0
ฟรีดอมเฮาส์จัดอันดับเสรีภาพสื่อทั่วโลกปี 2016 ไทยยังตกชั้นอยู่ในโซน 'ไม่เสรี'
Posted: 28 Apr 2016 08:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
จากเดิมที่อยู่ถูกจัดชั้นกลุ่มประเทศ "ไม่เสรี" หลังการรัฐประหารปี 2557 ล่าสุดในรายงานการจัดเสรีภาพสื่อปี 2016 ซึ่งฟรีดอมเฮาส์ซึ่งประเมินจากตลอดปี 2558 ที่ผ่านมา จัดให้ไทยคะแนนแย่ลงอีก 2 คะแนน อีกทั้งยังระบุถึงกรณีการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ที่ดูไร้เหตุผล ขณะที่ทั่วโลกอันดับโดยรวมแย่ลงจากการข่มขู่คุกคามของกลุ่มติดอาวุธ และจากรัฐบาลที่อ้างความมั่นคงเพื่อใช้สอดแนม
องค์กรฟรีดอมเฮาส์ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนทำวิจัยด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมือง มีสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานเรื่องเสรีภาพสื่อโดยระบุว่าเสรีภาพสื่อของโลกในปีที่ผ่านมา (2558) ถือว่าตกต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี จากการที่ทั้งกลุ่มการเมือง, แก็งค์อาชญากร และกองกำลังก่อการร้ายพยายามควบคุมหรือปิดปากสื่อเพื่อการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของพวกเขา โดยทั้งโลกมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 48.9 (คะแนนยิ่งน้อยยิ่งดี) เมื่อเทียบกับปี 2547 ที่มีคะแนนเฉลี่ย 45.48 และจากเส้นกราฟเผยให้เห็นว่าคะแนนเฉลี่ยแยลงเรื่อยๆ
ฟรีดอมเฮาส์รายงานอีกว่ามีประชากรเพียงร้อยละ 13 ของโลกเท่านั้นที่มีเสรีภาพสื่อได้ทำให้มีการทำข่าวการเมืองได้อย่างแข็งขัน มีการรับรองความปลอดภัยของนักข่าว มีการแทรกแซงสื่อจากรัฐต่ำ และสื่อไม่ถูกกดดันจากการบังคับใช้กฎหมายหรือจากภาวะทางเศรษฐกิจ ส่วนอีกร้อยละ 41 อาศัยอยู่ในที่ที่มีสื่อเสรีบางส่วนและร้อยละ 46 อยู่ในบรรยากาศที่สื่อไม่มีเสรี ซึ่งประเทศที่มีคะนนแย่ลงมากได้แก่ บังกลาเทศ, ตุรกี, ฝรั่งเศส, เยเมน, อียิปต์ เป็นต้น
ในรายงานของฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าการที่เสรีภาพสื่อทั่วโลกตกต่ำลงมีปัจจัยสองประการ ประการแรกคือบรรยากาศการแบ่งขั้วและการถือข้างของสื่อ ประการที่สองคือการข่มขู่คุกคามนอกกฎหมายและการใช้ความรุนแรงทางกายภาพที่นักข่าวต้องเผชิญ โดยปัญหานี้ร้ายแรงขึ้นมากในแถบตะวันออกกลางที่มีทั้งรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธที่กดดันผู้สื่อข่าวและสื่อต่างๆ ให้ต้องเลือกข้างมากขึ้น ทำให้เกิดบรรยากาศในแบบ "ถ้าคุณไม่ร่วมกับเราคุณก็เป็นฝ่ายตรงข้ามเรา" และทำการให้ร้ายคนที่ปฏิเสธจะร่วมมือด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอซิสหรือกลุ่มอื่นๆ ที่ใช้ความรุนแรงโจมตีสื่อและใช้ช่องทางเครือข่ายของตัวเองในการเผยแพร่ความเชื่อของพวกเขาต่อสาธารณชนจำนวนมากโดยไม่ต้องผ่านนักข่าวหรือช่องทางสื่อแบบเดิ
แม้กระทั่งในยุโรปที่มีบรรยากาศของสื่อที่เปิดกว้างมากกว่าก็ยังมีการกดดันจากผู้ก่อการร้าย เช่นกรณีคนติดอาวุธบุกสังหารคนทำงานในนิตยสารล้อเลียนเสียดสี 'ชาร์ลี เอ็บโด' นอกจากภัยคุกคามจากความรุนแรงแล้ว สื่อในยุโรปยังมีความเสี่ยงจากกฎหมายการสอดแนมและการต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงถูกกล่าวโจมตีหรือถูกแทรกแซงจากนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาล
ในรายงานสถานการณ์เสรีภาพสื่อปี 2559 ฟรีดอมส์เฮาส์ทำการสำรวจและให้คะแนนสถานการณ์สื่อต่างๆ ใน 199 ประเทศ จากคะแนน 0 (ดีที่สุด) ไปจนถึง 100 (แย่ที่สุด) โดยพิจารณาจากสถานการณ์ในช่วงตลอดปี 2558 ที่ผ่านมา (1 ม.ค. 2558 - 31 ธ.ค. 2558) โดยพิจารณาจากหลายแง่มุมในประเทศนั้นๆ อยางสถานการณ์ด้านกฎหมาย ด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อสื่อ เช่น มีกฎมายจำกัดเสรีภาพสื่อหรือไม่ อาชญากรรมที่คุกคามเสรีภาพสื่อถูกดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ มีความลำเอียงต่อสื่อที่ได้รับทุนจากรัฐมากกว่าหรือไม่ สื่อที่ไม่แสวงหาผลกำไรมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร มีการทำร้าย คุกคาม ลักพาตัว สื่อหรือบล็อกเกอร์เนื่องจากการทำงานของพวกเขาหรือไม่ เป็นต้น
ฟรีดอมเฮาส์ระบุในรายงานหัวข้อ "ประเด็นอันตราย" (Dangerous Topics) ถึงประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อ เช่นการขัดขวางนักข่าวรายงานเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อม เรื่องศาสนา ข้อพิพาทด้านการปกครองตนเอง รวมถึงประเด็นกฎหมายหมิ่นผู้นำรัฐฯ ซึ่งในกรณีนี้ฟรีดอมส์เฮาส์ยกตัวอย่างผู้นำอียิปต์และผู้นำตุรกีที่มีการฟ้องร้องคดีหมิ่นเยอะมาก ขณะเดียวกันก็ระบุถึงกรณีการดำเนินคดีที่ "เหลวไหล" ใประเทศไทยอย่างการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผู้ที่เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง
ประเทศไทยถูกจัดประเภทให้เป็นประเทศที่ไม่มีเสรีภาพสื่อ (Not Free) ในรายงานปี 2559 และถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 167  จากทั่วโลก 199 อันดับ มีอันดับแย่กว่าประเทศ บรูไน, พม่า, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยมีคะแนน 77 คะแนน ทำให้แย่ลงกว่าปีที่แล้ว 2 คะแนน แต่เมื่อเทียบระหว่างปี 2554-2558 แล้วไทยถูกจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเสรีภาพสื่อลดลงมากถึง 17 คะแนน
ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าประเทศที่น่าจับตามองเรื่องสถานการณ์เสรีภาพสื่อคือจีน ซึ่งประธานาธิบดี สีจิ้นผิง พยายามจัดระเบียบให้สื่อเป็นไปตามแนวทางพรรค แต่ก็มีสัญญาณการต่อต้านจากนักข่าวและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ขณะที่ประเทศอียิปต์ซึ่งมีการใช้อำนาจข่มเหงสื่ออย่างหนักก็มีสื่อฝ่ายหนุนผู้นำอับเดล ฟัตตาห์ อัลซีซี บางส่วนเริ่มส่งเสียงวิจารณ์ผู้นำบ้างแล้วซึ่งอาจจะทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นหรือเกิดการปราบปรามหนักข้อขึ้นได้ ในอินเดียก้มีสถานการณ์ที่นักข่าวถูกทำร้ายโดยเฉพาะจากกลุ่มขวาจัดทำให้น่าจับตามองมองสถานการณ์เสรีภาพสื่อท่ามกลางรัฐบาลชาตินิยมศาสนาฮินดู
จากกรณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ฟรีดอมส์เฮาส์ระบุถึงกรณีที่ในบังกลาเทศซึ่งมีคะแนน 61 คะแนน อยู่อันดับที่ 134 มีการสังหารผู้วิพากษ์วิจารณ์ศาสนา ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลก็สร้างแรงกดดันต่อสื่อทำให้นำเสนอเรื่องต่างๆ ได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ในมาเลเซียที่มี 67 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 149 ก็มีกรณีอื้อฉาวเรื่องการทุจริต ทำให้มีการใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่นหลายครั้งมากเพื่อปราบปรามผู้ต่อต้าน
ทางด้านประเทศที่มีสถานการณ์ในแง่เสรีภาพสื่อดีขึ้นมากในปี 2558 จากรายงานของฟรีดอมส์เฮาส์ได้แก่ บูรืกินา ฟาร์โซ ที่มีการยกเลิกการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตกับนักข่าวและยุติการลอยนวลไม่ต้องรับผิดของผู้ที่ก่ออาชญากรรมต่อนักข่าวในอดีต นอกจากนี้รัฐบาลยังลดการแทรกแซงเนื้อหาของสื่อลงด้วย อีกประเทศหนึ่งที่ได้รับการชื่นชมคือศรีลังกาที่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทำให้มีภัยคุกคามต่อนักข่าวน้อยลง สื่อเอกชนเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองน้อยลง และมีการปลดล็อกเว็บไซต์ที่เคยถูกเซนเซอร์ด้วย
ฟรีดอมเฮาส์ยังได้แสดงความกังวลต่อเรื่องการหายตัวไปของชาวฮ่องกงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสำนักพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำจีน ทำให้น่ากังวลว่าจีนแผ่นดินใหญ่กำลังแผ่ขยายอำนาจการครอบงำไปสู่ฮ่องกงที่เคยมีเสรีภาพสื่อนับตั้งแต่ส่งคืนสู่จีนหลังการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 2540 หรือไม่ อีกทั้งการที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชั้นนำในฮ่องกงอย่างเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ตกไอยู่ในมือของบริษัทอาลีบาบา ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลกลางของจีนก็ทำให้น่าเป็นห่วงในเรื่องอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ต่อฮ่องกงเช่นกัน
เรียบเรียงจาก
Freedom of the Press 2016, Freedom House https://freedomhouse.org/report/freedom-press/freedom-press-2016

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top