เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยเรียกร้องหยุดกักขัง 'ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวอุยกูร์' โดยไม่มีกำหนด
Posted: 22 Sep 2016 02:07 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
22 ก.ย. 2559 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชาวอุยกูร์จำนวน 10 คนหลบหนีออกจากห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย ซึ่งต่อมาทางพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวกลับมาได้ 9 คน เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการกักขังบุคคลหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวอุยกูร์โดยไม่มีกำหนด พร้อมเสนอให้พิจารณาทางเลือกอื่นที่มิใช่การควบคุมกักขังสำหรับผู้หนีภัยประหัตประหาร
"เหตุการณ์หลบหนีในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำถึงปัญหาการจัดการของรัฐบาลในการคัดแยกและให้การช่วยเหลือดูแลกลุ่มที่หนีการประหัตประหารจากประเทศของตนเอง นอกเหนือจากการเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อเป็นแรงงาน ทำให้กลุ่มคนที่หนีภัยประหัตประหารเหล่านี้ต้องอยู่ในห้องกักเป็นเวลานานโดยไม่รู้อนาคต ทำให้เกิดความกดดันและหลบหนี" เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ระบุ
แถลงการณ์ เรียกร้องขอให้ยุติการกักขังบุคคลหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวอุยกูร์โดยไม่มีกำหนด
CRSP ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมเป็นไปตามหลักการสากลในการปฏิบัติต่อผู้ต้องกักชาวอุยกูร์และชาติพันธุ์อื่นที่เดินทางเข้าประเทศด้วยเหตุผลแห่งภัยคุกคามต่อชีวิต หรือผู้ที่อาจได้รับการประเมินว่าเป็นผู้ลึ้ภัยจากการสู้รบหรือความเห็นต่างทางการเมือง
ตามที่เป็นข่าววันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลาประมาณ 03.00 นาฬิกา เกิดเหตุการณ์ชาวอุยกูร์จำนวน 10 คน หลบหนีออกจากห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย ซึ่งต่อมาทางพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวกลับมาได้ 9 คน
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 มีผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวอุยกูร์ในประเทศจำนวนมากกว่า 300 คนที่ถูกจับกุมได้บริเวณชายแดนมาเลเซียและชายแดนกัมพูชา ผู้ชายถูกส่งไปควบคุมตัวยังห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลายจังหวัด ผู้หญิงและเด็กถูกส่งให้บ้านพักเด็กและครอบครัว ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต่อมาในระหว่างเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2558 รัฐบาลไทยได้ดำเนินการส่งเด็กและผู้หญิงชาวอุยกูร์จำนวน 173 คน ไปประเทศตุรกี และวันที่ 8 ในเดือนเดียวกัน รัฐบาลได้ส่งชายและหญิงชาวอุยกูร์จำนวน 109 คน กลับประเทศจีน โดยที่ไม่ได้มีการแสดงหลักฐานที่ชัดเจนในการส่งตัวหญิงและเด็กชาวอุยกูร์ไปในประเทศตุรกีและชายไปประเทศจีน ส่วนชาวอุยกูร์ที่เหลือยังคงถูกควบคุมอยู่ในห้องกัก ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
เหตุการณ์หลบหนีในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำถึงปัญหาการจัดการของรัฐบาลในการคัดแยกและให้การช่วยเหลือดูแลกลุ่มที่หนีการประหัตประหารจากประเทศของตนเอง นอกเหนือจากการเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อเป็นแรงงาน ทำให้กลุ่มคนที่หนีภัยประหัตประหารเหล่านี้ต้องอยู่ในห้องกักเป็นเวลานานโดยไม่รู้อนาคต ทำให้เกิดความกดดันและหลบหนี เช่น เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาพยายามหลบหนีในหลายครั้งที่ผ่านมา หรือชาวอุยกูร์ที่หลบหนีออกจากด่านตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดสงขลา และอาจจะเกิดความพยายามหลบหนีในอนาคตต่อไป
เครือข่ายสิทธิผู้อพยพลี้ภัยและคนไร้รัฐซึ่งเป็นเครือข่ายฯ ที่ติดตามสถานการณ์ชาวอุยกูร์และคนไร้รัฐอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย
1. ขอให้ทบทวนและแก้ไขแนวทางปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้สอดคล้องกับสถานะของกลุ่มบุคคลที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้แสวงหาที่หลบภัย หรือผู้ลี้ภัย โดยนำหลักการจากอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพผู้ลี้ภัย ปี ค.ศ.1951 รวมถึงเป็นไปตามหลักการห้ามผลักดันกลับไปสู่อันตราย หลักการห้ามทรมาน มาปรับใช้เพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้หนีภัยประหัตประหาร เช่น ผู้อพยพชาวโรฮิงญา ชาวอุยกูร์ หรือกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ
2. ขอให้พิจารณาทางเลือกอื่นที่มิใช่การควบคุมกักขัง Alternative to Detention สำหรับผู้หนีภัยประหัตประหาร เช่น การผ่อนผันให้อยู่ภายในประเทศชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายภายใน ทั้งนี้รัฐบาลควรประสานงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศและภาคประชาสังคมเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามหลักการสากลที่มุ่งปกป้องสิทธิมนุษยชน และกฎหมายภายในของไทย
การกักขังอย่างไม่มีกำหนดคือการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน
เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons)
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น