0

สหประชาชาติเตือนทั่วโลกยังทุ่มงบไม่พอตั้งรับภัยธรรมชาติ คาดทวีความรุนแรงขึ้นจากโลกร้อน
โรเบิร์ต กลาสเซอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นไอเอสดีอาร์) เตือนว่า ประชาคมโลกยังไม่มีความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภัยแล้งและอุทกภัยที่สร้างความเสียหายมากกว่าเดิม

รายงานจากยูเอ็นระบุว่า ในปี 2015 เหตุแผ่นดินไหว อุทกภัย คลื่นความร้อนและแผ่นดินถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 หมื่นคน และส่งผลกระทบต่อประชาชน 98.6 ล้านคน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 6.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท)

ทั้งนี้ ประชาคมโลกใช้เงินเพียง 0.4% หรือราว 540 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.8 หมื่นล้านบาท) จากงบประมาณช่วยเหลือทั่วโลก 1.35 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.7 ล้านล้านบาท) ในปี 2014 เพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ขณะที่การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมยังคงขาดแคลนเช่นกัน ซึ่งยูเอ็นเสนอให้เพิ่มการใช้งบดังกล่าวเป็นอย่างน้อย 1%

กลาสเซอร์ มองว่า การที่นานาชาติเห็นพ้องใช้กรอบการดำเนินงานเซนได ซึ่งเป็นแผนพัฒนาระยะ 15 ปี เมื่อปีที่แล้ว เพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จะนำไปสู่แนวทางที่ดีที่สุดในการลดจำนวนผู้ประสบภัยและความเสียหายทางการเงินจากภัยธรรมชาติ 

ผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็นเสริมว่า การบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติควรเป็นความสำคัญหลักในแผนการพัฒนาของประเทศ โดยยกตัวอย่างบังกลาเทศที่ประสบอุทกภัยรุนแรงมาโดยตลอด แต่รัฐบาลสามารถปกป้องชีวิตประชาชนหลายพันคนได้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากกำหนดให้การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเป็นองค์ประกอบหลักของแผนเศรษฐกิจ และใช้เงินลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่หลบพายุ และระบบเตือนภัยขั้นแรกขึ้น

สำหรับเหตุแผ่นดินไหวในเนปาลเมื่อปีที่แล้วเป็นกรณีตรงข้าม ซึ่งแสดงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยเนปาลมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวย ขณะที่เส้นทางรถไฟและถนนภายในประเทศยังมีอยู่จำกัด รวมถึงไม่สามารถส่งเฮลิคอปเตอร์เข้าไปในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือได้เพียงพอ

ภาพ...เอเอฟพี



แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top