จากภัยแล้งเจอน้ำมากเกิน: จีนเปิดเขื่อนระบายน้ำแก้ภัยแล้ง แต่ระดับน้ำเพิ่มกระทันหันทางการเตือนชาวบ้านสองฝั่งโขงเตรียมรับมือหวั่นเสียหาย
รัฐบาลจีนสั่งเปิดเขื่อนทางตอนใต้ของประเทศจีนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ระหว่างวันที่ 15 มี.ค.-1 เม.ย. ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในประเทศไทยขึ้นเร็วผิดปกติ ช่วงวันที่ 18-19 มี.ค. และมีประชาชนได้รับผลกระทบ ส่วนผู้แทนองค์การแม่น้ำนานาชาติเตือนรัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงสร้างกลไกการจัดการแม่น้ำโขงให้เป็นไปตามธรรมชาติ ขณะที่คณะรัฐบาลไทยเตรียมตัวเดินทางไปประชุมกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้างที่สาธารณรัฐประชาชนจีนในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนเริ่มเปิดเขื่อนจิ่งหง ทางใต้ของประเทศจีน เพื่อระบายน้ำสู่แม่น้ำล้านช้าง หรือลุ่มน้ำโขงตอนบน ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. โดยระบุว่าเป็นการปล่อยน้ำออกมาบรรเทาปัญหาภัยแล้งซึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ และคำสั่งดังกล่าวของรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตัวแทนจาก 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งจัดการประชุมครั้งที่ 43 ที่ประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 15-17 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการร่วมฯได้ออกแถลงการณ์แสดงความพอใจที่รัฐบาลจีนยอมระบายน้ำสู่แม่น้ำโขงในช่วงเวลาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยโดยส่วนอุทกวิทยา จ.หนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ แจ้งเตือนว่าระดับน้ำโขงในพื้นที่จะขึ้นเร็วผิดปกติ ช่วงระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค. โดยคาดว่าระดับน้ำโขงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เมตร ทำให้ตำรวจน้ำใน จ.หนองคาย ตระเวนแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูง
เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International River) ระบุว่าได้รับแจ้งจากกลุ่มประชาชนที่เป็นเครือข่ายองค์กรใน จ.มุกดาหาร ซึ่งประกอบกิจการร้านค้าริมหาดแม่น้ำโขงเริ่มเดือดร้อนเพราะน้ำเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทำให้ร้านค้าที่สร้างไว้ถูกน้ำท่วมเสียหาย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลง และผู้ที่ปลูกพืชและทำการเกษตรริมฝั่งโขงก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
เพียรพรระบุด้วยว่าการสร้างเขื่อนของรัฐบาลจีนในแม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งมีมากถึง 6 เขื่อน รวมถึงโครงการเขื่อนที่กำลังก่อสร้างอีก 4 เขื่อน จากจำนวนทั้งหมด 15 เขื่อน ทำให้แม่น้ำโขงไม่ได้ไหลอย่างอิสระหรือเป็นธรรมชาติเช่นในอดีต และปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประเทศไทย เป็นน้ำที่มาจากจีนสูงถึง 90-95 เปอร์เซ็นต์ในฤดูแล้ง หรือฤดูปัจจุบัน แต่ไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนท้ายน้ำต้องการ เพราะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมโขงไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ และสุดท้ายก็เป็นผู้ที่สูญเสียและได้รับผลกระทบ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต้องรีบสร้างกลไกให้เกิดการจัดการแม่น้ำโขงที่เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด และต้องสร้างสมดุลของระบบนิเวศให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนมากมายที่ใช้ทรัพยากรแม่น้ำนี้อยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองซานย่า และการประชุม Boao Forum for Asia ณ เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 22-24 มี.ค.
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น