0
กลุ่ม Anti Sotus ตั้งวงถก รื้อโซตัสต้องปะทะความคิดหรือประนีประนอม?
Posted: 05 Jun 2016 12:22 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)    
กลุ่ม ANTI SOTUS จัดประชุมประจำปีหวังสร้างเครือข่ายต่อต้านโซตัส เพนกวินย้ำโซตัสคืออำนาจนิยมแม้ไม่ใช่ความรุนแรง ต้องปะทะทางความคิดไม่ประนีประนอม วรรณสิงห์มองต่างชี้ต้องเข้าใจ-ประนีประนอม ด้านจ่านิวระบุสังคมไทยเอื้อให้เกิดโซตัสแต่ต้นไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา กลุ่ม ANTI SOTUS ได้มีการประชุมใหญ่เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประจำปี 2559 ที่ห้องประชุม 1 ตึกจุลจักรพงศ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยช่วงเช้าเป็นการประชุมสรุปผลงานของกลุ่ม ขณะที่ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ ‘การรับน้องในศตวรรษที่ 21 ล้าหลัง มั่นคง หรือต้องเปลี่ยนแปลง?’ ดำเนินการเสวนาโดยเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนาโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียนและพิธีกร และเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเรียนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
ในงานเสวนา พริษฐ์ กล่าวว่า โซตัสคือการใช้อำนาจผ่านความอาวุโส โดยอ้างระเบียบวินัย ประเพณี ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความเป็นตัวตน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่รุนแรงหรือไม่ หากยังเป็นการใช้อำนาจในลักษณะนี้ก็ถือว่าเป็นโซตัส และวิธีทางแก้ไม่ใช่การประนีประนอมแต่เป็นการปะทะทางความคิด เพื่อให้คนที่ยังเชื่อในโซตัสเกิดการตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนกระทำอยู่
ขณะที่วรรณสิงห์ มองว่ามนุษย์ทุกคนต้องการถูกเคารพและเป็นที่ยอมรับซึ่งยึดโยงกับอีโก้ของคน และการรับน้องแบบโซตัสสามารถตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ ซึ่งหากมุ่งแต่ปะทะโดยปราศจากความเข้าใจ ก็อาจทำให้คนที่เชื่อในโซตัสยิ่งทวีความเชื่อเพิ่มขึ้นไปเพื่อปกป้องอีโก้ของตนเอง เพราะฉะนั้นหากต้องการจะเปลี่ยนแปลง ต้องใช้ความเข้าใจ ประนีประนอม และหากิจกรรมอื่นที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้
“ถ้ากลุ่มนี้ตั้งใจจะล้มระบบนี้ เราต้องคิดอะไรมาแทนที่จะสนองอีโก้คนให้ได้เท่ากับที่โซตัสสนองอีโก้ แน่นอนว่าโซตัสมันกดความเป็นคนและกดอะไรหลายๆ อย่างที่เด็กอายุน้อยกว่าควรจะได้รับ แต่ว่าสำหรับคนอายุมากกว่ามันโคตรฟินที่ได้รับการยอมรับและมีตัวตนในสังคมนี้ ทีนี้การมีตัวตนและได้รับการยอมรับมันไม่ต้องมาผ่านการกดขี่ผู้อื่นเสมอไปก็ได้” วรรณสิงห์กล่าว
ในช่วงการเปิดรับความคิดเห็นและคำถามจากผู้ร่วมเสวนา สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว จากกลุ่มพลเมืองโต้กลับกล่าวว่า โซตัสไม่ได้เพิ่งจะมาปลูกฝังกันในมหาวิทยาลัย แต่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่ครอบครัวหรือโรงเรียน ด้วยวิธีการขัดเกลาที่เด็กต้องรับกับระเบียบอำนาจ พอเข้ามาในมหาวิทยาลัยเด็กจึงรับกับโซตัสได้ง่าย เพราะคุ้นเคยในการรับฟังคำสั่ง นอกเหนือจากนั้น ระบบโซตัสยังเอื้อประโยชน์ในหน้าที่การงาน ผู้ที่ยอมรับระบบโซตัสก็จะได้รับการสนับสนุนให้เติบโตในสายงาน ประเด็นนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของมหาวิทยาลัยแต่เป็นเรื่องของสังคม เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีที่จะทำให้ระบบสังคมหรือการเมืองของเราไม่ยอมรับกับการเอื้อประโยชน์เหล่านี้
ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย รองเลขาธิการ กลุ่ม ANTI SOTUS กล่าวว่า ปัจจุบันการรับน้องแบบโซตัสมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนชื่อ ไม่ยอมให้เรียกตนเองว่าโซตัสหรือใช้คนหน้าตาดีเข้ามาเป็นตัวดึงดูดรุ่นน้อง แต่ในด้านของความรุนแรงก็ยังคงมีอยู่ และมีการใช้อำนาจรัฐข่มขู่ผู้เสียหายจากกิจกรรมรับน้องด้วย
“รับน้องที่จังหวัดน่านปีที่แล้ว น้องผู้หญิงที่ฟกช้ำดำเขียวทั้งตัวเลยก็เป็นข่าว เราดันจนออกสรยุทธ์ แล้วเราก็แห่กันไปที่โรงพักจะไปแจ้งความ ให้พี่มาขอโทษน้องที่โรงพัก แต่ตำรวจบอกว่าจะแจ้งความจริงเหรอ ถ้าจะแจ้งความ คุณอาจจะอยู่น่านลำบากนะ น้องเขาก็เลยไม่กล้าแจ้งความ” ผู้ร่วมเสวนากล่าว
ก่อนจบงานเสวนา วรรณสิงห์ได้ให้ข้อเสนอถึงแนวทางในอนาคตของกลุ่ม ANTI SOTUS ว่านอกเหนือจากต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ทางความคิด อาจจะต้องสู้ด้วยพลังของมวลชน โดยทำการตลาดให้จับกลุ่มมวลชนให้ได้ และใช้มวลชนเป็นเครื่องมือกดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายคืออยากให้ทุกฝ่ายพยายามทำความเข้าใจและเอาใจเขามาใส่ใจเรา
หลังจบการเสวนา ชวิศ วรสันต์ รักษาการณ์เลขาธิการ กลุ่ม ANTI SOTUS ได้สรุปผลการประชุมประจำปีในช่วงเช้าว่า ผลงานของกลุ่มในปีที่ผ่านมาไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะยังไม่มีวิธีการใหม่ในการทำงาน ยังคงยึดติดกับวิธีการเก่า อีกทั้งกลุ่มคนทำงานก็มีจำนวนน้อยและมีเวลาไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างจริงจัง แต่ในการประชุมครั้งนี้ก็ทำให้ได้เห็นความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการช่วยพัฒนากลุ่ม อีกทั้งยังได้แนวทางใหม่ที่จะยกระดับกลุ่ม ANTI SOTUS จากที่เป็นเพียงกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้องแบบโซตัสมาเป็นองค์กรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ชวิศยังกล่าวถึงแนวทางการเคลื่อนไหวในอนาคตว่า กลุ่มต้องการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับมหาวิทยาลัยเพื่อมาทดแทนโซตัส ต่อมาคือสร้างเครือข่ายต่อต้านโซตัสที่เข้มแข็ง เช่น เครือข่ายนักศึกษาหรือเครือข่ายอาจารย์ และสุดท้ายคือเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมที่สนับสนุนแนวคิดโซตัส เช่น กฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top