0
ส่งตัว 6 จำเลยคดีนั่งรถไฟส่องราชภักดิ์ไปเรือนจำ ศาลทหารให้ประกันแต่มีเงื่อนไข
Posted: 25 Apr 2016 01:20 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)


ภาพจากทวิตเตอร์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เวลาประมาณ 14.00 น. ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้อัยการทหารสั่งฟ้องคดี ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งมีผู้ตกเป็นผู้ต้องหา 11 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2258 เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุมเกิน 5 คน โดยในวันนี้อัยการสั่งฟ้องทั้งหมด มีผู้มารับฟังคำสั่ง 6 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว, กิตติธัช สุมาลย์ หรือแชมป์ 1984, วิศรุต อนุกุลการย์, กรกนก คำตา และ วิจิตร หันหาบุญ หลังศาลรับฟ้อง จำเลยทั้ง 6 รายถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยเตรียมใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 40,000 บาท ขณะนี้กำลังรอให้ศาลแจ้งว่าต้องใช้หลักทรัพย์เท่าใด และจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่ คาดว่าจะทราบผลในช่วงเย็นนี้
ขณะที่อีก 5 รายไม่มาฟังคำสั่งในวันนี้ คือ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด, ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ หรือหนุ่ย, กรกช แสงเย็นพันธุ์ หรือปอ และ ธเนตร อนันตวงษ์ หรือตูน
ล่าสุดเมื่อเวลา 20.20 น. จำเลยทั้ง 6 คน ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง 


ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2558 นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน โดยสารไปกับขบวนรถไฟสายธนบุรี-หลังสวน ในกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ และถูกตัดตู้ขบวนที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง ก่อนถึงจุดหมายปลายทางที่อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนจำนวน 36 คน เพื่อสอบสวนกว่า 3 ชั่วโมง โดยปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าพบ ภายใต้การควบคุมตัวของทหารจนพลบค่ำ ผู้ถูกควบคุมตัวหลายคนตัดสินใจลงชื่อในเอกสารที่ทหารและตำรวจจัดเตรียมมายอมรับเงื่อนไขในการปล่อยตัวว่า จะไม่เคลื่อนไหว หรือให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ขณะที่อีก 11 คนยืนกรานไม่ลงชื่อในเอกสารใด ๆ ก่อนทั้งหมดจะปล่อยตัว ต่อมามี หมาย 11 คนที่ไม่ยอมเซ็นเอกสารให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี โดยมีการแจ้งข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ สถานที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มีโทษจำคุกถึง 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ผู้ต้องหาทั้งสี่ ได้แก่ นายอานนท์ นำภา ผู้ต้องหาที่ 2, นายกิตติธัช สุมาลย์ ผู้ต้องหาที่ 6, นายวิศรุต อนุกุลการย์ ผู้ต้องหาที่ 7, และนางสาวกรกนก คำตา ผู้ต้องหาที่ 10 เดินทางมายังสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ตามนัดของพนักงานสอบสวนเพื่อยื่นคำให้การเพิ่มเติม ในคดีนี้ ส่วนนายวิจิตร หันหาบุญ ผู้ต้องหาที่ 11 ในคดีเดียวกันได้มาที่สถานีตำรวจเช่นเดียวกันแต่ไม่ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติม จากนั้นทนายได้ยื่นคำให้การของผู้ต้องหาที่ 2, 6, 7, 10 แก่พนักงานสอบสวน เนื้อความในคำให้การยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยืนยันว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริต เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองแห่งสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

นอกจากนี้คำให้การระบุว่า องค์การสหประชาชาติ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรระหว่างประเทศทั่วโลกได้แสดงความเห็นว่าการนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ของผู้ต้องหาทั้ง 11 คนนั้นไม่เป็นความผิดฐานการชุมนุมทางการเมือง และให้ยุติการดำเนินคดีเสีย ส่วนคำให้การของกรกนกระบุเพิ่มเติมว่า การเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ ถึงเป็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการ อันเป็นสิทธิของประชาชนที่พึงกระทำ

ทนายความยังยื่นขอให้มีการสอบคำให้การพยานเพิ่มเติม โดยทนายจะติดต่อพยานให้มาให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งทางพนักงานสอบสวนได้แจ้งว่า การส่งสำนวนให้อัยการศาลทหารนั้น จำเป็นจะต้องส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 11 คนพร้อมกันด้วย มิฉะนั้นอัยการจะไม่รับฟ้อง จึงจะออกหมายเรียกนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, น.ส.ชนกนันท์, นายกรกช แสงเย็นพันธ์ และอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ผู้ต้องหาอีก5ราย ให้มารายงานตัวในวันที่ 11 ก.พ.นี้ เพื่อยื่นสำนวนและส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดแก่ศาลทหารกรุงเทพพร้อมกัน หากไม่มารายงานตัวจะดำเนินการออกหมายจับต่อไป
ระหว่างการพูดคุยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่งคอยถ่ายรูปผู้ต้องหาและทนายเป็นระยะ ในภายหลังมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบนายหนึ่งและนอกเครื่องแบบนายหนึ่งเข้ามาร่วมฟังด้วย ส่วนบริเวณใกล้สถานีตำรวจมีรถฮัมวีมาจอดหนึ่งคัน และเจ้าหน้าที่ทหารสี่นาย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2559 นายสิรวิชญ์ ซึ่งถูกทหารจับกุมกลางดึกวันที่20ม.ค. , น.ส.ชลธิชา , น.ส.ชนกนันท์ , และนายกรกช ผู้ต้องหาในคดีเดียวกันซึ่งถูกออกหมายจับเนื่องจากปฏิเสธไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จึงถูกควบคุมตัวไปยังศาลทหารกรุงเทพ แต่ศาลทหารยกคำร้องขอฝากขัง และมีการเพิกถอนหมายจับทั้งสี่คน ในวันเดียวกันอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ นักกิจกรรมอีกคนที่ถูกออกหมายจับก็ถูกควบคุมตัวข้ามคืนที่ สน. รถไฟธนบุรี และถูกควบคุมตัวไปยังศาลทหารกรุงเทพเพื่อยื่นคำร้องขอฝากขังในวันที่ 22 มกราคม แต่ศาลทหารยกคำร้องเช่นกัน

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top