0

ศาลอังกฤษยึดทรัพย์ 395 ล้าน ผู้ผลิต GT200 หลังสั่งจำคุก เพื่อจ่ายเงินชดเชยผู้เสียหาย

Posted: 16 Jun 2016 03:20 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)


ศาลอังกฤษยึดทรัพย์ผู้ผลิตเครื่องตรวจจับระเบิดปลอมรุ่น GT200 และอื่นๆ 395 ล้านบาท หลังสั่งจำคุก เพื่อจ่ายเงินชดเชยผู้เสียหาย พร้อมย้อนรอย GT200 ในกองทัพไทย และผู้ได้รับผลกระทบ ที่่ ‘สรรเสริญ-พรทิพย์’ ออกมายืนยันกันใช้งาน

16 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อเดือน พ.ค. 2556 เจมส์ แมคคอร์มิค อดีตนักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม ถูกศาลสั่งจำคุก 10 ปีจากการขายเครื่องมือปลอมลักษณะเดียวกันให้กับอิรักหลังสงครามและเชื่อว่าทำให้มีคนเสียชีวิต ขณะที่ แกรี โบลตัน หุ้นส่วนทางธุรกิจถูกสั่งจำคุก 7 ปี จากการที่เขาหลอกขายอุปกรณ์ตรวจจับระเบิด GT200 ซึ่งเป็นของที่ไม่สามารถใช้ได้จริงให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วันนี้ (16 มิ.ย.59) บีบีซีไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาโฮนตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปีแก่ แมคคอร์มิค ตั้งแต่ปี 2556 โดยระบุว่าการจำหน่ายอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมมีส่วนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่คำสั่งยึดทรัพย์ในการพิจารณาคดีครั้งล่าสุดจะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมนำเงินสด อสังหาริมทรัพย์ และเรือสำราญที่แมคคอร์มิคมีชื่อเป็นเจ้าของมาจำหน่ายและนำเงินไปชดเชยแก่ผู้เสียหายต่อไป

รายงานข่าวระบุว่ารัฐบาลอิรักซึ่งเป็นอดีตลูกค้ารายใหญ่ของ แมคคอร์มิค จะได้รับค่าชดเชยราว 2.3 ล้านปอนด์ (ราว 115 ล้านบาท) ขณะที่หน่วยงานรัฐบาลของบาห์เรน เลบานอน ไนเจอร์ และจอร์เจีย จะได้รับเงินชดเชยเช่นกัน แต่ยังไม่มีการระบุตัวเลขที่ชัดเจน โดยที่ผ่านมา แมคคอร์มิคมีรายได้มากกว่า 50 ล้านปอนด์ (ราว 2,500 ล้านบาท) จากการจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม ซึ่งดัดแปลงจากอุปกรณ์ค้นหาลูกกอล์ฟ ต้นทุนประมาณ 14 ปอนด์ต่อเครื่อง (ราว 700 บาท) แต่แมคคอร์มิคจำหน่ายเครื่องดังกล่าวให้แก่ทหาร ตำรวจ หน่วยตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในราคาเครื่องละประมาณ 3,500 ปอนด์ (ราว 1.75 แสนบาท)

ก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค.2557 แคโรไลน์ ฮอว์ลีย์ ผู้สื่อข่าวของบีบีซี รายงานว่าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ แมคคอร์มิค ผลิตและจำหน่าย ได้แก่ รุ่น ADE-651 ซึ่งจำหน่ายในอิรัก ไนเจอร์ และประเทศอื่นๆ แถบตะวันออกกลาง รุ่น GT200 จำหน่ายให้แก่ลูกค้าในประเทศไทย เม็กซิโก ประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกา ส่วนรุ่น Alpha 6 จำหน่ายให้แก่ลูกค้าในไทย อียิปต์ และเม็กซิโก



ย้อนรอย GT200 ในกองทัพไทย และผู้ได้รับผลกระทบ

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก (ยศขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์เรื่อง GT200 ในรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อปี 2553 ว่า “ผมอยากขยายความหลักการทำงานนิดหนึ่ง สสารทุกอย่างในโลกมนุษย์ จะมีสนามแม่เหล็กของมัน ซึ่งจะแตกต่างกัน หลักการของการใช้เครื่อง GT200 ก็คือ เราจะตรวจหาอะไร เราก็เอาสารชนิดนั้นมาทำเป็นเซ็นเซอร์การ์ดแล้วใส่เข้าไปในนี้ ซึ่งก็จะมีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้น สมมติว่าเราใส่เรื่องของยาเสพติด ยาไอซ์เข้าไป เมื่อเครื่องทำงานก็จะไปตรงกับยาไอซ์ ซึ่งอยู่ในภูมิประเทศที่เรากำลังหา เนื่องจากมีสนามแม่เหล็กที่ตรงกัน ตัวเสาสัญญาณจะเบนไปหา แต่ลักษณะการใช้เครื่อง GT200 จะเหมือนการใช้แผนที่เข็มทิศ ก็คือต้องเดินสอบ เขาเรียกสอบแนวเส้นเล็ง เดินตามแกน X แกน Y เพื่อให้แนวเส้นเล็กตัดกัน จะกำหนดเป็นพื้นที่คร่าวๆ ได้ อาจจะรัศมี 3 เมตร จริงๆ แล้วในการปฏิบัติเพื่อกำหนดพื้นที่ให้แคบลง ว่าตรงไหนมีความน่าจะเป็นที่จะมีวัตถุระเบิดหรือวัสดุที่เราจะหาอยู่”

อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 53 พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ช่วงทันข่าวเด่น โดยยืนยันว่าทางหน่วยงานจะยังใช้เครื่อง GT200 ต่อไปเป็นส่วนเสริม เพื่อตีวงการตรวจสอบวัตถุระเบิดให้แคบลง และว่าเครื่องจีที 200 นั้นหน่วยงานยังใช้ได้ผล และยืนยันว่าหน่วยงานจะยังใช้ต่อไป ทั้งนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นห้ามซื้อ แต่ไม่ได้ห้ามใช้ โดยระบุว่าปัจจุบัน (ในขณะนั้น) ยังไม่มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมาทดแทน นอกจากนี้มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เพราะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตรวจสอบวัตถุระเบิดได้ยาก

“ถามว่าใช้แล้วได้ประโยชน์ไหม ก็ได้ประโยชน์นะครับ แต่ว่าก็มีการพบครับว่า มันมีจุดอ่อน คือเครื่องนี้นี่เท่าที่ผมได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องก็คือว่ามีจุดอ่อนตรงที่ว่ายังต้องอาศัยเรื่องของกระแสไฟฟ้าในตัวคนที่ใช้ เพราะฉะนั้นบางที่สภาพของตัวบุคคลที่ไปตรวจ ถ้าอาจจะพักผ่อนน้อยไป ไม่มีความพร้อม ก็จะทำให้เครื่องนี้ขาดประสิทธิภาพ” อภิสิทธิ์ เคยกล่าวไว้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


ขณะเดียวกัน มีราษฎรใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา อย่างน้อย 4 ราย เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องตรวจวัตถุระเบิด หรือ จีที 200 ด้วย โดยถูกออกหมายจับและดำเนินคดี เนื่องจากถูกตรวจค้นบ้านและถูกชี้ด้วยเครื่องจีที 200 โดยประชาไทเคยนำเสนอเรื่องมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 (อ่านต่อที่นี่)

โดย อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หัวหน้าศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา เคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่เครื่อง GT 200 ชี้ไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการตั้งข้อสมมติฐานว่า น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคือมีการพบสารระเบิดติดอยู่ที่เสื้อผ้า จากนั้นผู้ที่ถูกเครื่อง GT200 ชี้ จะถูกนำตัวไปสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยบุคคลเหล่านั้นจะถูกข่มขู่ หรือบังคับให้รับสารภาพ หรือบางกรณีก็ถูกทำร้ายร่างกาย โดยไม่สามารถหาข้อมูลมาหักล้างได้เลย ขณะที่ไม่มีการกล่าวอ้างในชั้นศาล ว่าได้ตัวบุคคลเหล่านี้มาดำเนินคดีด้วยการใช้ GT 200 แต่อย่างใด

โพสต์ทูเดย์ ระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่อง GT 200 และ ALPHA 6 มีทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน คือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จังหวัดพิษณุโลก กรมการปกครอง กรมศุลกากร กรมสรรพาวุธทหารบก ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดยะลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเพชรบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กองบัญชาการกองทัพไทยโดยศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมราชองครักษ์

โดยผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้นได้มีคำสั่งให้เลิกใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top