0
รายงาน: หมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ = มาตรา 116? หัวหน้า คสช. = รัฐ ?
Posted: 29 Apr 2016 05:09 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาทั้งแปดมาแถลงข่าวที่กองปราบ (28 เม.ย.)
มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
          (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
          (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
          (๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

เพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ไม่ใช่เพจโด่งดังอะไรมากมายในโลกโซเชียล คนไลค์สามสี่หมื่น และเมื่อเกิดการอุ้ม ‘ทีมงาน’ หลายคน คนก็กดไลค์เพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดหมื่นกว่า
เนื้อหาของเพจนี้เทียบกับการต่อต้านรัฐบาลทหารในโลกโซเชียลแล้วนับว่า “ขำๆ” และดูเหมือนเพจก็ตั้งใจผลิตเนื้อหาทำนองนั้น ไม่มีประเด็นเป็นชิ้นเป็นอัน และเน้นไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก
ผู้ต้องหา 8 คน (เป็นหญิง 1 คน) ถูกกล่าวหาว่าเป็นทีมทำเพจ พวกเขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบตามมาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลเท็จตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งหมดถูกขังในเรือนจำเนื่องจากศาลทหารไม่ให้ประกันตัว ระบุเหตุผลว่า “เป็นคดีร้ายแรง ทำเป็นขบวนการ”
มาตรา 116 นั้นอยู่ในหมวดความมั่นคง และหลังรัฐประหาร 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้คดีความมั่นคงลักษณะนี้ขึ้นศาลทหาร
การวิพากษ์วิจารณ์หรือกระทั่งโจมตี กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ แล้วโดนข้อหามาตรา 116 ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น กรณีที่ใกล้เคียงกันและศาลทหารเคยมีคำสั่งไว้แล้วว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 116 คือ คดีของรินดา ปฤชาบุตร
6 ก.ค.2558 มีการโพสต์ข้อความกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินไปยังประเทศสิงคโปร์กว่าหมื่นล้านบาท
8 ก.ค.2558 ทหารบุกจับตัวที่บ้าน
10 ก.ค.2558 ตำรวจรับมอบตัวรินดาจากทหาร และแจ้งข้อหา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2)
10 ก.ค.2558 ทนายความยื่นขอประกันตัว ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกัน
13 ก.ค.2558 ทนายยื่นประกันใหม่อีกครั้งและศาลทหารอนุญาต
21 ธ.ค.2558 ศาลนัดสอบคำให้การ และวินิจฉัยว่าข้อความไม่เข้ามาตรา 116 โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้บันทึกไว้ว่า

“ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 นอกจากรินดา และทนายความแล้ว วันนี้มีผู้สังเกตการณ์มาร่วมฟังพิจารณาคดีอีก 2 คน เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์โดยศาลยังไม่ได้ถามคำให้การรินดา ว่าจะให้การอย่างไร แต่อ่านคำฟ้องของโจทก์ และศาลพิเคราะห์แล้วเห็นเองว่า จากข้อความ "พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยาทุจริตภาษีประชาชน โอนเงินไปประเทศสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท" ไม่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นเพียงการหมิ่นประมาทโดยโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ 
"จากนั้นศาลถามทนายของรินดาว่าเห็นอย่างไร ทนายแถลงว่า คดีนี้ไม่ควรอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ส่วนจะไปอยู่ที่ศาลอาญาหรือไม่ คงเป็นเรื่องของการสู้คดีอีกที ขณะที่อัยการโจทก์ ออกไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชาบริเวณนอกห้องพิจารณาคดี  จากนั้นจึงกลับเข้าอีกครั้ง พร้อมอัยการอีกคน ศาลจึงอ่านคำฟ้องให้อัยการฟังอีกครั้ง และย้ำว่าคดีนี้ศาลเห็นว่าไม่เข้าข่าย ความผิดตามมาตรา 116 และศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดี อัยการจึงแถลงค้านต่อศาลสั้นๆ ว่า คดีนี้ศาลทหารมีอำนาจวินิจฉัยคดี เมื่อศาลเห็นว่าอัยการโจทก์ค้าน จึงขอส่งคำร้องไปให้ศาลอาญาพิจารณา ให้ระงับการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว  และรอฟังคำสั่งศาลอีกที ซึ่งหากศาลอาญาเห็นตรงกันกับศาลทหาร ก็จะจำหน่ายคดีไปให้ฟ้องที่ศาลอาญาแทน”
นี่เป็นคดีหนึ่งในสองคดีที่ศาลทหารวินิจฉัยเองว่าข้อความโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ นับเป็นการหมิ่นประมาทส่วนบุคคล ไม่เข้าข่ายความผิดฐานความมั่นคงอย่างมาตรา 116 อย่างไรก็ตาม มาตรานี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 แต่ไม่มากนักและไม่ค่อยได้ผลลัพธ์ทางกฎหมายหรือทางการเมืองเท่าไร ผิดกับหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการใช้ถี่ขึ้นและได้ผลหยุดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารได้ (ดูรายละเอียด)
ในเมื่อมาตรา 116 เป็นยักษ์ที่ออกมานอกตะเกียงและน่าจะอยู่กับสังคมไทยอีกนาน ประชาไทสนทนากับ ‘สาวตรี สุขศรี’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่าหลักการของมาตรานี้แท้จริงเป็นอย่างไร และการฟ้องคดีนี้สมเหตุสมผลในทางกฎหมายหรือไม่
“มาตรา 116 ทุกวันนี้ที่มีการใช้กันมากขึ้น หากจะนับก็ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา และมากขึ้นอีกหลังรัฐประหาร 2557 มันมีลักษณะที่คนทำงานในสายอาญาเห็นได้ว่า มาตรานี้กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แทนที่จะใช้ไปตามเจตนารมณ์ มีองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายกำหนด แต่รัฐกลับเอากฎหมายอาญามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
"เราไม่รู้หรอกว่าท้ายที่สุดจะตัดสินออกมาว่าผิดหรือไม่ แต่เมื่อตั้งข้อหานี้ มันให้ผลทางการเมือง ทุกคนจะไม่กล้า ทำไมโทษหนักขนาดนี้ จริงๆ คนที่เป็นนักกฎหมายอาญาควรออกมาพูดเรื่องนี้บ้าง กฎหมายที่คุณใช้หากินอยู่มันถูกเอาไปใช้ในทางการเมือง ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ถูกต้อง” สาวตรีกล่าว
“ที่สำคัญ พอมีพวกโซเชียลมีเดีย เขาก็จะใช้มาตรา 116 เยอะเพื่อไม่ให้คนแสดงความคิดเห็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มันอาจไม่พอ ต้องมีมาตรา 116 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 คสช.กำหนดให้ขึ้นศาลทหาร คนก็จะคิดว่าไม่พูดอะไรดีกว่า” สาวตรีกล่าว

สำหรับหลักการของมาตรา 116 นั้น สาวตรีอธิบายว่า โดยปกติใช้กับการลุกขึ้นมาป่าวประกาศทำอะไรสักอย่างหนึ่งหรือสื่อสารมวลชน แต่มาตรานี้มีองค์ประกอบของมัน จะผิดได้ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต สองคำนี้ตั้งอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญที่ออกมาออกมาเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จะผิดมาตรา 116 ได้ต้องเป็นความมุ่งหมายที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้กฎหมายยังมีวงเล็บหนึ่ง วงเล็บสอง วงเล็บสาม นั่นเป็นเหมือนเจตนาพิเศษ สิ่งที่พูดแล้วขัดกับระบอบประชาธิปไตย คุณมุ่งหมายที่จะ 1.ต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย รัฐบาล 2.ต้องการให้เกิดความปั่นป่วน
แรงจูงใจพิเศษตามมาตรานี้ เช่น กรณีที่มีกลุ่มประท้วงบอกว่าให้ทหารออกมายึดอำนาจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย อย่างนี้ผิดแน่นอน เพราะไม่ใช่ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย กรณีเพจดังกล่าวเราไม่รู้ว่าทหารและตำรวจใช้เหตุผลไหน โดยส่วนตัวไม่ว่าจะใช้ข้ออ้างไหนล้วนไม่เข้ามาตรา 116 เบื้องต้นยกตัวอย่างไว้ 3 แนวทาง
1.อ้างว่าเป็นเพจที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความวุ่นวาย – ขาดองค์ประกอบทำให้ไม่เข้ามาตรา 116 เพราะโดยปกติในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์ตัวกฎหมายเป็นเรื่องทำได้และต้องทำด้วย เพราะกฎหมายทุกฉบับต้องเป็นไปตามยุคสมัย และมันเป็นวัตถุแห่งการทำประชามติด้วยจึงต้องเปิดให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ เป็นวิถีทางประชาธิปไตย
2.อ้างว่าเป็นเพจต่อต้านรัฐบาล การทำงานของรัฐบาลด้วยการปลุกปั่นยุยง – ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 116 เช่นกัน เหตุผลคล้ายกับประเด็นแรก ที่สำคัญ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล นโยบาย นักการเมือง เป็นเรื่องทำได้ตามปกติในระบอบประชาธิปไตย หากบอกว่าทำไม่ได้เลย การชุมนุมไม่ว่าจะต่อต้านรัฐบาลไหนที่ผ่านมาก็ต้องผิดมาตรานี้หมด การวิพากษ์วิจารณ์ การล้อเลียนเสียดสีก็เป็นการทำให้คนฉุกคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลต้องทำได้อยู่แล้วในวิถีทางประชาธิปไตย การจะเข้ามาตรานี้ต้องยุยงด้วยว่าลุกขึ้นจับอาวุธ หรือกระทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สาวตรีบอกว่า ถามว่าในเขียนเพจ 'เชิญชวนประชาชนมาลอยกระทงยักษ์ ช่วยกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการ' ผิดไหม มองว่ายังขาดองค์ประกอบของการใช้กำลังข่มขืน ประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่ทั้งนี้มูลเหตุจูงใจก็ยังถูกคลุมด้วยองค์ประกอบหลัก คือ ต้องไม่เป็นไปในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การวิจารณ์หรือด่ารัฐบาล ถ้าตีความแบบเป็นธรรมที่สุดในระบอบประชาธิปไตย โดยอุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องไม่เข้า
3.อ้างว่าเป็นเพจหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ –เรื่องนี้ศาลเองก็เคยพูดไปแล้วว่าไม่เข้า ประเด็นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่รัฐบาล เป็นมนุษย์คนหนึ่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกยุคทุกสมัยก็โดนล้อเลียนเสียดสี ถามว่ากฎหมายคุ้มครองเกียรติยศ ชื่อเสียง ของคนเหล่านี้ไหม คำตอบคือ คุ้มครอง แต่ไม่ได้คุ้มครองแบบมาตรา 116 แต่คุ้มครองเรื่องการหมิ่นประมาทเท่านั้น
“จริงๆ คนเป็นบุคคลสาธารณะควรเปิดกว้างต่อการวิจารณ์ แต่ถ้าคุณอยากลุกขึ้นมาเอาเรื่องจริงๆ เต็มที่เลยคือ ข้อหาหมิ่นประมาท การเอาสิ่งนี้ซึ่งเป็นอาญาส่วนตัวมาเชื่อมโยงกับมาตรา 116 นี่คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ยกตัวเองขึ้นมาเหนือสถาบันทั้งหมดในประเทศนี้ เท่ากับบอกว่าคุณคือรัฐ หากแตะต้องจะกลายเป็นเรื่องความมั่นคง” สาวตรีกล่าว
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐

มาตรา ๑๔  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
ในกรณีที่ฟ้องในส่วนของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สาวตรีอธิบายว่า หากจะพอเข้าองค์ประกอบความผิดก็คือ มาตรา 16 เพราะเขียนไว้กว้างๆ เป็นเรื่องการตัดต่อภาพล้อเลียนทำให้อับอาย ทุกยุคทุกสมัยถ้านักการเมืองจะฟ้องก็ฟ้องได้ แต่ไม่มีใครเขาฟ้อง แต่ไม่ใช่มาตรา 14 ตามที่ตำรวจฟ้องอย่างแน่นอน เราต้องยืนยันว่าไม่ใช่ มาตรา 14(1) อันนี้โดยเจตนารมณ์ต้องการเอาผิดกับการทำฟิชชิ่งทางอินเทอร์เน็ต การหลอกลวง แต่มันถูกใช้และตีความเป็นหมิ่นประมาท เราต้องยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท
ขณะที่ มาตรา 14 (3) โยงเข้ากับกฎหมายอาญา แต่ถ้ายืนยันว่ากรณีแบบนี้ไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรานี้ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็โยงไม่ได้
เหลืออยู่อันเดียวคือ มาตรา 14(2) ซึ่งเขียนกว้างมาก ขึ้นอยู่กับการตีความมากๆ และอาจจะกว้างกว่ามาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นปัญหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เอง แต่อย่างไรก็ตาม โทษจำคุกของมาตรานี้ก็ยังน้อยกว่ามาตรา 116 อยู่ดี
"สังคมอาจเรียกร้องได้ว่า คุณเป็นบุคคลสาธารณะ ความอดทนอดกลั้นคุณต้องเยอะกว่าคนทั่วไป แต่หากเขาจะไม่อดทนอดกลั้นก็ได้เพียงมาตรา 16 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 10,000 บาท" สาวตรีกล่าว
มาตรา ๑๖  ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด
ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย


ปรากฏการณ์การบังคับใช้มาตรา 116 หลังการรัฐประหาร


หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มีการจับกุม และดำเนินคดีผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองกับคณะรัฐประหารจำนวนมาก นับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มีการนำข้อหามาตรา 116 มาใช้อย่างน้อย 10 คดี มีคนตกเป็นผู้ต้องหาอย่างน้อย 25 คน ดังนี้

1. คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง จากการให้สัมภาษณ์นักข่าวโจมตี คสช.ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

2. คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากการโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นัดหมายให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช. ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

3. คดีของชาวเชียงราย 3 คน ได้แก่ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จากการติดป้ายมีข้อความขอแบ่งแยกเป็นประเทศล้านนา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลจังหวัดเชียงราย

4. คดีของชัชวาลย์ นักข่าวอิสระจากจังหวัดลำพูน ที่รายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารผิดวัน จากวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ต่อมาศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากจำเลยเพียงนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

5. คดีของสิทธิทัศน์ และวชิร จากการโปรยใบปลิว ที่มีข้อความต่อต้าน คสช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

6. คดีของพลวัฒน์ จากการโปรยใบปลิวต่อต้านคสช. 4 แห่งในอ.เมือง จ.ระยอง ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

7. คดีของพันธ์ศักดิ์ จากการจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เพื่อเดินเรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 14-16 มีนาคม 2558 ปัจจุบันอัยการทหารสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 คดียังไม่มีวันนัดพิจารณา

8. คดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน จากการชุมนุมต่อต้าน คสช. และเรียกร้องหลักการ 5 ข้อ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนสอบสวน

10. คดีของชญาภา ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จากการโพสต์ข่าวลือว่าจะมีการรัฐประหารซ้อน ซึ่งโดนตั้งข้อหามาตรา 116 พร้อมกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ด้วย

11. คดีนางรินดา จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินหมื่นล้านไปสิงคโปร์ และตั้งข้อหามาตรา 116 กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top