0
2016-06-07_192628
FTA Watch ขอช่วยกันจับตาประชุมพิจารณาเข้าร่วม TPP 6 มิ.ย. นี้
Posted: 05 Jun 2016 02:49 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)   
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ขอช่วยกันจับตาข้อมูลสำคัญที่อาจไม่มีอยู่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ TPP ในวันที่ 6 มิ.ย. 2559 นี้
 
5 มิ.ย. 2559 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่จะพิจารณาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ในวันที่ 6 มิ.ย. 2559 นี้ อาจจะมีสิ่งที่ขาดหายไปดังนี้
 
1. จะมีการอ้างอิงตัวเลขงานวิจัยที่กระทรวงพาณิชย์จัดจ้างสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (ในเครือเจริญโภคภัณฑ์) ร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนาที่ว่า ไทยควรจะเข้าร่วมความตกลง TPP เพราะจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.77 - 0.93% ถ้าไม่เข้าร่วมจะทำให้ GDP ลดลง 0.9% และอ้างว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบคือ อุตสาหกรรมรถยนต์โดยจะสูญเสียการแข่งขันให้แก่เวียดนามและมาเลเซีย แต่จะไม่มีการรายงานว่า จนป่านนี้งานวิจัยนี้ยังไม่สามารถส่งมอบได้ และไม่สามารถเปิดให้แวดวงวิชาการร่วมตรวจสอบความถูกต้องของงานได้เลย
 
2. จะมีการอ้างอิงตัวเลขของธนาคารโลกที่ว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้า TPP แต่จะไม่มีการชี้ข้อจำกัดของงานศึกษาเหล่านั้น
 
3. จะมีการยกเหตุผลสารพัดว่าประเทศไทยจะเสียโอกาสหากไม่เข้าร่วม TPP แต่จะไม่ลงรายละเอียดว่า ประเทศไทยจะเสียอะไรหากเข้าร่วมความตกลงนี้
 
4. กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าของวาระนี้ จะเสนอว่า การที่ไทยประกาศเข้าร่วม TPP จะเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นทำให้เกิดผลในเชิงจิตวิทยา ทำให้นักลงทุนต่างชาติและผู้ประกอบไทยรับทราบทิศทางนโยบายของประเทศที่ชัดเจน แต่จะไม่มีการนำเสนอว่า การกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวต้องแลกกับอะไรบ้าง
 
5. จะไม่มีการนำข้อห่วงกังวลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้สรุปประเด็นผลกระทบจาก TPP ต่อการสาธารณสุขและระบบสุขภาพ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ทั้งนี้ ตามข้อมูล ณ วันที่ 19 เม.ย.59 ระบุว่า
 
บทที่ 18 ทรัพย์สินทางปัญญา
 
- ด้านยา วัคซีน และชีววัตถุ หากประเทศไทยเข้า TPP ซึ่งจำต้องยอมรับการผูดขาดตลาดยาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1-10 ปี ซึ่ง รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 2,835 – 288,266 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยที่ดูแลประชากรถึง 48 ล้านคนและระบบสาธารณสุขของประเทศ
 
- ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นแลการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า ประเทศสมาชิก TPP จะเข้าถึงข้อมูลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการการขอจดสิทธิบัตรของสิ่งประดิษฐ์, ประเทศไทยจะสูญเสียความเป็นเจ้าของสมุนไพรในระยะยาวในกรณีที่ถูกต่างชาติผูกขาดไปใช้ประโยชน์ และยังมีข้อน่าห่วงกังวลเรื่องการขยายการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตไปยังพืช และการใช้ใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว
 
บทที่ 8 อุปสรรคด้านเทคนิคต่อการค้า
 
- กระทรวงสาธารณสุขกังวลว่า การกำกับนโยบายดังกล่าว จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทยมีพื้นที่ในการออกกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ และนโยบายเพื่อควบคุมกำกับสังคมเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากการคุ้มครองผู้บริโภค การบริโภค และสังคมโดยส่วนรวมไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการประกอบการของภาคเอกชนได้
 
บทที่ 9 การลงทุน
 
- บทว่าด้วยการลงทุนใน TPP ปกป้องนักลงทุนต่างชาติในมาตรฐานที่สูงกว่านักลงทุนในประเทศ ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่แท้จริงต่อประเทศไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และเมื่อเชื่อมโยงกับบทที่ 8 แล้ว กฎหมายและกฎระเบียบและนโยบายสาธารณสุขซึ่งเป็นไปเพื่อปกป้องชีวิต และสุขภาพ และสังคมโดยส่วนรวมแต่มีผลกระทบต่อการลงทุนและทรัพย์สินของนักลงทุนจะมีโอกาสสูงมากในการถูกฟ้องร้อง (ผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ) ทำให้เกิดความชะงักงันของนโยบายและการถูกเรียกค่าชดเชยความเสียหาย
 
บทที่ 15 การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
 
- ขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์การเภสัชกรรมและผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายไทย ซึ่งจะไม่ได้แต้มต่อใดๆ เหนือผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายประเทศสมาชิก และอาจไม่สามารถสู้ราคาผู้ผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นผลดีต่อภาระงบประมาณในระยะสั้น เนื่องจากรัฐจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ราคาต่ำกว่าจากการแข่งขัน แต่ในระยะยาวผู้ผลิตไทยจะไม่สามารถคงอยู่ในตลาดยาได้ เนื่องจากขีดความสามารถในการแข่งขันจะด้อยกว่าบริษัทข้ามชาติ และการขายให้ภาครัฐยังคงเป็นตลาดหลักของผู้ผลิตไทย ถึงที่สุดประเทศไทยจะต้องพึ่งพาการนำเข้า ขาดความมั่นคงทางระบบยาและสุขภาพ นอกจากนี้ การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิคต้องใช้มาตรฐานระหว่างประเทศ และมาตรฐานระดับประเทศเท่านั้น
 
บทที่ 26 ความโปร่งใสและการต่อต้านคอรัปชั่นและภาคผนวก
 
- จะเพิ่มขั้นตอนภาระงานและงบประมาณ
 
6. จะไม่มีการรายงานผลการประเมินของสภาเกษตรกรแห่งชาติที่ชี้ว่า TPP จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและต่อทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างร้ายแรง ดังนี้
 
- การเข้าร่วม TPP จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรประมาณ 190,000 ครัวเรือน (โดยในจำนวนนี้ประมาณ 95% เป็นเกษตรกรรายย่อย เลี้ยงสุกรประมาณ 1-50 ตัว) และเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ประมาณ 32,000 ครอบครัว (โดยมีผู้เลี้ยงที่มีจำนวนไก่ไม่เกิน 10,000 ตัวคิดเป็น 90.4% ของผู้เลี้ยงไก่ทั้งหมด) การเข้าร่วม TPP จึงจะส่งผลกระทบต่ออาชีพของเกษตรกรรายย่อยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว
 
- ผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง การเข้าร่วม TPP โดยลดภาษีการนำเข้าข้าวโพด เป็นผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และผู้เลี้ยงไก่เนื้อรายใหญ่ไม่กี่บริษัทที่จะได้ประโยชน์จากวัตถุดิบอาหาร สัตว์ราคาถูก แต่จะกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดมากกว่า 410,000 ครัวเรือน และจะส่งผลกระทบต่อ เนื่องไปยังเกษตรกรที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ประเภทอื่นๆด้วยนอกเหนือจากข้าวโพด โดยหากผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยต้องเปลี่ยนอาชีพหรือลดจำนวนการ เลี้ยงสัตว์ลง จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวนกว่า 470,000 ครัวเรือน
 
- ประเทศไทย จะได้รับผลกระทบต่อความตกลงนี้ ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจรวมไปถึงการต้องยอมรับผลิตภัณฑ์ที่มีการปน เปื้อนทางพันธุกรรม อุปสรรคในการติดฉลากสินค้าดัดแปลงพันธุกรรม และอาจรวมไปถึงการถูกกดดันให้ต้องยอมรับการปลูกพืชจีเอ็มโอในอนาคต
 
- จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยรายงานการศึกษาที่สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พบว่า ผลกระทบของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐฯจะทำให้ เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาแพงเพิ่มขึ้น จาก 28,542 ล้านบาท/ปี เป็น 80,721-142,932 หรือเพิ่มขึ้น 52,179-114,390 ล้านบาท/ปี, การสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จาก ทรัพยากรชีวภาพ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10,740 – 48,928 ล้านบาท/ปี, ผลกระทบระยะยาวจากการถูกกีดกันการพัฒนายาสมัยใหม่สมัยใหม่ที่มาจากสมุนไพรซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 59,798 ล้านบาท/ปี รวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 122,717-223,116 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการสูญเสีย อธิปไตยเหนือทรัพยากรซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้
 
7. จะไม่มีรายงานการศึกษาถึงผลกระทบจากการคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) แม้ว่า นี่มีแนวโน้มจะเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะนัยยะต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐ และจะไม่มีการรายงานถึงการที่ TPP บังคับให้ไทยเป็นภาคี ICSID ที่คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่รัฐไทยไม่สามารถนำกลับมาพิจารณาในระบบยุติธรรมของไทยได้ จะส่งผลเสียหายอย่างไร
 
8. กระทรวงพาณิชย์จะรายงาน ต่อ กนศ.ว่า ถึงไม่เข้าประเทศไทยก็ต้องปรับตัวด้านกฎหมายและระเบียบต่างๆเพิ่มเพิ่มขีดการแข่งขัน แต่จะไม่รายงานว่า ตามคำเรียกร้องของชาติมหาอำนาจต่างๆใน TPP บีบบังคับให้ไทยแก้กฎหมาย ประกาศและระเบียบต่างๆ ทั้งที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเจรจา อาทิ พรบ.สิทธิบัตร, พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่, พรบ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ,ประกาศควบคุมการนำเข้าเนื้อจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรควัวบ้า, การเปิดตลาดเนื้อสุกรที่พบสารเร่งเนื้อแดง, การยกเลิกมาตราฉลากภาพควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยกเลิกการแก้ไข ร่างพรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแต่บ่อนทำลายภาคเกษตร ภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบการคุ้มครองผู้บริโภคและการสาธารณสุขไทย
 
9. กระทรวงพาณิชย์จะรายงาน ต่อ กนศ.ว่า ได้ไปจัดรับฟังความคิดเห็นในภูมิภาคต่างๆแล้ว แต่จะไม่ได้รายงานว่า เป็นการจัดรับฟังความคิดเห็นที่ไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนกับผู้เข้าร่วม
 
ทั้งนี้กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขอให้สาธารณชนร่วมกับตรวจสอบการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่พึงกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นเทียมเพื่อหวังผลในเชิงจิตวิทยา, ไม่พึงใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งในการตัดสินใจเรื่องที่มีผลผูกพันกับประชาชนคนไทยชั่วลูกชั่วหลาน แต่ต้องตัดสินใจด้วยเหตุและผลบนข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง สมดุล และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
 

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top