คลิปวิดีโอสะท้อนความคิดในเรื่องการทำแท้ง
26 ก.ย. 2559 เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (ช้อยส์) และองค์กรภาคี ร่วมรณรงค์เพื่อสิทธิเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย โดยจัดเสวนา "คุยเรื่องแท้ง: คิดใหม่ มุมมองใหม่" เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องบริการสุขภาพและความเข้าใจของสังคมในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
อนึ่ง ปัจจุบันสถานการณ์ยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในประเทศไทย เพราะทัศนคติความเชื่อที่หล่อหลอม เช่น เรื่องบาปบุญคุณโทษ และถึงแม้ผู้ที่ทำแท้ง จะอยู่ในวัยทำงาน สามารถหารายได้เลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ก็ยังมักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนร่วมงาน ทั้งที่จริงแล้วกฎหมายอนุญาตให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ในหลายกรณี
ภาพบรรยากาศกิจกรรมเวิร์คช็อป ‘แท้งปลอดภัย 4.0’
ในช่วงเช้า มีการจัดเวิร์คช็อป ‘แท้งปลอดภัย 4.0’ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการทำแท้ง ผ่านการนำเสนอจุดยืนตั้งแต่ระดับ 1 เห็นด้วยน้อย- 4 เห็นด้วยมาก ของตัวเองจากการตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง เช่น คิดว่าการทำแท้งปลอดภัยหรือไม่ คิดว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ฯลฯ โดยผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้คำปรึกษาเรื่องเพศ พยาบาล และกลุ่มคนที่ทำงานประเด็นผู้หญิงหลายองค์กรประมาณ 120 คน โดยมีผู้เข้าร่วมที่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างน้อย และในวงเสวนาช่วงบ่าย มีการเจาะลึกถึงประเด็นการใช้- ผลกระทบจากยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด และการปรับเปลี่ยนความเชื่อที่มีต่อการทำแท้ง และผู้ที่ทำแท้ง
นพ.สัญญา ภัทราชัย สูตินารีแพทย์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ ในสมัยก่อนผู้หญิงเริ่มที่จะมีสิทธิในการคุมกำเนิด ซึ่งนับว่าเป็นสิทธิแรกๆ ที่ทำให้สังคมไทยเข้าใจว่า การมีเซ็กส์ไม่ได้จำเป็นต้องตั้งครรภ์เสมอไป อย่างไรก็ดีเรื่องการทำแท้งในไทย ยังคงเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก เพราะยาที่ใช้นั้นถูกควบคุมการใช้โดยกรมอนามัย ห้ามจำหน่ายในร้านขายยา และคุมเข้มเฉกเช่นยาเสพติด รวมทั้งผู้ให้บริการบางที่ก็ยังไม่เต็มใจทให้บริการ
โดยทั่วไป การยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้หากผู้หญิงมีปัญหาทางสุขภาพกายหรือจิต จนอาจก่อให้เกิดอันตราย, การตั้งครรภ์ที่เกิดจากความผิดอาญาทางเพศ ได้แก่ ข่มขืนกระทำชำเรา กระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการล่อลวง และการพบว่าตัวอ่อนในครรภ์มีภาวะผิดปกติ
‘ยาทำแท้ง’ปลอดภัยไม่ต่างจากพาราเซตามอล
สุพิชา เบาทิพย์ จากองค์กร Woman Help Woman กล่าวว่า การทำแท้งที่ปลอดภัยนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์ จนถึงอายุครรภ์ประมาณ 24 สัปดาห์ โดยการอม หรือสอดใส่ช่องคลอดด้วยยาไมเฟฟริสโตน 200 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาที่ช่วยหยุดฮอร์โมนที่สำคัญต่อตัวอ่อน ร่วมกับยาไมโซฟอสตอล 200 ไมโครกรัม ซึ่งยานี้จะทำให้เกิดการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อมดลูก ถ้าหากการทำแท้งนั้นสำเร็จ อาการแพ้ท้องที่มีอยู่จะหายไป และมีเลือดออกคล้ายประจำเดือน สามารถตรวจเพื่อให้แน่ใจโดยที่ตรวจครรภ์ ทั้งนี้ปัจจัยความสำเร็จในการทำแท้งนั้นขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ อายุครรภ์ที่มากก็อาจทำให้การทำแท้งนั้นยากขึ้นด้วยเช่นกัน
สุพิชากล่าวว่า การทำแท้งด้วยยาดังกล่าว มีความปลอดภัยถึงร้อยละ 98 ไม่ต่างอะไรกับการกินยาพาราเซตามอล ทั้งนี้ก็ยังมีข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่ไม่ควรใช้ยา ได้แก่ บุคคลที่ถูกบังคับให้ทำแท้ง, มีอายุครรภ์ที่มากเกินไป, แพ้ยาชนิดนี้, มีภาวะของโรคต่อมหมวกไตวาย โลหิตจางขั้นรุนแรงหรือเป็นหอบหืดขั้นรุนแรง, ใช้ห่วงคุมกำเนิด, ท้องนอกมดลูก, ไม่สามารถเดินทางไปถึงโรงพยาบาลได้ภายใน 1 ชั่วโมง หรืออาศัยอยู่คนเดียว โดยหลังจากการใช้ยา อาจทำให้มีผลข้างเคียงจากเล็กน้อย การอมในปากอาจทำให้มีผลข้างเคียงมากกว่าการสอดเข้าช่องคลอด แต่การอมจะช่วยไม่ให้แพทย์รู้ว่ามีความพยายามที่จะทำแท้ง นอกจากนี้ หลังใช้ยาอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอย่างเป็นไข้ อาเจียน มึนหัว และอาจปวดท้อง จุกเสียดร่วมด้วย แต่หากมีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น ใช้ผ้าอนามัยแบบหนาเต็ม 2 แผ่น ภายใน 1 ชั่วโมง, มีไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส หรือมีของเหลวที่กลิ่นและสีผิดปกติไหลออกจากช่องคลอด ก็อาจจำเป็นที่จะต้องพบแพทย์
การเดินทางยาคุมกำเนิด- ยายุติการตั้งครรภ์ในไทย
วราภรณ์ แช่มสนิท จากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศได้เล่าถึงพัฒนาการคุมกำเนิดในประเทศไทย ยาคุมกำเนิดเกิดขึ้นและใช้ครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2503 หลังจากนั้น 10 ปี ยาคุมกำเนิดได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่า จะต้องให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้เท่านั้น จะกระทั่งในปี 2515 และ 2517 จึงอนุญาตให้พยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านสามารถเป็นผู้จ่ายยาดังกล่าว และในปัจจุบัน เราจะพบว่า ผู้หญิงสามารถซื้อยาคุมกำเนิดได้ด้วยตัวเอง
“จำเป็นไหมที่ผู้หญิงทุกคนที่มีเซ็กส์ต้องเป็นแม่ หากเขาไม่พร้อม เขาก็ต้องสามารถตัดวงจรได้” วราภรณ์กล่าว
วราภรณ์กล่าวถึงกรณีการทำแท้งว่า ปัจจุบันมีประเทศที่ขึ้นทะเบียนยาทำแท้งดังกล่าวแล้วกว่า 61 ประเทศ เช่น ประเทศจีนเมื่อปี 2531 ไต้หวันเมื่อปี 2543 เวียดนามเมื่อปี 2545 ฯลฯ ในขณะที่ประเทศไทย ยาดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนไปเมื่อเดือนธันวาคม 2557 และเพิ่งเข้าไปอยู่ในรายชื่อบัญชียาหลัก จ (1) เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ วราภรณ์กล่าวว่า ความพยายามที่จะผลักดันยาชนิดนี้ในไทย เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2536 แต่ก็ล้มเหลวเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2540 ข้อมูลของการใช้ยาชนิดนี้เริ่มแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ ผู้หญิงที่ต้องการใช้ก็สามารถสั่งได้ทางอินเทอร์เน็ต จนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการศึกษาในเรื่องระบบการให้บริการอย่างจริงจัง และผลักดันให้ยาชนิดนี้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาหลังจากได้ขึ้นบัญชียาหลักแล้ว จึงได้มีการบรรจุแผงยาทั้งสองชนิดนี้ไว้ด้วยกัน โดยมีข้อบ่งชี้เพื่อการทำแท้ง
ถึงแม้ยาสองชนิดดังกล่าว จะสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ยังไม่พร้อมที่จะให้บริการ และถึงแม้จะให้บริการ และยังมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่น บางโรงพยาบาลเลือกทำแท้งให้เฉพาะคนที่การตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อร่างกาย อีกทั้งยาดังกล่าว ยังถูกกำหนดให้ใช้ในเฉพาะสถานการณ์บริการในโครงการพิเศษเท่านั้น
วาทกรรมสร้างความกลัว ‘ทำแท้ง = บาป’
กฤตยา อาชวนิจกุล จากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวว่า วาทกรรมของการทำแท้งนั้นมี 3 แบบคือ 1. Deserved abortion จะทำหากมีเหตุอันสมควรเช่น เพื่อสุขภาพทางกายและใจของผู้หญิง, การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากความผิดทางอาญา เช่น การข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัว ฯลฯ 2. Repeated abortion เป็นการทำแท้งซ้ำแล้วซ้ำอีก สังคมมักมีคำถามกับผู้หญิงที่ทำแท้งมากกว่า 1 ครั้ง ทั้งที่จริงๆ แล้วการทำแท้งก็เปรียบเสมือนการเป็นหวัดทางนรีเวช ทุกคนมีสิทธิทำได้โดยปราศจากข้อสงสัยของสังคม และ 3. Sex Selective abortion การทำแท้งเพื่อเลือกเพศของลูก ซึ่งพบมากในประเทศจีน อินเดีย และเกาหลีใต้
กุลกานต์ จินตกานนท์ ผู้หญิงที่เคยผ่านประสบการณ์ทำแท้งเล่าว่า เมื่อรู้ตัวว่าท้อง ก็รู้ทันทีว่าต้องทำแท้ง เพราะไม่สามารถเลี้ยงเด็กคนนี้ได้เนื่องจากทำงานและไม่มีคนที่พร้อมเลี้ยงดู แต่เพราะความกลัวบาป ความลังเลจึงเกิดขึ้นกับเธอตั้งแต่ตอนหาข้อมูลจนกระทั่งเดินทางไปที่คลินิกทำแท้ง ความรู้สึกโทษตัวเองเกิดขึ้นกับเธอตลอดเวลา ทั้งความคิดที่ว่า ทำไมถึงไม่คุมกำเนิด และความคิดที่ทับถมจากสังคมที่ล้วนตีตราต่อว่า ว่าทำไมเพียงแค่ลูกคนเดียว เธอจึงไม่สามารถเลี้ยงดูได้
“ขนาดตัวเราเอง ยังมองว่ามันบาป แล้วจะทำให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไรว่ามันไม่บาป” เธอกล่าว
นรากร ไหลหรั่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี เล่าถึงประสบการณ์ที่มีในฐานะครูว่า เด็กส่วนมากไม่กล้าที่จะเข้ามาปรึกษา เมื่อมีปัญหาเรื่องเพศ เพราะกลัวการถูกตราหน้า ขายหน้า ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน และกลัวว่าหากปรึกษาแล้วจะโดนไล่ออก ตลอดเวลาที่ผ่านมา วิชาเพศศึกษามักนำภาพโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภาพตัดขวางอวัยวะ ภาพการทำแท้ง ทำคลอดที่น่ากลัวให้เด็กดู และสอนว่า การทำแท้งนั้นเป็นการทำบาป จึงทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้กลไกการป้องกัน หรือการปฏิบัติที่ถูกวิธี
เขากล่าวว่า ถึงแม้โรงเรียนจะให้โอกาสเด็กที่ท้อง ได้ลาคลอดลูกและสามารถกลับมาเรียนต่อ แต่ร้อยละ 90 ของเด็กเหล่านั้นไม่กลับมาเรียนต่อ เด็กผู้หญิงส่วนมากต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก บางคนกลับมาเรียน ก็โดนแรงกดดันจากทั้งเพื่อนและครู จนต้องย้ายโรงเรียนเพื่อหนีปัญหา จนเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ลูกศิษย์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คนหนึ่งของนรากร ได้เข้ามาปรึกษาว่าตนเองท้อง และต้องการทำแท้ง เนื่องจากสอบติดมหาวิทยาลัยและต้องการเรียนต่อ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตระหนักถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อให้ลูกศิษย์ได้มีโอกาสในการศึกษาต่อ
ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนเข้าไม่ถึงการทำแท้งปลอดภัย
ถึงแม้จะมีการรณรงค์มาอย่างยาวนาน รวมทั้งปัจจุบันยาทำแท้งก็ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วก็ตาม แต่การเข้าถึงยาดังกล่าว ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แพทย์ รพ. รามาธิบดีกล่าวว่า แม้โรงพยาบาลรามาธิบดีจะมียาตัวนี้เพื่อให้กับผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ในทุกๆ วันอังคารและพฤหัสบดี แต่ด้วยเงื่อนไขที่ยังยุ่งยากของการใช้ยา จึงทำให้การเข้าถึงยาดังกล่าวไม่สามารถทำได้โดยทั่วไป อีกทั้งเงื่อนไขทางสังคมที่มี เช่น ศาสนา หรือผู้ให้บริการอย่างโรงพยาบาลเองก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบ่งชี้ในทุกข้อ โดยส่วนมากจะเลือกทำแท้งให้กับผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพ หรือรอให้ผู้หญิงแท้งเองมาก่อนแล้วจึงทำให้ นอกจากนี้ มีข้อกำหนดว่า หน่วยงานที่ต้องการใช้ยาจะต้องเขียนโครงการพิเศษเพื่อรับยา และหากเบิกใช้ยาจะต้องมีการเขียนรายงานส่งกรมอนามัยทุกครั้ง ซึ่งสร้างความยุ่งยากและเป็นเงื่อนไขที่ยังกำหนดอยู่ในปัจจุบัน
เยาวภา ลีอำนาจวงศ์
เยาวภา ลีอำนาจวงศ์ ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกกรุงเทพมหานครกล่าวกับประชาไทว่า คนหูหนวกส่วนมากอ่านได้ไม่เข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญคือต้องมีการใช้ภาษามือควบคู่ ต้องมีล่ามภาษามือเป็นคนช่วยแปล เพื่อให้คนหูหนวกได้มีข้อมูลในการตัดสินใจด้วยตัวเอง ที่ผ่านมากลุ่มคนหูหนวกมีปัญหาในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง โดยพวกเขาไม่รู้จะปรึกษาใคร จึงได้แต่เพียงแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มคนหูหนวก โดยอาศัยการตัดสินใจที่มาจากผู้ปกครอง เท่าที่รับรู้ คนหูหนวกจะเล่าต่อกันมา ว่าที่ไหนรับทำแท้ง และถึงแม้จะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่พวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องไป
เธอเล่าต่อว่า วิธีการทำแท้งส่วนมากที่คนหูหนวกทำ ยังคงใช้วิธีขึ้นขาหยั่ง และสอดเครื่องมือเหล็กเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อขูดมดลูก
“คนหูหนวกพอรู้ว่าท้องก็มักเล่าให้พ่อแม่ฟัง สมัยนั้นยังไม่มีการทำแท้งแบบถูกกฎหมาย คนไม่อยากให้เด็กหูหนวกท้องเพราะมองว่าไม่มีประสบการณ์เลี้ยงลูก วุฒิภาวะและอาชีพก็ไม่มี ควรพาไปทำแท้ง ก็หาว่าคลินิกรับทำไหม ถ้าไม่รับก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
“เท่าที่ฟังจากเพื่อนคนหูหนวก เขาบอกว่าแม่พาไปที่คลินิก ขึ้นขาหยั่ง คุยอะไรก็ไม่รู้กับหมอ เขาไม่รู้เรื่องเพราะแม่ไม่ใช้ภาษามือ สักพักหมอก็เอาเหล็กแหลมๆ เข้าไปแล้วขูดออก เจ็บมาก เสร็จแล้วมีตัวเด็กทารกออกมา ยังดิ้นได้ เขารู้สึกติดตาและไม่สบายใจ ฝังใจ และมักถามเธอว่า ‘บาปไหม’ ‘ทำถูกไหม’ ตลอดเวลา” เยาวภาเล่า
เธอเสริมว่า หากคนหูหนวกมีล่ามเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล ติดต่อโรงพยาบาล ตลอดจนช่วยแนะนำก็จะช่วยให้คนหูหนวกมีสิทธิในการตัดสินใจ เข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข