“ประยุทธ์” ใช้ ม. 44 สั่งทหารมีอำนาจป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล
เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ให้อำนาจทหาร ป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลและการกระทำผิดอาญาบางประเภท ที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่า ให้ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง ให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้เป็น “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม”ส่วนข้าราชการทหาร ซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา รวมถึง ทหารประจำการ ทหารกองประจำการ และอาสาสมัครทหารพราน ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง ให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้เป็น “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม”
คำสั่งดังกล่าวระบุเหตุผลว่า มีบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดอาญาบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการข่มเหง ขู่เข็ญ รังแก หรือแสดงตนอันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเกรงกลัว ไม่กล้าขัดขืน หรือร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะเกรงภัยจะเกิดแก่ตน นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีบุคคลที่ดำรงชีพด้วยการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติด เป็นเจ้ามือพนัน มีพฤติการณ์ซ่องสุมอาวุธ
สำหรับความผิดที่อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ได้แก่ (1) กระทำความผิดโดยการข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น (2) แสดงตนให้บุคคลอื่นเกรงกลัว ไม่กล้าขัดขืนหรือร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการเพราะเกรงภัยจะเกิดแก่ตน (3) ดำรงชีพด้วยการกระทำผิดกฎหมาย การกระทำตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงการใช้ จ้างวาน หรือสนับสนุนด้วย
ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามมีอำนาจหน้าที่ (1) ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (2) จับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการต่อไป (3) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน โดยในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามเป็นพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (4) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทำความผิดหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่า จะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้ เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม (5) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบ และ (6) กระทำการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น