0
ส่องปฏิกิริยาหลัง นปช.เสนอให้ 'ยูเอ็น-อียู' เข้ามาสังเกตการณ์ประชามติกันประชาชนถูกโกง
Posted: 25 Apr 2016 11:13 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
พล.อ.ประวิตรบอกไม่จำเป็น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเผยยังไม่คุย ส่วน 'วันชัย' ชี้ชักศึกเข้าบ้าน ขณะที่ 'นิพิฏฐ์ รองหัวหน้า ปชป.' ค้าน ชี้ต่างจากพม่าเพราะเราอยู่ในระบบประชาธิปไตยมาก่อน

นปช. ขอประชาชนร่วมจับผิดโกงประชามติ (อ่านรายละเอียด)

25 เม.ย. 2559 จากที่กรณีเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า บรรยากาศการทำประชามติต้องไม่อยู่ในบรรยากาศของความกลัว ที่กลัวแม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ คสช.ควรยกเลิกการทำประชามติเสีย รวมถึงการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่จะให้การทำประชามติเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรมตามความฝันของ กกต.นั้น ในทางปฏิบัติแล้วสามารถเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย กกต. และผู้มีอำนาจควรเปิดกว้างให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหภาพยุโรป (อียู) หรือองค์กรใดๆ ก็ตามในระดับนานาชาติมาสังเกตการณ์ในการลงประชามติอย่างเปิดเผย ซึ่งนี่เป็นเรื่องของความสุจริต โปร่งใส และความไว้เนื้อเชื่อใจ
ข้อเสนอให้ยูเอ็น อียูหรือองค์กรระดับนานาชาติเข้ามาสังเกตการณ์ลงประชามติ ของ จตุพร นั้นส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ดังนี้

ประวิตรบอกไม่จำเป็น

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะให้ต่างชาติเข้ามา รอให้มีการเลือกตั้งส.ส. ค่อยว่ากันอีกที และการที่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่ออกมาคลื่อนไหวให้รับหรือไม่รับร่างฯ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะคุมเสียงของพรรคตัวเองได้หรือไม่

โฆษก กต. เผยยังไม่คุย

ขณะที่ เสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า  ยังไม่มีการหารือเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด 

วันชัย ชี้ชักศึกเข้าบ้าน

วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีด้วยว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ที่จะชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้านโดยไม่จำเป็น คนไทยดูแลกันเองได้ พรรคการเมือง ประชาชน ทุกภาคส่วนมีสิทธิร้องเรียนหากเห็นการทุจริต ไม่จำเป็นต้องให้ต่างด้าวท้าวต่างแดนมาดูแล
“การชักชวนต่างชาติเข้ามา เท่ากับย่ำยีดูถูกถูกคนไทยด้วยกันเอง ดังนั้น รัฐบาลหรือใครถ้าทำทุจริตระหว่างทำประชามติถือเป็นการกระทำที่โง่เงา ไม่ควรยอมรับการกระทำนั้น นปช.เพียงแสดงท่าที พฤติกรรมเอะอะโวยวายพูดง่ายๆ ไม่ว่า คสช.กับรัฐบาลทำอะไร บรรดาแกนนำจะพยายามหาเรื่องอยู่ร่ำไป แต่รัฐบาล คสช.คงรู้ทันเกม ไม่หลงกระแสตามคนเหล่านี้ที่จงใจป่วนทั้งในและนอกประเทศ ต้องการสร้างสถานการณ์บ้านเมืองว่าไม่สงบเรียบร้อย หวังชักนำชาวต่างชาติเข้ามา ทั้งที่ปัญหาทั้งหมดเกิดจากพวกเขาเองทั้งสิ้น สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายทั้งที่ความจริงไม่มีอะไรเลย” วันชัย กล่าว

นิพิฏฐ์ ค้าน ชี้ต่างจากพม่าเพราะเราอยู่ในระบบประชาธิปไตยมาก่อน

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า สถานการณ์ไทยต่างกับพม่า เพราะพม่าหลังรับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลทหารก็เข้ายึดอำนาจเป็นเวลานานกว่า50ปี และเพิ่งกลับเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย ซึ่งพม่าสามารถปรับตัวหลุดพ้นจากระบบทหารได้
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น เดิมเราอยู่ในระบบประชาธิปไตยมาก่อน แต่เพิ่งจะสะดุดในช่วง3ปีที่ผ่านมา และขณะนี้เรากำลังจะเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยอีกครั้ง จึงไม่เห็นความจำเป็นใดที่ไทยต้องเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศ หรือยูเอ็น , อียูเข้ามา เพราะเท่ากับประจานประเทศเราเอง ว่าคนในชาติคุยกันไม่ได้ต้องดึงคนต่างชาติ มาแทรกแซงกิจการภายในของชาติไทย ทั้งที่เราแค่สะดุดล้ม และกำลังจะลุกขึ้นเพื่อเดินต่อ
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของพม่าที่ให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ เพราะเขาอยู่กับรัฐบาลทหารมาตลอด การเลือกตั้ง หรือทำประชามติใดๆ เขาไม่เคย ไม่มีประสบการณ์ แต่ไทยเราเลือกตั้งมาตามวาระ และประชามติก็เคยทำ มีประสบการณ์แล้วในรัฐธรรมนูญปี50เรารู้ เราเข้าใจ จึงไม่จำเป็นต้องดึงองค์กรต่างชาติ หรือคนชาติอื่นเข้ามายุ่งในกิจการภายในของเรา เพราะเมื่อจะเอาเขาเข้ามา ไม่ใช่ว่าจบง่ายๆ มันมีเงื่อนไขต่างๆมากมาย ตามมาอีกปัญหาจะไม่จบ ปัญหาในชาติไทย เราคนไทยแก้ไขกันเองได้

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top