0
มาเลเซียส่งแรงงานผิดกฎหมายชาวพม่า 138 คนกลับประเทศ ตามนโยบายนิรโทษกรรม

Posted: 25 Sep 2016 04:12 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท

แรงงานผิดกฎหมายชาวพม่า 138 คน ที่ถูกควบคุมตัวในมาเลเซียถูกส่งกลับประเทศแล้ว ยอดส่งกลับรวม 1,099 คน ยังเหลืออีก 2,294 คนในค่าย 11 แห่ง ปัจจุบันมาเลเซียกำลังเร่งนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย เส้นตาย 31 ธ.ค. 2559 ซึ่งหากไม่เข้าร่วมโครงการจะต้องถูกจับกุม ควบคุมตัวและส่งกลับประเทศ


ภาพประกอบแรงงานพม่าทำงานภาคก่อสร้างในปีนังประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2552 (ที่มาภาพ: irinnews.org)

25 ก.ย. 2559 สำนักข่าว Xinhua รายงานว่าแรงงานชาวพม่า 138 คน ที่ถูกควบคุมตัวในมาเลเซียถูกส่งกลับประเทศแล้ว จากการรายงานของสื่อในพม่าเมื่อวันศุกร์ (23 ก.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่าภายใต้ความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชน 2 แห่ง พวกเขาได้รับเอกสารสำคัญประจำตัวแทนหนังสือเดินทาง และเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียกลับถึงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ

การส่งกลับ 138 คนนี้ ทำให้ ณ ปัจจุบันมาเลเซียส่งแรงงานชาวพม่ากลับแล้วรวม 1,099 คน และยังเหลือแรงงานพม่าที่ถูกควบคุมตัวด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไปอีก 2,294 คน ในค่าย 11 แห่ง ทั่วประเทศมาเลเซียด้านกระทรวงแรงงาน, การย้ายถิ่น และประชากร ของพม่าระบุว่ากำลังร่วมมือกับมาเลเซียเพื่อในให้ความคุ้มครองแรงงานพม่าที่ไปทำงานยังมาเลเซีย

เร่งนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย เส้นตาย 31 ธ.ค. 2559 นี้

ปัจจุบันมาเลเซียอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย (Rehiring and Relocation Illegal Immigrant Programme) ที่มีระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ 15 ก.พ. 2559 จนถึง 31 ธ.ค. 2559 โดยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ทำงานในมาเลเซียที่อยู่เกินเวลาที่ได้รับอนุญาต (Overstay) ได้เสียค่าปรับ และจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน และได้รับใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง สำหรับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ไม่เข้าร่วมโครงการนิรโทษกรรมฯ รัฐบาลจะเร่งรัดจับกุมอย่างเข้มงวด ควบคุมตัวและส่งกลับประเทศ

ทั้งนี้คุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการนิรโทษกรรม แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภท A(i) แรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานประเภท Visit Pass Temporary Employment แต่ใบอนุญาตฯ หมดอายุแล้ว แต่ยังคงทำงานต่อกับนายจ้างเดิม (ที่มีชื่อระบุในใบอนุญาตทำงาน) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และต้องครบ 6 เดือนก่อนวันที่ 15 ก.พ. 2559 (สรุปง่ายๆ คือ เข้ามาทำงานแบบถูกต้อง มี Work Permit แต่เมื่อ Work Permit หมดอายุแล้วไม่กลับประเทศ ยังทำงานกับนายจ้างรายเดิม) 2. ประเภท A(ii) แรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานประเภท Visit Pass Temporary Employment แต่ใบอนุญาตฯ หมดอายุแล้ว และยังคงทำงานต่อ แต่ไม่ได้ทำงานกับนายจ้างรายเดิม โดยทำงานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และต้องครบ 6 เดือนก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 (สรุปง่ายๆ คือ เข้ามาทำงานแบบถูกต้องมี Work Permit แต่เมื่อ Work Permit หมดอายุแล้วไม่กลับประเทศ และเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่) และ 3. ประเภท B แรงงานต่างชาติที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยว (Social Visit Pass) ทำงาน และ วีซ่าท่องเที่ยวหมดอายุก่อนวันที่ 1 ก.ย. 2558 โดยได้ทำงานกับนายจ้างปัจจุบันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และต้องครบ 6 เดือนก่อนวันที่ 15 ก.ย. 2559 (การเข้ามาทำงานแบบไม่มี Work Permit และอยู่เกินระยะเวลาที่อนุญาตให้เข้ามาท่องเที่ยว)

นอกจากนี้ มาเลเซียจะไม่อนุญาตให้บุคคลต่อไปนี้เข้าร่วมโครงการฯ (1) ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียโดยไม่ได้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอย่างถูกต้องและไม่มีเอกสารเดินทางที่ถูกต้อง (2) เคยมี Work Permit แต่หลบหนีนายจ้างรายเดิม (3) เคยมี Work Permit แต่หนังสือเดินทางหมดอายุ (4) ได้รับอนุมัติวีซ่าประเภทอื่น เช่น วีซ่านักศึกษา และ Employment Pass นอกจากนี้นายจ้างและลูกจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเสียค่าปรับและผ่านหลักเกณฑ์มาตรฐานเช่นเดียวกับการจ้างงานแรงงานต่างชาติที่มีอยู่เดิม เช่น ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมจ้างงานแรงงานต่างชาติ (Levy) ต้องผ่านการตรวจสุขภาพ ไม่มีประวัติอาชญากรรม หรือไม่เคยลงทะเบียนโครงการนิรโทษกรรม (6P) เป็นต้น


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top