0
2016-04-30_210109
พล.อ.อักษรา ยันกระบวนการพูดคุยสันติสุขยังคงดำเนินการต่อไป
Posted: 29 Apr 2016 11:06 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
พูดคุยสันติภาพอืด นายกยังไม่เห็นด้วยกับทีโออาร์ สองฝ่ายยังลงนามไม่ได้ 'มาราปาตานี' เผยไม่มีการแตะเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ประยุทธ์ยันรัฐบาลมีเจตนาต้องการแก้ไขปัญหา ระบุเหตุต้องไปคุยที่ต่างประเทศ เพราะเจรจากับใครไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญตามกฏหมาย

29 เม.ย.2559 จากกรณี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา บีบีซีไทย รายงานว่า อาบูฮาฟิส อัล ฮากีม แห่งกลุ่มมารา ปาตานี เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกับทีมพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยเมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) ว่า การพบปะกันหนนี้ที่ประชุมยังไม่ได้ตกลงเรื่องใดเป็นพิเศษ และไม่มีการร่วมลงนามในเอกสาร Term of reference (ทีโออาร์) หรือกติกาการพูดคุยอย่างที่คาดกันไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายไทยยังไม่พร้อมที่จะลงนาม โดยทีมไทยแจ้งกับที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ลงนามในเอกสารดังกล่าวซึ่งผ่านการร่วมร่างระหว่างตัวแทนของกลุ่มมารา ปาตานี กับคณะพูดคุยฝ่ายไทย และฝ่ายมาราฯได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว

ก่อนหน้านี้พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง อดีตเลขานุการคณะพูดคุยเปิดเผยว่า เอกสารนี้ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว และคาดว่าในการประชุมหนนี้ทั้งฝ่ายไทยและมาราฯคงจะเห็นชอบอย่างเป็นทางการและเริ่มพูดคุยในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญต่อไป โดยเรื่องที่อยู่ในหัวข้อก็คือเรื่องของการสร้างพื้นที่เขตปลอดภัยร่วมกันซึ่ง พล.ท.นักรบระบุก่อนหน้านี้ว่า จัดทำรายละเอียดข้อเสนอไว้เรียบร้อยแล้ว

อาบูฮาฟิสกล่าวผ่านเอกสารสรุปความคืบหน้าของการประชุมด้วยว่า ยังไม่ชัดเจนว่า ฝ่ายไทยต้องการจะกลับไปทบทวนร่างทีโออาร์เดิม หรือจะร่างใหม่ หรือว่าจะยกเลิกการพูดคุยทั้งหมด เมื่อไม่มีความคืบหน้าในเรื่องของการให้ความเห็นชอบกับทีโออาร์ ที่ประชุมก็ไม่ได้พูดคุยเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยตามที่ฝ่ายไทยเคยพูดไว้ว่าจะนำเสนอ

นอกจากนั้นเอกสารสรุปความคืบหน้าผลการประชุมของอาบูฮาฟิสแห่งกลุ่มมารา ปาตานียังกล่าวด้วยถึงกรณีการปรับย้ายพล.ท.นักรบ ออกจากคณะกรรมการพูดคุยฝ่ายไทยว่า ฝ่ายมาราเองรู้สึกว่า พล.ท.นักรบเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการพูดคุย มีความรู้ในเรื่องกระบวนการสันติภาพ เป็นหัวหน้าคณะกรรมการชุดเล็กที่ร่วมยกร่างทีโออาร์ การที่พล.ท.นักรบ ไม่อยู่ในกระบวนการทำให้รับรู้ได้ถึงผลกระทบ และมารา ปาตานีเห็นว่า ตราบใดที่ไม่มีการรับรองทีโออาร์ กระบวนการไม่อาจข้ามไปถึงขั้นตอนอื่นเช่นไม่สามารถหารือเรื่องสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเรื่องอื่นๆได้ ขณะเดียวกันก็บอกว่า ไม่ว่าฝ่ายไทยมีเหตุผลใดในอันที่ยังไม่พร้อมลงนามในทีโออาร์ มารา ปาตานี ก็ยินดีจะให้เวลาฝ่ายไทยอย่างเต็มที่ และการลงนามในทีโออาร์จะเป็นเครื่องสะท้อนถึงความเต็มใจและยึดมั่นในการดำเนินกระบวนการสันติภาพของฝ่ายไทย
 

ประยุทธ์ยันรัฐบาลมีเจตนาต้องการแก้ไขปัญหา

ขณะที่วันนี้ (29 เม.ย.59) สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้และการพูดคุยสันติสุข ว่า อยากฝากเตือนไปยังสื่อบางสำนักที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาดังกล่าว โดยไม่มีความเข้าใจและข้อมูลที่ชัดเจนถึงด้านความมั่นคง ด้านกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้ปัญหา จึงขอให้นำเสนออย่างรอบคอบและคำนึงถึงความมั่นคงในประเทศ
 
“ยืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนาต้องการแก้ไขปัญหา โดยต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งการแก้ปัญหา หากมีเจตนารมณ์ตรงกันก็สามารถแก้ปัญหาให้เสร็จไปได้ ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาด้วยว่าการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบผิดกฎหมายหรือไม่ รัฐบาลจึงไม่สามารถไปพูดคุยหรือเจรจาในประเทศได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูณ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า ขณะเดียวกันไม่สามารถรับข้อเสนอเรียกชื่อกลุ่มและการให้กำหนดการแก้ปัญหาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลต้องดำเนินการอยู่แล้ว ยืนยันว่าในส่วนของการพัฒนา การอำนวยความยุติธรรม รัฐบาลจะดูแลให้อย่างเต็มที่
 
“ประเทศไทยเจรจากับผู้กระทำความผิดไม่ได้ เอากฎหมายมาว่ากัน กระบวนการยุติธรรมมาว่ากันตรงนั้น คณะพูดคุยจึงเอาเรื่องนี้ไปคุยกัน แล้วเขายอมรับได้หรือไม่ ถ้ายอมรับได้ก็กลับมา แต่ทำไมเราต้องไปยอมรับกติกาการเรียกชื่อกลุ่ม ก็ไม่เห็นมีใครสนใจ และมีกี่กลุ่มทราบหรือไม่ ทำไมต้องไปคุยที่ต่างประเทศ เพราะเจรจากับใครไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญตามกฏหมาย จึงต้องไปคุยที่ต่างประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์  กล่าว
 

พล.อ.อักษรา ยันกระบวนการพูดคุยสันติสุขยังคงดำเนินการต่อไป

สำนักข่าวไทย ยังรายงานถึงคำชี้แจงของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ด้วย โดย พล.ท.อักษรา กล่าวว่า กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินการต่อไป และยังคงอยู่ในกรอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในระยะของการสร้างความไว้วางใจที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และไม่ได้หยุดชะงักแบบที่สื่อมวลชนบางสำนักและนักวิเคราะห์บางคนเข้าใจ โดยมีความพยายามนำไปเชื่อมโยงกับ พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยฯ ที่รับพระราชทานยศสูงขึ้น และปรับย้ายตามวาระ ทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ก็ได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับผู้แทนส่วนราชการอื่น ๆ ที่ส่งมาร่วมเป็นคณะพูดคุยรวม 8 หน่วยงาน และในห้วงนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนตามวาระกันหลายคน แต่ที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการพูดคุยฯ ยังคงเดินหน้าต่อไปตามปกติ และเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาคณะได้เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือ Party B แล้ว โดยตนได้ฝากความปรารถนาดีของนายกรัฐมนตรี และขอบคุณที่ทุกฝ่ายยังคงร่วมกันพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่ต่อไป
 
“​ทั้งนี้มีเรื่องเดียวที่ฝ่ายเราและฝ่ายผู้เห็นต่าง ยังมองไม่ตรงกันคือ ผมตั้งคณะทำงานเทคนิคให้ไปช่วยกันกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความไว้วางใจกับประชาชน แต่ทางฝ่ายผู้เห็นต่างอยากได้บันทึกข้อตกลงร่วม เหมือนกับที่ผมเคยเรียนแล้วว่าเขาไม่มีสถานะอะไร ในขณะที่ฝ่ายเรามีคำสั่งสำนักนายกฯ ชัดเจน  ผมจึงเรียนว่าสมควรพิสูจน์ความไว้วางใจกันก่อน เพราะบันทึกข้อตกลงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ ถ้าหากยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ สังคมจะไม่ไว้ใจกระบวนการพูดคุย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องยุติความรุนแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งให้ได้ก่อน แล้วจึงมาร่วมกันจัดทำข้อตกลงให้ครอบคลุมการปฏิบัติในห้วงเวลาของระยะการสร้างความไว้วางใจ” พล.อ.อักษรา กล่าว
 
พล.อ.อักษรา กล่าวด้วยว่า ​สิ่งที่เราพยายามดำเนินการคือความพยายามแยกกลุ่มผู้เห็นต่าง ที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ออกจากขบวนการผิดกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งกลุ่มผู้เห็นต่างก็มีความเข้าใจ คือ เมื่อไว้ใจแล้วก็จะเกิดความร่วมมือในการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันต่อไป ส่วนบันทึกข้อตกลงที่ดำเนินการมาแล้ว ฝ่ายเราจะได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปตรวจดูถ้อยคำไม่ให้ขัดแย้งต่อกฎหมายและกติกาสากล โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติจะนำเรียนให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน
 
“ขอให้มั่นใจว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขมิได้หยุดชะงักลงอย่างที่นักวิเคราะห์บางท่านได้ให้ความเห็นไว้ ยืนยันยังคงเดินหน้าต่อไปเหมือนเดิม” พล.อ.อักษรา กล่าว

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top