0
เผยสมรภูมิข่าวใต้เต็มไปด้วยนักข่าว “ที่ไม่ได้ทำข่าว” 

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้กล่าวกับบีบีซีไทยถึงเรื่องของการทำข่าวในพื้นที่ภาคใต้ในขณะนี้ว่า การทำข่าวในพื้นที่นี้ก็เหมือนการทำข่าวส่วนภูมิภาคที่อื่นที่มีปัญหาเรื่องการดูแลวางหลักเกณฑ์ให้กับคนทำอาชีพนักข่าว ซึ่งการอาศัยชื่อหรือความเป็นนักข่าวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เกิดขึ้นอย่างมากโดยที่ไม่มีองค์กรวิชาชีพใดหรือใครสามารถจัดการได้ จำนวนนักข่าวในนามมีมากกว่านักข่าวที่ทำงานจริง และมีการใช้ชื่อความเป็นนักข่าวไปแสวงหาผลประโยชน์

นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ยกตัวอย่างว่า ในสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ความขัดแย้งนั้น ปรากฏว่ามีคนที่มีบัตรแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชนจำนวนมาก “อย่างที่นราธิวาส มีบริษัทมีสำนักงาน ระบุว่ามีคนทำงานในทุกอำเภอ ผมนับไปนับมามีนักข่าวเฉพาะที่นราธิวาสที่เดียวตั้งห้าสิบคน แต่ไม่เห็นมีข่าวออกสักข่าว

เขาชี้ว่า มีธุรกิจบางรายจัดงานอบรมสั้นๆแล้วแจกประกาศนียบัตรให้ผู้เข้าร่วมได้เป็นนักข่าว โดยผู้เข้าอบรมต้องจ่ายเงินหลายพันบาท แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยยินยอมเสียเงินเพื่อให้ได้บัตรดังกล่าวเอาไว้ “คนในสามจังหวัดนี่นิยมกันมากเลยครับเรื่องแบบนี้ ถูกหลอกกันเยอะมาก”

“ยังมีสื่อหรือหนังสือพิมพ์แบบรายสะดวก เช่นปีหนึ่งออกสามหน” และมักใช้โอกาสสำคัญไปติดต่อขอรับ “การสนับสนุน” ต่างๆ “มีรายหนึ่งเราไปแจ้งความเอาไว้ เจ้าหน้าที่ก็จะเอาหมายนี้ไปปรินท์แล้วเอาภาพไปติดไว้หน้าห้องเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกรีดไถ” แต่ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ทำอย่างอื่นอีก

นายไชยยงค์ระบุว่า เขาเคยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบและจัดการคนที่อาศัยความเป็นนักข่าวไปใช้ในทิศทางที่ไม่สุจริต เช่นเคยมีการจับกุมผู้อ้างตนเป็นนักข่าวแต่มีส่วนในการค้าใต้ดินหรือแม้แต่ยาเสพติด รวมทั้งเอาผิดผู้สื่อข่าวที่เกี่ยวพันกับเรื่องของการค้าอาวุธ และนักข่าวอิสระที่มีส่วนในการตบทรัพย์หรือรีดไถชาวบ้านมาแล้ว

เขาระบุว่า ในพื้นที่ทำข่าวในภูมิภาคมีปัญหาเช่นนี้มากกว่าในส่วนกลางโดยเฉพาะกรุงเทพฯที่ผู้สื่อข่าวมีสังกัดชัดเจน นายไชยยงค์ชี้ว่า ในพื้นที่ภาคอีสาน มักมีปัญหาว่าผู้มีอิทธิพลเข้ามาเป็นเจ้าของสื่อที่ไม่ได้ทำรายงานข่าวจริงจัง แต่อาศัยสถานะนั้นๆไปมีส่วนในการทำสัญญารับจ้างทำงาน เช่นให้กับทางหน่วยราชการ แต่ปัญหาในภาคใต้กลับเป็นเรื่องที่ว่าคนที่ถือบัตรสื่อไปมีส่วนในเรื่องของการทำกิจกรรมนอกกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดมากกว่า

“ในภาคใต้ นักข่าวเถื่อนหรือนักข่าวผีมีจำนวนมากกว่านักข่าวจริงครับ อย่างที่สงขลา ผมนับไปนับมาคนทำงานข่าวมีอย่างมากไม่เกิน 50 แต่ถ้าวันไหนมีงานเลี้ยง จะมีนักข่าวไปร่วมงานถึง 200 คนก็มี”

เขาชี้ด้วยว่า ในพื้นที่ของความขัดแย้งการมีผู้สื่อข่าวที่ไม่ได้ทำข่าวแต่อาศัยบัตรแสดงตนไปทำอย่างอื่นนั้น จะทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสื่อโดยปริยาย ส่งผลให้การทำงานของสื่อทำได้ยากมากขึ้น นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้ระบุว่า ที่ผ่านมาสมาคมวิชาชีพสื่อในพื้นที่ส่วนกลางยังไม่ได้พยายามมากนักในอันที่จะจัดการกับปัญหานี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในส่วนกลางไม่พบปัญหานี้มากนัก เขาหวังว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อาจมีบางส่วนที่วางหลักเกณฑ์ชัดเจนในเรื่องของการทำงานสื่อเพื่อป้องกันปัญหาเช่นนี้ในอนาคต

อนึ่ง ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ มีผู้สื่อข่าวหลายรายพูดถึงการที่มีผู้อาศัยคราบความเป็นสื่อเพื่อไปหาข่าวหรือข้อมูล โดยหลายคนระบุว่าจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของนักข่าวและอาจทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจจนกลายเป็นอันตรายแก่ผู้สื่อข่าวเองได้

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top