0
รายงาน: ปิดฉาก GrabBike เมื่อสตาร์ทอัพสะดุดเพราะเสื้อวินไม่ปลื้ม กฎหมายไม่เอื้อ (และหนทางไปต่อ)
Posted: 05 Jun 2016 02:53 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
สั่งปิด GrabBike-UberMoto เหตุกลุ่มผลประโยชน์เดิมมองเป็นภัยคุกคาม ด้านนายกสมาคมสตาร์ทอัพแนะรัฐยกเครื่องกฎระเบียบให้สตาร์ทอัพไปต่อได้ ด้านนักวิจัย TDRI มองอุปสรรคเกิดทั้งจากกฎหมายและวิน จยย. เจ้าเก่า แนะเร่งปรับโครงสร้างรับสตาร์ทอัพ เพราะในโลกสตาร์ทอัพ ปลาเร็วกินปลาช้า
(คำบรรยายภาพประกอบนายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ ทหารจากกองพลที่ รักษาพระองค์ ประชุมชี้แจงกับผู้แทนบริษัท GrabBike เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 และในการประชุมเมื่อ17พฤษภาคม ได้ให้ทั้ง GrabBike และ UberMoto ยุติการให้บริการทันที (ที่มากรมการขนส่งทางบก)
หน้าเว็บของ Grab ที่เคยแสดงรายละเอียดการให้บริการ GrabBike ก่อนที่จะยุติการให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร เหลือเพียงรับส่งพัสดุเท่านั้น (ที่มา: Grab.com)
เหตุการณ์วินจักรยานยนต์รับจ้างเจ้าถิ่นยึดกุญแจคนขับจักรยานยนต์ในระบบ GrabBike ก่อนเป็นคลิปในโลกโซเชียล ต่อมาผู้ขับจักรยานยนต์ในระบบ GrabBike ถูกเปรียบเทียบปรับ 4,000 บาท ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างและไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะ แต่งกายไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง (ที่มา: YouTube/ข่าวชาวบ้าน และ MThai)
หลังจาก Grab เปิดตัวแอปพลิเคชัน GrabBike เพื่อใช้เรียกบริการจักรยานยนต์รับจ้างรับส่งผู้โดยสารและพัสดุ โดยเปิดตัวที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากฮานอย โฮจิมินห์ซิตี และจาการ์ตา เมื่อสิงหาคม 2558 ตามมาติดๆ ด้วยค่าย Uber ที่เปิดตัว UberMOTO ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จนกระทั่งเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกและกองพลที่ 1 รอ. ได้เรียกผู้บริหาร GrabBike มาหารือ และมีข้อสรุปเมื่อ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาแจ้งให้ทั้ง GrabBike และ UberMOTO ยุติการให้บริการ
เลี่ยงไม่ได้ที่ภาพบรรดาทหารหาญจากกองพลที่ 1 รอ. นั่งเรียงแผงในการประชุมกับ GrabBike เพื่อยุติการดำเนินการจะชวนให้ขบคิดไปไกลว่า เรื่องนี้กระทบความมั่นคงมากเพียงไหน หรือการเกิดขึ้นของ GrabBike และ UberMOTO กำลังทำให้ค่าเช่าทางเศรษฐกิจหรือส่วนต่างที่ใครบางกลุ่มได้รับกำลังถูกกระทบกระเทือน
อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบก ระบุว่าบริการดังกล่าวผิดพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้แก่ ความผิดตามมาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท มาตรา 5(15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท มาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ขณะที่เมื่อ 2 มิถุนายนนี้ Coconuts Bangkok ระบุว่าทดลองใช้แอปพลิเคชัน GrabBike (Delivery) แล้วยังคงเรียกให้บริการผู้โดยสารได้
ต่อมามีการถกเถียงกันถึงท่าทีของส่วนราชการที่มีต่อธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) อย่าง GrabBike และ UberMoto โดยกล่าวถึงว่า แนวทางที่ส่วนราชการปฏิบัติต่อ GrabBike และ UberMoto จะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะทั้ง 2 บริการดังกล่าว ไม่ใช่ธุรกิจสตาร์ทอัพเดียวที่มีลักษณะการให้บริการอย่างนี้ โดยลักษณะทั่วไปในการให้บริการ GrabBike คือการเปลี่ยนคนกลาง จากคนคุมวินเป็น GrabBike ทำให้ค่าบริการถูกลง เช่นเดียวกับการนำเทคโนโลยีมาให้บริการทางการเงิน (FinTech) หรือธุรกิจค้าขายออนไลน์อื่นๆ การที่ส่วนราชการพุ่งเป้าไปที่ GrabBike โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ จะเป็นการลดความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการหลายอื่นๆ หรือไม่ และโครงสร้างทางกฎหมายไทยไม่เอื้อประโยชน์หรืออาจจะเป็นอุปสรรคกับธุรกิจสตาร์ทอัพหรือไม่

ชี้ปิด GrabBike – UberMoto เพราะมีเจ้าเก่า แนะรัฐต้องไม่ปิดถาวร เพื่อให้สตาร์ทอัพได้แก้ไข

กรณีการสั่งปิด GrabBike และ UberMoto วัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association และผู้ก่อตั้งบริษัท คอมพิวเตอร์โลจี จำกัด กล่าวว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในสังคม ธุรกิจหลายอย่างมีโครงสร้างพื้นฐานมาอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ที่จะกำกับดูแลและควบคุม เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่วัชระก็มองว่ารัฐบาลไม่สมควรจะรีบปิดถาวร แต่ควรเป็นการปิดชั่วคราว เพื่อให้โอกาสธุรกิจได้พิสูจน์ว่าธุรกิจนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
“การปิดทันที ปิดถาวร อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง หากเป็นการแจ้งเตือนหรือการปิดชั่วคราว และเราลองมาเปิดใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด”
ในความเห็นของ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association เขายืนยันว่าการถูกปิดตัวของ GrabBike และ UberMoto ไม่ได้ส่งผลกระทบในภาพรวมของธุรกิจสตาร์ทอัพ เพราะสตาร์ทอัพมีหลากหลายประเภท ไม่ได้มีแค่การขนส่งอย่างเดียว แต่อาจส่งผลต่อผู้ที่จะเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่จำต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วนก่อนทำธุรกิจ ว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายและส่งผลเสียแก่ผู้บริโภคหรือไม่

นักวิจัย TDRI มองกฎหมายยังไม่เอื้อ GrabBike–รวมทั้งระบอบเสื้อวิน จยย.

ด้านฉัตร คำแสง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การร่างและบังคับใช้กฎหมายตามวิถีการมองแบบเศรษฐศาสตร์ การใช้นโยบายต้องมองไปที่ผลลัพท์ที่ผู้บังคับใช้ต้องการให้เกิด ส่วนราชการต้องการให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นและพัฒนาต่อไป แต่โครงสร้างทางกฎหมายของไทยยังไม่เอื้อประโยชน์และไม่คุ้มครองธุรกิจสตาร์ทอัพเท่าที่ควร
ที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลที่มีเพื่อการสนับสนุนสตาร์ทอัพคือ กองทุนสตาร์ทอัพของรัฐบาลกับนโยบายลดภาษีต่างๆ คือสิ่งที่รัฐมอบให้เพื่อช่วยเหลือ
ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นกับ GrabBike นั้น ฉัตรมองว่ากฎหมายยังไม่สนับสนุน GrabBike เท่าที่ควร เนื่องจาก Grab Bike เป็นผู้ให้บริการจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีค่าหัวคิวสูง ค่าหัวคิวที่มีอยู่ในวงการวินจักรยานยนต์รับจ้างเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูง เป็นผลพลอยได้จากรัฐ เนื่องจากการที่รัฐจัดสรรปันส่วนเขตการให้บริการจักรยานยนต์รับจ้างแบ่งเป็นโซนอย่างชัดเจน ทำให้เสื้อวินจักรยานยนต์รับจ้างที่อยู่ในเขตที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากมีราคาสูงตามผู้ใช้บริการ ทำให้เกิดการซื้อขายเสื้อวินมอเตอร์ไซค์เกิดขึ้น ผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากจุดนี้อาจจะเป็นเจ้าของเสื้อวินเดิมที่ต้องการขายเนื่องจากเล็งเห็นผลกำไรหรือผู้มีอิทธิพลที่คุมอำนาจในการจัดการวินมอเตอร์ไซค์ในส่วนนั้นด้วย

มาตรการจากรัฐลักลั่น–ส่งผลในทางปฏิบัติต่อสตาร์ทอัพไม่เท่าเทียม

ฉัตรกล่าวต่อว่า จุดยืนของส่วนราชการที่ใช้ข้ออ้างทางกฎหมายในการจัดการ GrabBike เริ่มมีปัญหา เนื่องจากผู้ให้บริการจักรยานยนต์รับจ้างบางรายก็ไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างถูกกฎหมายหรือมีการบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน การที่มีผู้ให้บริการจักรยานยนต์รับจ้างผิดกฎหมายเช่นนี้ยังมีอยู่ จึงเกิดมีข้อสงสัยเรื่องมาตรฐานการใช้อำนาจของส่วนราชการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ส่วนราชการปฏิบัติต่อธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างไม่เท่าเทียมกัน เช่นธุรกิจขายของออนไลน์ไม่มีส่วนราชการเข้าไปยกเลิกการขาย ต่างจากการสั่งเลิก GrabBike
ฉัตรกล่าวว่า เนื่องมาจากธุรกิจเกี่ยวกับค้าขายออนไลน์ต่างๆ หรือเทคโนโลยีการให้บริการทางการเงินอย่าง FinTech ไม่ได้ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยตรง แต่ธุรกิจคมนาคมอย่าง GrabBike เมื่อเกิดเหตุอาจจะส่งผลต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้โดยตรง แต่เมื่อมองไปยังมาตรฐานการให้บริการของจักรยานยนต์รับจ้างให้บริการอยู่ในปัจจุบัน บางรายก็ไม่ได้มีความปลอดภัยในการใช้งาน มาตรฐานของ GrabBike ยังอาจจะสูงกว่า นอกจากนี้ยังสามารถมองได้ว่า กลุ่มธุรกิจจักรยานยนต์รับจ้างของผู้มีอิทธิพลสามารถกดดันส่วนราชการให้จัดการกับธุรกิจที่เป็นภัยคุกคามได้

เสียงจากผู้บริโภคและผู้ให้บริการสตาร์ทอัพ

อรพรรณ รุ่งโรจนนาลักษณ์ ผู้ใช้บริการ UberMoto และ GrabBike เป็นประจำมานานกว่า 2 ปี กล่าวว่า เลือกใช้บริการ เพราะสะดวก ยิ่งเมื่อต้องเดินทางไปที่ที่ไม่เคยไปหรือเส้นทางที่ไม่มีสายรถเมล์ผ่าน คนขับรถสามารถรับส่งถึงจุดหมายมากกว่าวินจักรยายนต์หรือแท็กซี่ทั่วไปที่มักรับส่งลูกค้าตามจุดที่ตนเองสะดวก
เมื่อถามถึงผลกระทบว่าหาก UberMoto และ GrabBike ถูกยกเลิก อรพรรณ บอกว่า ตัวเลือกในการเดินทางคงลดลงและใช้ชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น เพราะวินจักรยานยนต์มีการโกงราคา ต้องใช้เวลานานในการรอรถเมล์ ค่าบริการแท็กซี่แพงรวมถึงเหมือนถูกบีบให้ต้องใช้บริการรถโดยสารที่มีในระบบขนส่งของรัฐบาลเท่านั้น
หน่อ วรพจน์ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งหารายได้เสริมจากการเป็นผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์บนแอปพลิเคชัน Grab พูดถึงผลกระทบที่ได้รับเมื่อต้องเปลี่ยนจากให้บริการ Grab bike กลายเป็นบริการรับส่งของหรือ GrabBike (Delivery) ว่า รายได้ลดลงทั้งที่รายจ่ายมากขึ้น และยังต้องแบกภาระครอบครัวโดยมีลูกที่ต้องดูแลมากขึ้น จากเดิมเคยมีรายได้จาก GrabBike สูงถึงร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด แต่ตอนนี้เหลือเพียงร้อยละ 5 เพราะ GrabBike ไม่สามารถให้บริการต่อไปได้ แต่ยังคงมีคำแนะนำว่าแบบบอกต่อว่าสามารถเรียกใช้บริการ GrabBike (Delivery) แทนแล้วตกลงกับคนขับเองได้จนเกิดการบอกต่อ
จิดาภา คูณภักดี นักจัดสัมมนาอิสระ กล่าวว่า หลังทำเวิร์คช็อปการทำธุรกิจบน Airbnb พบว่า ความต้องการเปิดและจองที่พักบนเว็บไซต์มีจำนวนมากขึ้น จึงมองว่า Startup สามารถเติบโตได้อีกไกล แม้การทำธุรกิจบน Airbnb จะส่งผลกระทบให้รายได้ของโรงแรมทั่วไปลดลงเพราะมีคู่แข่งมากขึ้นเช่นเดียวกันในหลายประเทศ แต่บางประเทศ อย่าง ญี่ปุ่น มีความพยายามให้ Airbnb ถูกกฎหมาย เช่น ต้องเปิดบริการให้คนเช่าพักอย่างน้อย 7 วัน ทั้งหาวิธีไม่ให้ส่งผลกระทบต่อโรงแรมทั่วไป
สำหรับประเทศไทย จิดาภา มองว่า ยังเป็นไปได้ยากทั้งคนเปิดให้เช่าที่พักต้องแบกแรงกดดันไว้เอง ถึงต้องการเปิดห้องบนคอนโดมิเนียมให้คนเช่าพักบน Airbnb แต่นิติบุคคลไม่ยอมรับ ข้างห้องไม่พอใจก็จะอ้างว่าผิดกฎหมายทำให้พวกเขาทำต่อไปไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงมีที่พักจำนวนมากไม่ถูกกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว เพราะการทำให้ถูกกฎหมายต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงแรม รวมถึง Airbnb ยังเป็นช่องทางในการทำธุรกิจใหม่ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ด้วยระบบการเมืองไทยที่มีผู้มีอิทธิพลได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจเดิมอยู่ก่อนจึงทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

นายกสมาคมสตาร์ทอัพแนะพบกันครึ่งทาง-ยกเครื่องกฎระเบียบ ให้สตาร์ทอัพเดินต่อได้

ต่อกรณีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิสตาร์ทอัพ วัชระมองว่ากฎหมายอาจเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจบางประเภท เพราะ ด้วยรูปแบบของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องการจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ใช้เวลานานให้เกิดขึ้นรวดเร็วและง่ายมากขึ้น มันจึงก่อให้เกิดผลกระทบได้ง่าย ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาในไทย แต่เป็นปัญหาทั่วโลก
“อย่างอเมริกาหรือยุโรปก็ไม่ได้พอใจ Uber เพราะเขามีโครงสร้างธุรกิจของเขามานาน ฉะนั้น เราคงต้องเคารพกฎหมายในระดับหนึ่ง เพราะถ้ากฎหมายมันเป็นแบบนี้แล้วเราเข้าไปเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเลย มันอาจจะส่งผลต่อผู้บริโภคได้ จึงควรจะต้องระวัง”
วัชระกล่าวว่าทางสมาคมสนับสนุนให้รัฐบาล Reregulate หรือจัดระเบียบใหม่ ก็อาจจะต้องใช้เวลาเพื่อให้รัฐบาลปลดล็อกข้อกำหนดต่างๆ แต่ตนมองว่าหากมีการเจอกันครึ่งทาง ประนีประนอมกฎหมาย ก็คงจะดีต่อธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น
“ถ้าเกิดการประนีประนอมกฎหมายได้จะดีมากครับ วิธีการที่ดีที่สุดผมว่าควรเจอคนละครึ่งทาง ผมเชื่อว่าถ้ากฎหมายเข้มงวดมากเกินไป เราจะไม่เกิดอะไรใหม่”
วัชระยังกล่าวถึงกลุ่มสมาคมเก่าที่เสียผลประโยชน์ เช่น สมาคมวินมอเตอร์ไซค์ หรือ สมาคมแท็กซี่ ว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีการทักท้วง เพราะธุรกิจใหม่อย่างสตาร์ทอัพอาจทำให้ธุรกิจเก่าเสียผลประโยชน์
“การมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น มันมีผู้ที่เสียผลประโยชน์และผู้ที่ได้ประโยชน์ ฝั่งที่เสียผลประโยชน์ก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ผมว่าสิ่งที่ถูกต้องรัฐควรมองในมุมกว้าง ก็คือดูว่าผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดจริงๆ คือผู้บริโภค”
สุดท้ายวัชระกล่าวว่าอยากให้ทุกๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ด้านไหนก็ได้ เพื่อให้ธุรกิจ สตาร์ทอัพนั้นเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและระยะยาว

นักวิจัย TDRI เสนอพัฒนาบุคลากร กม.เศรษฐกิจดิจิทัล รองรับสตาร์ทอัพ-ย้ำความเร็วเป็นปัจจัยสำคัญ

ส่วนฉัตรมีข้อเสนอว่า มีปัจจัยหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อสตาร์ทอัพนอกเหนือไปจากกฎหมาย เช่น เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายผู้ขับรถจักรยานยนต์ให้บริการ GrabBike ในขณะที่อุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพคือโครงสร้างทางสังคมยังไม่พร้อมที่จะพัฒนาเพื่อรองรับสตาร์ทอัพต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น ระบบการศึกษาในไทยที่ยังไม่มีความพร้อมมากเพียงพอที่จะสามารถผลิตบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพทีมีจุดเด่นทางเทคโนโลยี โดยขาดทั้งปริมาณและคุณภาพ
การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรจึงสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ แนวทางในการพัฒนาในช่วงเริ่มต้นนี้ ฉัตรเสนอว่า อาจจะมีการนำเข้าแรงงานที่มีฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาช่วยพัฒนา แต่ในไทยมีปัญหาการกีดกันแรงงานต่างชาติ นอกจากการพัฒนาบุคลากรแล้ว การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพยังทำได้โดยร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลที่เอื้อประโยชน์และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน การสนับสนุนผ่านเงินทุนและเทคโนโลยีก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสตาร์ทอัพ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ส่วนราชการต้องทำโดยมีปัจจัยเรื่องเวลามากำหนด
“ในโลกของสตาร์ทอัพ ปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องมีความรวดเร็วในการพัฒนาธุรกิจ” ฉัตรกล่าว


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top