“ทักษิณ” ชี้ ไทยต้องประเมินจุดอ่อน-จุดแข็งตัวเองใหม่ วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญไม่ตอบโจทย์ประเทศในศตวรรษหน้า
เช้านี้ เฟซบุ๊กเพจ Oak Panthongtae Shinawatra เผยแพร่คำบรรยายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย บรรยายเรื่องความท้าทายของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันและทิศทางของประเทศไทย ที่ สถาบันนโยบายโลก มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุว่าสังคมในศตวรรษหน้าต้องมีเสถียรภาพทางการเมืองและศักยภาพทางเศรษฐกิจ จึงจะสร้างความก้าวหน้าและทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ โดยสิ่งที่ท้าทายของทุกประเทศในโลกคือ “สภาวะปกติใหม่ของโลกปัจจุบัน” (New Normal) ซึ่งความก้าวหน้าของเทคนิคและเทคโนโลยีการบริหารความมั่งคั่งสวนทางกับความสัมพันธ์ระหว่างทุนและวิธีการผลิต และรูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยอีคอมเมิร์ซได้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นในประเทศที่พัฒนาและกำลังพัฒนา
โดยนายทักษิณระบุว่าโมเดลการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งแบบ “ประชาธิปไตยแบบเปิด” หรือ “ระบบทุนนิยมซึ่งนําโดยรัฐ” ในรูปแบบของสาธารณรัฐประชาชนจีน ล้วนแต่ต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงใหม่จากความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบอุตสาหกรรม จากรูปแบบ “การผลิตสินค้าใน ประเทศเดียว” สู่ “ระบบเครือข่ายการออกแบบ การสรรหาปัจจัยการผลิต และการผลิตที่มีลักษณะข้ามชาติ และมีลักษณะกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้นายทักษิณระบุว่า ประเทศไทย ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความท้าทายใหม่ๆ นี้ และไทยต้องประเมินจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเองใหม่ และหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญของไทย เขาเห็นว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรษที่ 21 เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีปัญหาเรื่องการถ่วงดุลอำนาจอธิปไตย โดยได้กําหนดให้วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คนซึ่งจะถูกแต่งตั้งโดย “ผู้เชี่ยวชาญ” วุฒิสภาจะมีอํานาจมากยิ่งขึ้นในการยับยั้งการออกพระราชบัญญัติต่างๆ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีขอบเขตอํานาจในการตัดสินคดีที่มากยิ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอํานาจในการไต่สวนและวินิจฉัยคดี เมื่อมีบุคคลใดก็ตามได้ดําเนินการร้องเรียน โดยไม่ได้มีเงื่อนไขที่ว่ากรณีดังกล่าวต้องเป็นข้อพิพาทจริงที่องค์กรทางการเมืองหรือศาลอื่นได้ดําเนินการยื่นเรื่องแก่ศาลรัฐธรรมนูญ
“ผมหวังว่า คงจะไม่มีการใช้อํานาจตุลาการที่เกินกว่าความจําเป็นอีกในอนาคต กรณีศึกษาในประเทศต่างๆ ได้แสดงให้พวกเราเห็นว่า การใช้อํานาจพิจารณาทบทวนโดยศาล (Judicial Review) โดยไม่ได้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบ อาจกลาย เป็นการใช้อํานาจอย่างไม่เหมาะสมและเป็น “ยุทธวิธีเตะถ่วงงาน” จนสุดท้ายก่อให้เกิดอุปสรรคในการดําเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ” นายทักษิณกล่าวในช่วงท้ายของการบรรยาย
การบรรยายดังกล่าวที่จัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านจากประชาชนไทยบางส่วนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยคณะบรรณาธิการวารสารสถาบันนโยบายโลกได้แถลงถึงเหตุผลที่เชิญอดีตนายกรัฐมนตรีไทยว่า เป็นการรับฟังและศึกษาบุคคลที่มีความสำคัญในระดับโลกและเห็นว่านายทักษิณเป็นผู้มีบทบาทสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งแม้แต่ฝ่ายต่อต้านก็ต้องยอมรับในข้อนี้
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น
EmoticonClick to see the code!
To insert emoticon you must added at least one space before the code.