0
ตร.ส่งสำนวนคดี 'อรรถจักร์-สมชาย ปมแถลง 'มหาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร' ให้อัยการศาลทหาร
Posted: 02 Jun 2016 01:58 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)  
สองนักวิชาการเชียงใหม่เตรียมตัวขึ้นศาลทหาร หลังตำรวจเสนอสำนวนต่ออัยการศาลทหาร คณาจารย์มช. รุดเยี่ยมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินย้ำปฏิรูปที่ดินไม่เกิดขึ้นใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
 
 
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และ รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล
 
2 มิ.ย. 2559  จากกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  (รายละเอียดเพิ่มเติม)
 
ล่าสุด บีบีซีไทย - BBC Thai รายงานว่า เช้าวันนี้ (2 มิ.ย.59) ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำสำนวนการสอบสวนส่งให้กับอัยการของศาลทหารในคดีที่เจ้าหน้าที่เสนอให้สั่งฟ้องนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สองคน คือ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และ รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล ผู้ต้องหาคดีดังกล่าว ซึ่งอัยการได้นัดฟังการตัดสินใจว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ 
 
โดยทีมทนายความของนักวิชาการทั้งคู่ระบุว่า ในการเตรียมตัวสู้คดี ทนายความได้นำเสนอเอกสารหลักฐานไปไม่น้อย รวมทั้งเสนอชื่อพยานไปสี่ปากเป็นนักวิชาการทั้งสิ้น 
 
อรรถจักร์ และ สมชาย กล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยภายหลังว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมาตลอดจนในการพบปะกันหนนี้ได้มีความพยายามที่จะไกล่เกลี่ย เนื่องจากคำสั่ง คสช.เองก็เปิดให้ทำได้ โดยไกล่เกลี่ยในรูปแบบจะให้ลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู ซึ่งไม่ต้องการลงชื่อ เนื่องจากเอ็มโอยูมีเนื้อหาให้ยอมรับว่าสิ่งที่ได้ทำไปคือการออกแถลงการณ์เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อ 31 ต.ค.2558 เป็นความผิด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน แต่ทั้งสองคนต่างยืนยันว่า ไม่ว่าเนื้อหาของแถลงการณ์ในวันนั้น หรือการอ่านแถลงการณ์ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอันเป็นเรื่องปกติที่นักวิชาการพึงทำ และไม่มีท่วงทำนองยั่วยุอย่างใด จึงไม่เข้าข่ายความผิดแม้จะยึดตามเนื้อหาของคำสั่ง คสช.เอง 
 
สมชาย และ อรรถจักร์ ระบุว่า ในการเตรียมตัวต่อสู้คดีนี้ ตนยึดหลักว่าสิ่งที่ทำไม่ได้เป็นความผิด ไม่ว่าจะโดยบรรทัดฐานในยามปกติ หรือในอารยะประเทศ “หากว่าสิ่งที่เราทำโดยบริสุทธิ์ใจ ถ้ามันกลายเป็นความผิด เราสองคนก็จะยอมรับ แล้วสังคมก็จะตัดสินและตั้งคำถามกันเอง” อรรถจักร์ กล่าว 
 
ส่วน สมชายระบุว่า ขณะนี้มีประชาชนที่แสดงออก เคลื่อนไหว และถูกลงโทษทั้งที่ไม่สมควรถือเป็นความผิดเป็นจำนวนมาก ในฐานะที่ตนเป็นนักวิชาการถือว่ามีสถานะที่พิเศษมากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว “สิ่งที่น่ากังวลคือ ถ้าคนที่อยู่ในสถานะแบบนี้ยังโดน คนที่แย่กว่าเราน่าจะโดนมาก เราเองอาจจะกังวลบ้าง แต่ที่น่าจะกังวลมากกว่าคือเรื่องเสรีภาพ เพราะส่วนหนึ่งที่เราพยายามสู้คือ เราพยายามจะเปิดช่องให้การแสดงความเห็นมันเกิดขึ้นได้” 
 
สมชาย กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีเพื่อนนักวิชาการด้วยกันอีก 6 คนที่ร่วมอ่านแถลงการณ์ด้วย แต่พวกเขาได้ลงนามในเอ็มโอยูไปกับเจ้าหน้าที่ สำหรับการทำบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูกับเจ้าหน้าที่มักจะมีเงื่อนไขพ่วงเข้ามาด้วย เช่นห้ามการเคลื่อนไหวหรือแสดงออกทางการเมือง ซึ่งคนส่วนหนึ่งลงนามในเอ็มโอยูแต่ไม่คิดว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรม ในขณะที่คนอีกส่วนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีความอ่อนไหวต่อแรงกดดัน ไม่เหมือนคนที่อยู่ในพื้นที่ที่สื่อให้ความสนใจมากอย่างเช่นในกรุงเทพฯ
 

คณาจารย์มช. เยี่ยมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินย้ำปฏิรูปที่ดินไม่เกิดขึ้นใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ขณะที่ สำนักข่าวประชาธรรม รายงานว่า วานนี้ (1 มิ.ย. 59) ที่เรือนจำลำพูน คณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ - มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางมาเยี่ยมแกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินชาวบ้านบ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ที่ถูกตัดสินจำคุก7 คน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมาจากกรณีพิพาทปัญหาที่ดินทำกินกับนายทุนซึ่งต่อสู้ยืดเยื้อมายาวนานถึง 19 ปี
 
สำหรับกลุ่มคณาจารย์มช.นำโดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยอาจารย์และนักศึกษาร่วม 10 คน เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินจังหวัดลำพูนที่ถูกตัดสินใจจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ได้แก่ 1.นายสุแก้ว ฟุงฟู 2.นายพิภพ หารุคำจา 3.นายสองเมือง โปยาพันธ์ 4.นายวัลลภ ยาวิระ 5.นายวัลลภ ไววา 6.นางคำ ซางเลง 7.นางบัวไร ซางเลง การเดินทางมาเยี่ยมครั้งนี้เพื่อต้องการให้กำลังใจนักต่อสู้ทั้ง 7 คน และอาจหาแนวทางช่วยเหลือ เยียวยา ตลอดจนถึงอาจต้องมีการทบทวนปัญหาเรื่องที่ดินทำกินที่กำลังเป็นปัญหาทั่วประเทศ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศการเยี่ยมพบว่า เมื่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินบ้านแพะใต้ทั้ง 7 คน พบคณาจารย์ ทนายความ และนักพัฒนาเอกชน ที่ต่อสู้ด้วยกันมาตลอดถึงกับตาแดง น้ำตาไหล บางคนถึงกับร้องไห้ โดยนักต่อสู้รายหนึ่งกล่าวฝากถึงพี่น้องที่ต่อสู้ด้วยกันมาให้ทำหน้าที่ข้างหลังต่อจากนี้ให้ดีที่สุด อย่าให้เป้าหมายหรืออุดมการณ์เพื่อความเป็นธรรมต่อคนจนสูญหาย
 
สมชาย กล่าวภายหลังว่า หากพูดถึงปัญหาเรื่องสิทธิที่ทำกินของชาวบ้าน เป็นปัญหาใหญ่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่สุด คือ โครงสร้างของสังคมไทยขณะนี้ อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงยากมากที่จะทำให้เกิดการแก้ไขเชิงโครงสร้างได้ ซึ่งเท่าที่สังเกตปีที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องที่ดินชาวบ้านถูกนำมาดำเนินคดีเพิ่มขึ้น ชาวบ้านถูกจับกุมในหลายพื้นที่แต่เรื่องกลับเงียบมาก
 
“กรณีบ้านแพะใต้ จ.ลำพูน เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน เแต่เราไม่มีความเข้มแข็งของสังคมที่จะผลักเรื่องนี้ ผมคิดว่าเราควรจะได้เห็นขบวนการต่อสู้ การเคลื่อนไหวผลักดันปัญหาที่มันกว้างขวางกว่านี้ แต่การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะการปฏิรูปมันหมายความว่าต้องเกิดการปรับโครงสร้างสถาบันนั้น ๆ ซึ่งมันจะต้องกระทบกับคนที่อยู่ในนั้น ฉะนั้น เมื่อไหร่ที่เราพูดถึงการปฏิรูป มันต้องการแรงผลักจากทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่แรงผลักจากผู้มีอำนาจอย่างเดียว แต่มันต้องการแรงผลักดันของสังคม เช่น การออกภาษีที่ดิน ผมพนันได้เลย มันไม่ออกในรัฐบาลชุดนี้แน่ เพราะมันกระทบกับคนมีอำนาจ ซึ่งคนมีอำนาจก็อยู่ข้าง ๆ รัฐบาลนั้นแหละ”
 
“ส่วนการปฏิรูปมาตลอดในช่วงสองปีที่ผ่านมา มันเป็นเพียงคำใหญ่ ๆ ที่ถูกนำเสนอในเชิงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้อำนาจทางการเมืองในขณะนี้เท่านั้น การปฏิรูปไม่เกิดขึ้นตอนนี้ เพราะเราไม่มีแรงผลักจากสังคม และผมไม่เชื่อเรื่องการล็อบบี้” สมชาย กล่าวทิ้งท้าย

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top