม่ติด คุณเชื่อที่เขาบอกหรือไม่
ไม่ค่อยเชื่อส่วนใหญ่ แบบพวกความเห็นเชิงถูกฆ่า ถูกโยนบก ผมว่ามันเกินไป คิดว่าโยนบกคงไม่มีแล้ว แต่อาจจะมีอย่างอื่นมากกว่า ยุคนั้นมันคงปิดกั้นทางความคิดอย่างมาก แต่ปัจจุบันสังคมมันเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เดี๋ยวนี้โยนบกคงไม่โยน ทำตัวเป็นอารยะผู้ดีหน่อยก็อาจจะหาทางกลั่นแกล้งด้วยวิธีอื่น อาจจะถูกแบนจากเพื่อนหรือเปล่า หรือว่าครูอาจารย์บางคนอาจจะอคติในเรื่องการให้คะแนน ส่วนไอ้สอบสัมภาษณ์มันต้องติดอยู่แล้ว ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ เพราะเขาบอกว่าถ้าไม่เป็นบ้าก็คงติด ก็ไม่มีปัญหาหรอก คือบางทีคนไม่รู้ก็คิดมากไปเอง
หลังจากที่ผลแอดมิชชันออกมา คุณบอกว่าไม่ติดรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ก่อน แล้วค่อยบอกทีหลังว่าติดรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งก็มีคนเขาเดากันว่าคุณจงใจล่อเป้า ประเด็นนี้คุณว่าอย่างไร
ก็จริงนะ ต้องสารภาพเลยว่าผมวางแผนนี้มาสองเดือนแล้ว อยากดูเหมือนกันว่าแนวหน้าจะเอาไปลงหรือเปล่า เพราะว่าเขาชอบด่าผม ประจวบกับตอนนี้ผมกำลังขายหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดด้วย ผมเลยถือโอกาส แต่ว่าก่อนรู้ผลแอดมิชชันผมก็ยังกลัวเหมือนกันนะว่า ถ้าไม่ติดรัฐศาสตร์จุฬาฯ จะทำยังไง แต่ก็ทำคลิปวิดีโอไว้แล้ว ผมทำคลิปไว้ก่อนรู้ผลซะอีก คือเตรียมตัวหมดเลย วางแผนมาหมดเลย แต่ผมก็ไม่คิดว่ามัน Viral มากขนาดนี้ ตอนแรกกะทำให้ตกใจเล่นๆ มากกว่า แต่มีคนสนใจเยอะก็ขอบคุณมาก
“ต้องสารภาพเลยว่าผมวางแผนนี้มาสองเดือนแล้ว อยากดูเหมือนกันว่าแนวหน้าจะเอาไปลงหรือเปล่า เพราะว่าเขาชอบด่าผม ประจวบกับตอนนี้ผมกำลังขายหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดด้วย ผมเลยถือโอกาส”
บางแฟนเพจมีการล้อเลียนคุณ เพราะคิดว่าสอบไม่ติด คุณมีความเห็นอย่างไร
มันก็น่าเวทนา สำหรับคนไทยยังยึดติดกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง อย่างเพจตบดิ้นก็เอาไปว่าว่า ถ้าไม่ติดธรรมศาสตร์ก็ไปเรียนรามคำแหง แต่เขาพูดในเชิงรามคำแหงไม่ค่อยดี เขาพูดในเชิงดูถูกเหยียดหยามซะมากกว่า เพราะคนที่มาคอมเมนต์ก็เห็นชัดเจน มันมีแบบนี้ลึกๆ ในสังคม มันเป็นเรื่องน่าเสียใจนะที่คนยังมองแบบนี้อยู่ ผมว่าติดจุฬาฯ ก็ไม่เห็นจะอะไร ไม่ได้ยากอะไร ไม่ได้วิเศษอะไรเลย ตอนแรกผมคิดว่ามันจะยากมากกับการเข้ามหาวิทยาลัย แต่จริงๆ มันไม่ได้ยากเลย ที่ผมเข้าได้ส่วนหนึ่งก็มาจากผมไปต่างประเทศเป็นเวลาเจ็ดเดือนที่อินเดีย เพราะว่าเข้ารัฐศาสตร์จุฬาต้องใช้คะแนนภาษาอังกฤษเยอะ จริงๆ ผมเป็นคนไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่ว่าผมได้มีโอกาสไปอินเดีย คือแค่มีโอกาสเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นบางคนเขาแค่ไม่มีโอกาส มันจึงไม่ได้แสดงว่าเราพิเศษอะไรเลย และเราก็ไม่ได้มองว่าสถาบันจุฬาฯ ดีวิเศษอะไรด้วย ถ้ามีโอกาสจริงๆ ผมยังอยากจะไปเมืองนอกซะมากกว่าเรียนจุฬาฯ อีก แต่ที่ไม่ไปเพราะไม่มีเงินและก็ยังมีความรู้ความสามารถไม่พอที่จะไปชิงทุนอะไรกับเขา แล้วเรารู้ตัวช้าด้วย คือถ้าเรารู้ตัวเร็วกว่านี้เราอาจจะได้ไปก็ได้ มันมีทุนสำหรับเด็กมัธยม แต่เราไม่รู้ รู้ตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว ก็อาจจะต้องรอชิงทุนเอาในมหาวิทยาลัย หรือไม่ถ้าโชคร้ายก็อาจจะได้เป็นผู้ลี้ภัยก็ไม่แน่ (หัวเราะ) ตอนแรกคิดเลยนะว่าถ้าสอบไม่ติดแอดมิชชันก็จะยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย มันอาจจะมีบางประเทศรับก็ได้ แต่เมื่อติดก็เป็นชะตากรรมที่เราต้องเผชิญ
คิดอย่างไรกับการที่ต้องเรียนจุฬาฯ ที่ก่อตั้งโดยเจ้าและมีภาพลักษณ์เป็นอนุรักษ์นิยม
บางคนพอบอกว่าถูกตั้งโดยเจ้าก็คิดไปว่าต้องอคติ ไม่ดี คือมหาวิยาลัยนี้มันก็อายุจะร้อยปีอยู่แล้ว มันก่อตั้งโดยเจ้าตอนนั้นอาจจะไว้ฝึกให้ไปทำงานรับใช้ แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไป ธรรมศาสตร์ก็เหมือนกันถูกตั้งโดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แต่ก็ผลิตบุคลากรที่เลวร้ายไปหลายคน เช่น สมคิด เลิศไพฑูรย์ ขณะที่จุฬาฯ ก็ผลิตคนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นมาและคนอื่นๆ อีกมากมาย บางคนก็บอกว่าไปเรียนทำไมมหาวิทยาลัยศักดินา ผมว่ามันเป็นตรรกะที่ไม่ถูก สังคมมันเปลี่ยนไป ยุคสมัยมันเปลี่ยน มันก็ไม่เสียหาย แล้วเรื่องอนุรักษ์นิยมคนอาจจะติดภาพเรื่องโยนบกบ้าง หรือว่าเรื่องพวกอาจารย์จุฬาฯ หลายคนไปรับใช้เผด็จการบ้าง มันก็มีส่วนจริง แต่ขณะเดียวกันจุฬาฯ ก็มีภาพก้าวหน้าเหมือนกัน แต่บางทีคนมันไม่มองภาพนั้น แต่ผมเห็นภาพก้าวหน้าอยู่ เช่น มี CCP (Chulalongkorn Community for the People) มีกลุ่มกิจกรรมเคลื่อนไหวในสมัยเดือนตุลา มีนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถูกฆ่าตายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มันมีหลายภาพ มันอยู่ที่เราเลือกจะมองภาพไหน เราจะเลือกรับฟังเรื่องเล่าเรื่องไหน
“เราก็ไม่ได้มองว่าสถาบันจุฬาฯ ดีวิเศษอะไรด้วย ถ้ามีโอกาสจริงๆ ผมยังอยากจะไปเมืองนอกซะมากกว่าเรียนจุฬาฯ อีก แต่ที่ไม่ไปเพราะไม่มีเงินและก็ยังมีความรู้ความสามารถไม่พอที่จะไปชิงทุนอะไรกับเขา”
หลังจากเข้าจุฬาฯ แล้ว มีความคิดจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป
ผมกำลังจะก่อตั้งองค์กรขึ้นมา แต่ไม่ใช้ชื่อจุฬาฯ แบบ CCP นะ ผมจะตั้งองค์กรแล้วต้องร่วมมือกับทุกมหาวิทยาลัย ก้าวพ้นความเป็นมหาวิทยาลัยที่ยึดติดกับชื่อพวกนี้ จะตั้งองค์กรร่วมกันเพื่อรณรงค์ต่อต้านระบอบเผด็จการ หาวิธีที่ชาญฉลาด ต้องหาวิธีที่ต้องเล่นกับสื่อ และให้การศึกษากับนักเรียน นักศึกษา ผู้คน โดยที่เราเองก็ได้ประโยชน์ด้วย ไม่ใช่เสียประโยชน์ เดี๋ยวนี้ก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมที่ต่อสู้กันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ผมว่ามันมีปัญหาหลายจุด เช่น เวลาเราเรียกร้องก็มักจะเรียกร้องเชิงต่อต้านอย่างเดียว จนภาพลักษณ์ของเราบางทีมันไม่ดี ในสายตาสื่อมวลชนและในสายตาคนทั่วไป แล้วบางทีก็ทำวิธีการเดิมๆ เช่น เขียนจดหมายแถลงการณ์ หรือเสวนาอยู่อย่างนั้น ซึ่งผมเห็นแบบนี้มา 5 ปีแล้ว มันไม่มีอะไรใหม่ มันดูไม่มีฐานแล้ว
เราจะล้มเผด็จการได้ยังไงในระยะยาว นี่คือโจทย์ผม ผมต้องคิดและต้องหาพวกเพื่อมาร่วมกันทำให้เกิด ผมคิดว่ากลุ่มที่จะทำต้องพยายามมองให้ไกลกว่าเพียงไม่กี่ปี ต้องมองไปถึงห้าปีสิบปีด้วย ก็เลยคิดว่ากลุ่มที่จะทำนี่ จะต้องสร้างความรู้ให้คนในระยะยาว เราอาจจะต้องเข้าหาผู้คนให้มากขึ้น อาจไม่ใช่คนที่อยู่จุฬาฯ ก็ได้ แต่เนื่องจากบางทีภาพลักษณ์ของการเป็นนิสิตจุฬาฯ มันอาจจะดีกว่าการเป็นนักเรียนโรงเรียนบ้านนอกคนหนึ่ง มันอาจจะดึงมวลชนให้เข้าร่วมได้ ให้การศึกษาและแลกเปลี่ยนกับเขาได้มากขึ้น
“ผมกำลังจะก่อตั้งองค์กรขึ้นมา แต่ไม่ใช้ชื่อจุฬาฯ แบบ CCP นะ ผมจะตั้งองค์กรแล้วต้องร่วมมือกับทุกมหาวิทยาลัย ก้าวพ้นความเป็นมหาวิทยาลัยที่ยึดติดกับชื่อพวกนี้ จะตั้งองค์กรร่วมกันเพื่อรณรงค์ต่อต้านระบอบเผด็จการ”
ผมก็เลยจะตั้งสถาบันขึ้นมา โดยใช้ฐานที่นี่ [สวนเงินมีมา] ผมคิดว่าอาจจะตั้งชื่อกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ ชื่อง่ายมาก ปะทะกับความเป็นคนไทยรุ่นเก่าเลย เราต้องการให้เกิดเป็นวาทกรรม การเป็นคนไทยรุ่นใหม่เป็นยังไง เป็นคนไทยรุ่นเก่าเป็นยังไง ชื่อง่ายๆ ทุกคนเข้าใจ ไม่ซับซ้อน และยังมีความเป็นชาตินิยมอยู่นิดๆ ด้วย ที่ต้องเป็นชาตินิยมเพราะสมมติเราจะไปตามโรงเรียน เราไปบอกกลุ่มคนไม่มีชาติเขาคงไม่ให้เข้าแน่ ก็เลยต้องมีหน่อย เป็นคนไทยรุ่นใหม่ แต่คนไทยรุ่นใหม่ก็ต้องบอกนะว่าคืออะไร ต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์ ต้องเปิดกว้างทางความคิด ต้องก้าวพ้น ความยึดติดว่าฉันเป็นคนไทย คนไทยรุ่นเก่าก็คือพวกที่ไม่ยอมรับฟัง หรือพวกที่เป็นเผด็จการ ส่วนจะอายุเท่าไรไม่สำคัญ เป็นได้หมดทุกคน
ที่บอกว่าจะมองในระยะไกล สร้างความรู้ให้คนในระยะยาว จะทำอย่างไร
ผมว่ามันยากลำบากมากในการมองเพราะมันเป็นช่วงที่สถานการณ์สังคมมันเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ มีอำนาจนอกระบบและอำนาจในระบบต่างๆ ที่เล่นไม่ตามกติกาเยอะแยะไปหมด บางทีมันก็คาดเดายากจริงๆ แต่ถ้าเรามีความเชื่อและก็มีความคาดหวังว่าเราต้องการให้สังคมมันเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น ไปในทางประชาธิปไตย สิ่งที่ทำได้ก็มีแต่ต้องประเมินสถานการณ์ แล้วก็ให้การศึกษา เผยแพร่แนวคิดเราให้คนได้เข้าใจและยอมรับ ยอมแลกเปลี่ยน แม้จะไม่เห็นด้วยก็ยอมแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น ไม่งั้นสังคมเราก็ไม่มีอนาคต แล้วเผด็จการนี่มันมาหลายครั้งมากจริงๆ จนเป็นเรื่องที่แย่ที่สุด เราต้องหาวิธี เราต้องทำยังไงที่ไม่ให้เผด็จการได้กลับมาอีก ต้องมีกระบวนการต้องมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมถ้าจะกำจัดเผด็จการ
ต้องยกเลิกการเกณฑ์ทหารก่อน เพราะมันดึงคนให้ไปเป็นพวก ให้กลัว อย่างเพื่อนผมทุกคนกลัวหมด ที่เรียน รด. (รักษาดินแดน) คุณเรียนเพราะคุณกลัว แม้เราไม่ชอบ แต่เราก็ขัดขืนมันไม่ได้ ทหารมันเข้ามาแทรกซึมทุกหนทุกแห่ง แล้วเมื่อไรประชาชนจะยึดกองทัพคืนมาได้สักที แล้วเมื่อไรที่เราจะมีสิทธิมีเสียงว่าจะเอาไหมไอ้ระบบเกณฑ์ทหาร ผมเลยคิดว่าถ้าเราแก้ไขตรงนี้ได้ กองทัพจะอ่อนเปลี้ยเพลียกำลังมาก โดยเฉพาะถ้าเราทำให้คนต่อต้านการเกณฑ์ทหารได้มากขึ้นเท่าไร เขาก็จะไม่กลัวทหารมากขึ้นเท่านั้น แล้วกองทัพก็จะกลายเป็นมนุษย์สามัญเท่าเรา ตอนนี้มันยังยกตัวเป็นเทวดาอยู่ มันยังมีคนเห็นว่ากองทัพมีประโยชน์ ต้องลดอำนาจกองทัพ
ในจุฬาฯ ก็มีกลุ่มCCP ซึ่งเป็นกลุ่มทางการเมืองอยู่แล้ว ทำไมถึงคิดจะตั้งกลุ่มใหม่ ไม่เข้าร่วมกับกลุ่มเดิมที่มีอยู่
ผมค่อนข้างเห็นว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา CCP ไม่ได้มีกิจกรรมที่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าไร เพราะหลายคนออกไปแล้ว มันไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่มีช่วงหนึ่งผมเห็นว่า CCP ค่อนข้างจัดงานเยอะอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีอะไรแล้ว แล้วมันไม่มีสไตล์อะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในกลุ่ม เดี๋ยวนี้มีแต่ในเฟซบุ๊กที่ยังมีชีวิตอยู่ และอาจมีโปรยใบปลิวบ้าง ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ มันไม่มีอะไรที่จะดึงคนได้มากขึ้นเลย และผมก็ไม่ได้ชอบแนวทางของ CCP เกี่ยวกับ เหมาอิสต์ (Maoist) ก็เลยคิดว่าเรามาทำเองดีกว่า อยากทำอะไรใหม่ๆ เผื่อมันจะได้คนใหม่ๆ เพราะถ้าเราไปทำองค์กรเก่าๆ มันก็จะมีระบบ มีวิธี มีจารีต มันจะต้องมีกันทุกองค์กร ขนาดกลุ่มที่ผมก่อตั้ง กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทก็มีจารีตขึ้นมา มันช่วยไม่ได้ แต่ถ้ากลุ่มใหม่ ทุกคนมาช่วยกันคิดใหม่หมดเลย สร้างรากฐานใหม่ สร้างในสิ่งที่ตัวเองอยากให้ทำ มันเป็นไปได้ มันมีโอกาสเติบโตมากกว่าที่ไปอยู่ในระบบเก่า
“ต้องยกเลิกการเกณฑ์ทหารก่อน เพราะมันดึงคนให้ไปเป็นพวก ให้กลัว อย่างเพื่อนผมทุกคนกลัวหมด ที่เรียน รด. (รักษาดินแดน) คุณเรียนเพราะคุณกลัว แม้เราไม่ชอบ แต่เราก็ขัดขืนมันไม่ได้ ทหารมันเข้ามาแทรกซึมทุกหนทุกแห่ง แล้วเมื่อไรประชาชนจะยึดกองทัพคืนมาได้สักที แล้วเมื่อไรที่เราจะมีสิทธิมีเสียงว่าจะเอาไหมไอ้ระบบเกณฑ์ทหาร ผมเลยคิดว่าถ้าเราแก้ไขตรงนี้ได้ กองทัพจะอ่อนเปลี้ยเพลียกำลังมาก”
นอกเหนือจากองค์กรที่จะจัดตั้ง มีอะไรอีกไหมที่วางแผนจะทำในจุฬาฯ
ไม่รู้เหมือนกันครับ ไม่ได้คิดถึงตัวมหาวิทยาลัยเท่าไร คือตอนนี้ผมยังไม่รู้ปัญหาด้วยแหละ ไม่เหมือนกับเราอยู่โรงเรียน เราอยู่มาตั้งหกปีเราก็รู้หมด แต่ตอนนี้ผมไม่รู้จะแก้อะไรให้จุฬาฯ หรือว่าจุฬาฯ จะให้อะไรผม ผมยังไม่รู้
สุดท้ายนี้คุณจะเข้ารับน้องไหมและอยากเรียนกับอาจารย์ท่านไหนในรัฐศาสตร์จุฬาฯ เป็นพิเศษ
เข้ารับน้อง คงเข้าแหละครับ เข้าไปดู เข้าไปหาเพื่อน หาพวก ไม่ได้ต่อต้านอะไร แต่เข้าทุกวันหรือเปล่าอันนั้นไม่รู้ แบบถ้ามันแย่หรือเรารับไม่ได้จริงๆ เราก็ไม่เข้า เข้าวันเดียวจบ ไม่ได้ต้องการสร้างศัตรูกับใครครับตอนนี้
ส่วนอาจารย์ผมไม่รู้จักอาจารย์ทุกคน ที่รู้ตอนนี้ ผมอยากเรียนกับอาจารย์ไชยยันต์ ไชยพร เพราะว่าผมสนใจปรัชญาการเมือง แล้วอยากรู้วิธีคิดแกด้วย เพราะเราไม่ได้เชื่อมั่นร้อยเปอเซนต์ว่าสิ่งที่เรารู้ตอนนี้มันถูก และเราก็ความรู้ไม่ค่อยมีเยอะเท่าไร จึงอยากรู้ อยากแลกเปลี่ยน อยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ อันดับสอง อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่สนใจอาจารย์พิชญ์เพราะได้อ่านหนังสือแกบ้าง แล้วแกเขียนหนังสือน่าสนใจ แกมีวิธีคิดหรือไอเดียที่ค่อนข้างใหม่ และอีกคนหนึ่งก็อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข เขาทำเรื่องทหาร แล้วบังเอิญผมจะต่อต้านทหารก็ต้องรู้เรื่องทหารบ้าง
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น