0

ยูเอ็น ชี้ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างและการให้ความเห็นชอบ รธน. แนะ กรธ. ตัด ม. 257 รับรองคำสั่งตามม. 44
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชน 10 ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญของไทยให้กับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) วานนี้ โดยชี้ว่ากระบวนการร่างและการเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ต้องเปิดให้ประชาชนและผู้มีบทบาทในการสื่อสารได้แสดงความเห็นและชุมนุมได้อย่างสันติ แนะตัดมาตรา 257 ในร่างฯ ที่รับรองความเห็นชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ชี้เป็นการตัดโอกาสผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเยียวยาการถูกละเมิด
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ชี้ว่าการรับรองสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องไปกับกฎหมายและกติการะหว่างประเทศนั้น ไม่ใช่เพียงแต่บรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในรัฐธรรมนูญแต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการรับรองรัฐธรรมนูญนั้นก็ต้องสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และการที่ประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่สำคัญทางการเมืองได้ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สาธารณชน สื่อมวลชน นักวิชาการ สมาชิกพรรคการเมือง สามารถแสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวต่อการถูกคุกคาม หรือจับกุม
“รัฐบาลต้องทำให้แน่ใจได้ว่าสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุมอย่างสงบ จะได้รับการคุ้มครอง”
สำหรับประเด็นต่างๆ ทั้ง 10 ประเด็นที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เสนอไปนั้นเป็นการเน้นย้ำให้ไทยกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยผูกพันตนเข้าเป็นภาคีอยู่ ได้แก่ สิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกันระหว่างคนสัญชาติไทยและคนสัญชาติอื่น การไม่เลือกปฏิบัติ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการปกป้องความเป็นส่วนตัว สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการรวมตัวและการชุมนุมอย่างสงบ สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมสาธารณะและสิทธิในการเลือกตั้ง และสิทธิชุมชน
ทั้งนี้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้เสนอให้ตัดมาตรา 257 ในร่างฯ ฉบับนี้ออก เพราะเป็นการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้า คสช. ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ทำให้ผู้นำทหารมีอำนาจโดยไม่ต้องถูกควบคุมด้วยกลไกตุลาการ มีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรมต่อพลเรือนตามปกติโดยปราศจากการตรวจสอบจากระบบตุลาการ รวมถึงมีอำนาจเหนือกว่ากฎหรือกติกาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่ให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เสนอว่าการนำบัญญัติส่วนนี้ออกไปเพื่อทำให้แน่ใจได้ว่า คำสั่งใดๆ ของ คสช. ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายหรือมีความต่อเนื่องหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบ
“ร่างฯ นี้จะต้องไม่ตัดความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอันเป็นผลมาจากการบังคับใช้มาตรา 44”


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top