0
ปิดฉากพาราลิมปิก ไทยคว้า 18 เหรียญ สูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย
Posted: 24 Sep 2016 07:51 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)  
จบแล้วพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ไทยคว้า 6 ทอง 6 เงิน 6 ทองแดงสูงสุดในประวัติศาสตร์ ด้านตั๊น จิตภัสร์ ส่งจดหมายเรียกร้องประยุทธ์หนุนเงินนักกีฬาพิการเท่านักกีฬาโอลิมปิก หลังพบเงินอัดฉีดน้อยกว่า


(ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ พก. )

24 ก.ย. 2559 ประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) รายงานผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทนนักกีฬาพาราลิมปิกได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.), คณะผู้บริหาร, ข้าราชการ พร้อมด้วยผู้บริหารจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย และประชาชนชาวไทยมาร่วมให้กำลังใจและต้อนรับกันอย่างหนาแน่น หลังปิดฉากพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิลไปแล้ว ณ สนาม มาราคานา สเตเดียม ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 19 ก.ย. ตามเวลาไทย
ในการแข่งขันครั้งนี้ ตัวแทนนักกีฬาไทยคว้าเหรียญรางวัลทั้งหมด 18 เหรียญแบ่งเป็น 6 เหรียญทอง 6 เหรียญเงินและ 6 เหรียญทองแดง รั้งอันดับ 23 ในตารางพาราลิมปิกเกมส์ ซึ่งนับว่าสูงสุดในประวัติการณ์พาราลิมปิกไทย
นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้มีทั้งหมด 46 คน ประกอบไปด้วย 10 ชนิดกีฬาได้แก่ กรีฑาแบบลู่-ลาน, ว่ายน้ำ, ยิงธนู, ยิงปืน, เทเบิล เทนนิส, วีลแชร์เทนนิส, วีลแชร์ฟันดาบหญิง-ชาย, บอคเซีย, ยกน้ำหนักและยูโด


(ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Paralympic Thailand (Thai Para Athletes))

เหรียญทองทั้ง 6 เหรียญมาจากหลายชนิดกีฬา โดยเหรียญแรกมาจากผลงานของ ประวัติ วะโฮรัมย์ จากการแข่งขันวีลแชร์ เรซซิ่ง 5,000 เมตรชาย, พงศกร แปยอ จากวีลแชร์ เรซซิ่ง 400 เมตรชาย, บอคเซีย ประเภททีมผสม บีซี 1-2, ประวัติ วะโฮรัมย์ วีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร, พงศกร แปยอ วีลแชร์ 800 เมตรชายและจากบอคเซียประเภทบุคคล บีซี 2 โดย วัชรพล วงษา ตามลำดับ
ส่วนของเหรียญเงินเหรียญแรกนั้นได้จาก พงศกร แปยอ กีฬาวีลแชร์ เรซซิ่ง 100 เมตรชาย ตามมาด้วยสายสุนีย์ จ๊ะนะนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบเอเป้, หาญฤชัย เนตรศิริ นักกีฬากีฬายิงธนู, สายชล คนเจน จากกีฬา วีลแชร์ เรซซิ่ง 800 เมตรชาย , บอคเซียประเภทบุคคล วรวุฒิ แสงอำภา และ วีลแชร์ เรซซิ่ง ผลัด 4x400 เมตรชาย รวมทั้งสิ้น 6 เหรียญตามลำดับ
สำหรับเหรียญทองแดง รุ่งโรจน์ ไทยนิยม คว้าเหรียญรางวัลแรกจากกีฬาเทเบิล เทนนิส ในประเภทชายเดี่ยวคลาส 6 ตามมาด้วยทีมบอคเซียประเภททีม บีซี 4ได้แก่ นวลจันทร์ พลศิลา, พรโชค ลาภเย็น และเฉลิมพล ตันบุตร, พิชญา คูรัตนศิริ จากกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตรชาย คลาสที 52, พรโชค ลาภเย็น จากกีฬาบอคเซีย, ยุทธจักร กลิ่นบานชื่น และ อนุรักษ์ ลาววงษ์ จากการแข่งขันเทเบิลเทนนิสคู่ และสายชล คนเจน จากกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตรชาย ที 54 ตามลำดับ


โจนาธาน บาสตอส
(ที่มาภาพ” เพจเฟซบุ๊ก Paralympic Thailand (Thai Para Athletes))

ภาพบรรยากาศพิธีปิดพาราลิมปิกเกมส์ 2016
(ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Paralympic Thailand (Thai Para Athletes) )

ในพิธีปิดมีการแสดงจากนักดนตรีซึ่งไม่มีแขนมาตั้งแต่กำเนิด โดยเขาใช้เท้าเล่นเครื่องดนตรี จากนั้น ริคาร์ดินโญ สตาร์ฟุตบอล 5 คน ชุดเหรียญทอง ก็ได้ทำหน้าที่ถือธงชาติบราซิล เดินลงสู่สนาม ทั้งนี้ ได้มีการร่วมไว้อาลัยแก่ บาห์มัน โกลบาร์เนซาด นักกีฬาชาวอิหร่าน ซึ่งเสียชีวิตขณะแข่งขันเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ในประเภทกีฬาจักรยาน C4-5 แต่กลับพลัดตกจากรถ ทำให้ศีรษะกระแทกกับหินอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

คลิปวีดีโอพิธีปิดการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 2016
อย่างไรก็ดี หลังจากตัวแทนนักกีฬาเดินทางกลับได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเงินอัดฉีดนักกีฬาที่ได้น้อยกว่านักกีฬาโอลิมปิก โดยเว็บไซต์ผู้จัดการ  รายงานว่า จิตภัสร์ กฤดากร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผลักดันเงินสนับสนุนนักกีฬาคนพิการในกีฬาพาราลิมปิกเทียบเท่านักกีฬาโอลิมปิก โดยมีศิลปิน ดารา คนในแวดวงสังคม ช่วยแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ในส่วนเนื้อหาจดหมายระบุไว้บางตอนว่า “เงินอัดฉีดและรางวัลสนับสนุนนักกีฬาพาราลิมปิกเกมส์จากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาตินั้น ยังมีความเหลื่อมล้ำและมีสัดส่วนที่ไม่เท่าเทียมกัน เมื่อเปรียบเทียบกับนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ทั้งที่นักกีฬาผู้พิการเหล่านั้น ล้วนทุ่มเท มุ่งมั่น ตั้งใจฝึกซ้อม และลงแข่งขันด้วยน้ำใจนักกีฬาในฐานะตัวแทนของประเทศไทย อันสมควรแก่การได้รับการเกียรติ ยกย่อง เชิดชู รวมถึงได้รับการสนับสนุน เฉกเช่นเดียวกับนักกีฬาปกติทั่วไป

“ดิฉันจึงขอเป็นกระบอกเสียงแทนนักกีฬาผู้พิการและประชาชนผู้ที่เห็นพ้องกับ เรื่องดังกล่าว ขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาล ผลักดันเงินอัดฉีดและรางวัลสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติของนัก กีฬาพาราลิมปิกเกมส์ให้สมเกียรติ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เท่าเทียมกับนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โดยข้อมูลจากเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า ‘ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร’ นั้นระบุเม็ดเงินอัดฉีดจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ในส่วนของพาราลิมปิคเกมส์ เหรียญทอง 7.2 ล้านบาท เหรียญเงิน 4.8 ล้านบาท เหรียญ ทองแดง 3 ล้านบาท แต่โอลิมปิกเกมส์ เหรียญทอง 12 ล้านบาท เหรียญเงิน 7.2 ล้านบาท เหรียญทองแดง 4.8 ล้านบาท ซึ่งได้มากกว่าเกือบเท่าตัว”
นอกจากนี้ ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า บริษัทสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ยังได้มอบเงินอัดฉีดให้กับทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย โดยแบ่งเป็นเงินอัดฉีดพิเศษให้กับนักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัล เหรียญทอง 1 ล้านบาท, เหรียญเงิน 5 แสนบาท และเหรียญทองแดง 3 แสนบาท ซึ่งจากผลงานเหรียญทั้งหมดนั้น ทำให้เงินอัดฉีดมีมูลค่ากว่า 10,800,000 บาท อีกทั้งยังได้มอบเงินรางวัลให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกคนรวมทั้งหมด 84 คน อีกคนละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,360,000 บาท ทำให้ยอดรวมเงินรางวัลที่นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยได้รับไปในครั้งนี้เป็นเงิน 14,610,000 บาท


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top