0
รายงานเสวนา กึ่งศตวรรษ เปาโล แฟร์ : แด่ผู้ถูกกดขี่ในระบบการศึกษาไทย
Posted: 22 Sep 2016 11:30 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่ามา กลุ่มพลเรียน และกลุ่มลานยิ้ม  ร่วมกับ ภาควิชาพื้นฐานการศึกษาและศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานชุดเสวนาการศึกษา ประชาธิปไตย การกดขี่ และการวิพากษ์  ครั้งที่ 2 หัวข้อ “กึ่งศตวรรษ เปาโล แฟร์ : แด่ผู้ถูกกดขี่ในระบบการศึกษาไทย” ที่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้จัดได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาครั้งนี้ ว่าเป็นการพูดถึง เปาโล แฟร์  (Paulo Freire ) นักการศึกษาที่สำคัญคนหนึ่งของโลก เขาได้แต่งหนังสือ “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” (Pedagogy of the Oppressed)  และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายในโลกเกิดการลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และเปลี่ยนแปลงสังคม  นอกจากนี้งานเสวนาครั้งนี้ยังเป็นการชวนมองและตั้งคำถามต่อการกดขี่ในระบบการศึกษาไทยอีกด้วย
โดยในช่วงแรกเป็นการปาฐกถาโดย คุณพ่อ ซีริล นิพจน์ เทียนวิหาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน  และช่วงที่สองเป็นการเสวนากับ วิจักขณ์ พาณิช ผู้แปลหนังสือ “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และ ธีรพงษ์ ภักดีสาร นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  (กลุ่มพลเรียน)  โดยมี นันท์นภัส แสงฮอง จาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการครั้งนี้

ช่วงที่ 1 ปาฐกถา “กึ่งศตวรรษ เปาโล แฟร์ :แด่ผู้ถูกกดขี่ในระบบการศึกษาไทย”

คุณพ่อนิพจน์ได้เริ่มต้นการปาฐกถาว่า การเกิดขึ้นของเปาโล แฟร์ ในปี 1960 เชื่อมโยงกับการปฏิวัติศาสนาในขณะนั้นเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อยในขณะนั้นเช่นเดียวกัน จึงเป็นการสร้างขึ้นที่มีฐานมาจากปรัชญาเดียวกัน และได้ชี้ให้เห็นว่าในขณะนั้นมีนักบวชหลายๆคนที่ออกเดินทางเพื่อแสวงหา ปัญหาของประชาชน จนหลายคนกลับใจมาอยู่ข้างประชาชนไม่ได้ฝักใฝ่กับผู้มีอำนาจต่อไป
“หนุ่มสาวทั้งหลายเอ๋ยการเลือกอยู่ข้างคนจนและข้างคนภูกกดขี่คือการอยู่อย่างมีความหมาย” เป็นคำคมที่คุณพ่อนิพจน์ฝากไว้และเป็นประโยคเตือนใจว่าเราต้องค้นหาพื้นที่ที่ทำให้เรามีความหมาย และจะทำให้เรามีความสุข บนกระบวนทัศน์ของเรา รวมถึงตระหนักว่าเราเรียนทุกวันนี้เพื่อไปรับใช้ใคร ถ้าเรารู้เราก็จะมีเป้าหมายที่ถูกต้อง
คุณพ่อนิพจน์ ยังกล่าวต่อไปว่า เปาโล แฟร์ เสนอว่าเราต้องหาพื้นที่นั้นให้เจอเพื่อเอาหัวใจของประชาชนออกมาให้ได้  เปาโล แฟร์พูดชัดว่า “คนจน” กลัวกลไกการเมืองของรัฐมาก ดังนั้นเราต้องมีหัวใจในพื้นที่คงไว้ หมายความว่า เราส่งหัวใจคือลูกหลานของเราออกไปศึกษาอะไรต่อมิอะไรออกไปแล้ว แต่เราต้องได้นักศึกษาที่เป็นลูกหลานของเรา ไม่ใช่ลูกหลานของเขา จึงจะทำให้พื้นที่อยู่รอดได้ และจะทำให้ไม่ถูกกดขี่อีกต่อไป เพราะเราจะมีกระบวนการที่สามารถต่อรอง เลือกเดินได้ว่าจะไปซ้ายหรือจะไปขวา นี่เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างมาก
ทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่าแนวคิดของเปาโล แฟร์ เป็นแนวคิดที่จะก่อให้เกิดกระบวนการต่อสู้กับกระแสหลักได้ นั่นก็หมายความว่าเราทุกคนต่างมีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมของตนเอง และเป็นหลักที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้ โลกทัศน์มุมใหม่ยิ่งขึ้น ทำไมเราต้องเรียนเพื่อการปลดปล่อยก็เพื่อให้บ้านเมืองของเรา โลกของเรามีอนาคต
ดังนั้นการศึกษาเพื่อการปลดปล่อยก็คือการศึกษาที่ต้องทำให้คนมีสำนึก จิตสำนึกที่ว่าจะนำไปสู่การลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบที่กดขี่เราเอาไว้  ทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่เปาโล แฟร์เสนอไว้และเป็นมรดกที่จะทำให้เกิดคุณค่าและความหมายต่อไป

ช่วงที่ 2  เสวนาหัวข้อ “เปาโล แฟร์ กับการศึกษาไทย”

คำถามแรก : รู้จักเปาโล แฟร์และสนใจเขาอย่างไร
พฤหัส : ผมทำงานด้านการศึกษามาพอสมควร โดยใช้การละครเป็นหลัก ทำไปสักพักก็พอว่าสิ่งที่เราทำนี้มีทฤษฎีหรือความคิดรองรับอยู่ คือ “ละครสำหรับผู้ถูกกดขี่” นั่นเอง ซึ่งใกล้เคียงกับแนวคิดของเปาโล แฟร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากกับนักกิจกรรมในไทยและทั่วโลกซึ่งถูกพัฒนาในรูปการปฏิบัติต่างๆ และยอมรับเลยว่าทัศนคติผมเปลี่ยนไปจากการเดิมที่จะเอาความรู้ไปให้ชาวบ้าน เปลี่ยนเป็นไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จึงกล่าวได้ว่าแนวคิดของเปา โลแฟร์ เด่นชัดมากในสังคมปัจจุบันนี้
วิจักขณ์ : ผมคิดว่าคงยังมีนักศึกษาบางคนไม่รู้จักเปาโล แฟร์ จึงขออ่านโควทประโยคในเบื้องต้น การปลดปล่อยตัวเองและผู้กดขี่นั้นคือหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในทางมนุษยนิยมของผู้ถูกกดขี่ ผู้กดขี่ซึ่งใช้พลังของตนไปกับการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบและช่วงชิง ไม่อาจค้นพบความเข้มแข็งหรือปลดปล่อยตัวเองได้ จะมีก็แต่พลังความอ่อนแอจากผู้ถูกกดขี่เท่านั้นที่ถูกถักทอจนปลดปล่อยให้เป็นอิสระ จุดเริ่มต้นของความสนใจงานเปาโล แฟร์ ของผมเกิดจากการที่เรียนจบมาแล้วไม่ทราบว่าจะเอาประสบการณ์ทั้งหมดที่ร่ำเรียนมาไปใช้อย่างไร
งานของเปาโล แฟร์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจและมีจินตนาการที่กว้างออกไปมากยิ่งขึ้น ทำให้เราเห็นว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง เป็นการครอบงำได้ ยกตัวอย่างเช่น ชาวเขาบางกลุ่มอาจถูกการศึกษาเข้าครอบงำและถูกกลืนให้เป็นคนส่วนใหญ่ ความเป็นชาวเขาก็หายไปนั่นเอง อย่างไรก็ดีผมสงสัยว่าคนที่สนใจให้ความสำคัญกับหนังสือของเปาโล แฟร์ กลายเป็นคนที่มาสนับสนุนรัฐประหารได้ การแปลหนังสือเล่มนี้จึงเกิดขึ้
ธีรพงษ์ : ผมเพิ่งมารู้จักเปาโล แฟร์เอาตอนเรียนปีสามปีสี่แล้ว มันเกิดจากการที่เรารู้สึกตื่นตัวในเรื่องของสิทธิในการแสดงความคิดเห็น พอเราแสดงความคิดเห็นออกไปเป็นที่น่าฉงนว่าทำไมเขาไม่อยากให้เราพูดหรือไม่รับฟังเรา เพราะบางทีความคิดของเรามันก็เป็นสิ่งที่จะทำให้อะไรๆเปลี่ยนได้บ้าง ผมก็เริ่มอ่านงานของเปาโล แฟร์ และผมมีความฝันว่า ผมอยากให้ห้องเรียนของผมเป็นห้องเรียนที่ทำอะไรก็ได้ คล้ายๆว่าเป็นพื้นที่ปลดปล่อย ความฝันนี้ท้าทายสำหรับผมมาก และก็อยากให้เด็กๆนักเรียนของผม ความสุขในการเรียน
คำถามต่อมา : ถ้าเราเอาแนวคิดของเปาโล แฟร์มาวิเคราะห์ระบบการศึกษากระแสหลักของไทย จะวิเคราะห์ได้อย่างไรเกี่ยวกับระบบการกดขี่ ว่าหน้าตาการกดขี่ในการศึกษาไทยเรามีหน้าตาเป็นอย่างไรหรือปรากฏในรูปแบบใด?
ธีรพงษ์ : ระบบการศึกษาไทยถูกจัดการโดยเบ็ดเสร็จจากรัฐ และผู้มีอำนาจทั้งหลาย อย่างเช่นในโรงเรียน ผู้อำนวยการทั้งหลายกลายเป็น “King of space” ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเผด็จการทั้งสิ้น เมื่อผู้อำนวยการเป็นเช่นนี้แล้ว ครูเองก็กลายเป็นอย่างนั้นด้วย เมื่อเข้าไปในห้องเรียน ครูก็กลายเป็นคนกดขี่นักเรียนอีกคราวหนึ่ง ส่วนหนึ่งเพราะเราเชื่อว่า ถ้าเราใช้เสียงดัง ทุกคนจะฟังเรา เช่นเดียวกับการวัดประเมินผลในโรงเรียนจะวัดตามหลักสูตรแกนกลางโดยไม่ได้อิงกับตัวนักเรียนเท่าไหร่เลย ซึ่งนี่ก็เป็นการกดขี่อย่างหนึ่งด้วย
วิจักขณ์ : ผมคิดว่าสิ่งที่มันกดขี่เรานั้นมันเป็นเรื่องของโครงสร้างอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างการกดขี่ก็ได้ เราจึงเห็นได้ว่ามันมีความพยายามในการต่อสู้กันทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยมาโดยตลอด แต่กระนั้นการเคลื่อนไหวการต่อสู้ทั้งหลายมันก็สะดุดและโดนขัดขวางตลอด มันจึงเป็นการสู้ที่เปลี่ยนอะไรได้ไม่มากหรือไม่เปลี่ยนเลย ดังนั้นผมจึงอยากย้อนไปที่คำถามว่า แทนที่เราจะมาตั้งคำถามว่าการกดขี่ออกมาในรูปอย่างไร เราควรถามก่อนว่าการกดขี่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อไปทำไมก่อนดีกว่
พฤหัส : ผมรู้สึกว่าระบบการศึกษาเป็นคล้ายๆอุปกรณ์หรือเครื่องมือขนาดใหญ่ที่กล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อง เพื่อที่จะได้ควบคุมพลเมืองได้เพื่อให้ทำตามอะไรบางอย่างที่เขาต้องการ เราต้องมองว่าระบบการศึกษาอยู่กับเรามาค่อนชีวิตดังนั้นมันโปรแกรมเราเยอะมาก ผ่านทั้งหลักสูตร หนังสือต่างๆที่เราต้องเชื่อหรือถ้ามองในพื้นที่โรงเรียน เราก็จะพบว่าพื้นที่ของอำนาจนิยมในโรงเรียนนั้นมีทุกอนู ทันทีที่เราเดินเข้าไปในโรงเรียนทุกสิ่งทุกอย่างได้ควบคุมเราผ่านพิธีกรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งเครื่องแบบสัญลักษณ์ต่างๆที่อยู่บนเรือนร่างของเราก็เป็นการควบคุมเราอย่างหนึ่ง มันน่าคิดว่า “คนที่มีมากที่สุดในโรงเรียนกลับมีอำนาจน้อยที่สุดในโรงเรียน เช่นเดียวกับระดับประเทศประชาชนที่มีจำนวนมากกว่าผู้มีอำนาจ กลับมีอำนาจน้อยกว่า” หลัง 2475 มา อาจกล่าวได้ว่าเราไม่ได้ไปไหนเลย ย่ำอยู่กับที่ ซึ่งน่าเศร้าใจเหลือเกิน
คำถามสุดท้าย : ระบบการผลิตครูของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีส่วนในการผลิตซ้ำหรือทลายวัฒนธรรมการกดขี่อย่างไร และ ท่านคิดว่าการเปลี่ยนแปลงการกดขี่ในการศึกษาไทยควรเริ่มจากจุดใด?
ธีรพงษ์ : ผมคิดว่าระบบการผลิตครูมันผลิตซ้ำและมีส่วนมากแน่นอน ผมเรียนมา 5 ปี ถ้าเราอาราธนาสิ่งที่เราให้มาทั้งหมด เราก็จะออกไปกดขี่เต็มร้อยแน่นอน ผมขอวิพากษ์นะครับ อาจารย์ของเราพยายามจะบอกให้เราคิดใหม่ทำใหม่ แต่สุดท้ายแล้วอาจารย์ก็ขีดกรอบให้เราอยู่ดี เพราะอยากให้เราไม่ล้ำเส้นของอาจารย์หรือของผู้มีอำนาจ
ถ้าเราเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆผมคิดว่าประเทศไทยเราก็พัฒนาต่อไปไม่ได้เลย คือพูดง่ายๆว่าเดินตามเขาเดี๋ยวจะได้ดีเอง อีกเรื่องคือการรับน้อง เราให้อำนาจกับรุ่นพี่มากเกินไป แก่กว่าเราปีสองปีมันหมายความว่าเขารู้อะไรเยอะกว่าเราไปทุกเรื่องอย่างนั้นหรือ ยิ่งเอาวัฒนธรรมความรุนแรงมาใช้ในการรับน้อง น้องซึ่งกำลังจะไปเป็นครู มันยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ผมผ่านทุกขบวนการบอกได้เลยว่า วันนี้จบมา ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการรับน้องที่จะเอาไปประยุกต์ใช้ได้เลย แม้กระทั่งการใช้เสียงดัง(หรือว๊ากในการรับน้องนั่นเอง) ยิ่งเราใช้เสียงดังมากเท่าไหร่ผมบอกเลยว่าจะยิ่งเป็นการปิดกั้นความคิดความอ่านของเด็กมากขึ้นเท่านั้น
วิจักขณ์ : ผมคิดว่าการผลิตครูเท่าที่ผมมองผมรู้สึกว่าครูในบ้านเราผลิตออกมาแล้วเป็นอนุรักษ์นิยมเยอะ คือจะยึดติดกับศีลธรรมแบบที่รัฐต้องการ หรือคนดีที่รัฐต้องการ สมมติมีครู 100 คน ผลิตออกมา ผมว่าสัก 85 เป็นไปในทางที่ผมกล่าวหมดเลยนะ ซึ่งเท่ากับว่าก็จะเหลือครูที่น้อยมากที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย อีกอย่างหนึ่งผมมองว่างานการศึกษาเป็นงานทางการเมือง ครูจึงกลายเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมืองโดยตรง ซึ่งครูและคนที่จะไปเป็นครูส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำงานทางการเมืองอยู่ ครูต้องทบทวนตนเองให้ก้าวข้ามความกลัวในตัวเราเองให้ได้ และอีกอย่างหนึ่งเมื่อเราคิดจะทำการใดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
เราอย่าคิดหาทางลัดเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น คิดๆไว้พอมีรัฐประหารแล้วเอาไปยื่นเลย ไปเสนอเลย ไม่ได้ แบบนี้ไม่ได้ผลเพราะทุกการต่อสู้ทางการเมืองมันต้องเป็นไปตามลำดับครับ
พฤหัส  : ตัวผมเองก็ผ่านกระบวนการหล่อหลอมแต่ก็พูดอะไรไม่ได้มากเพราะก็ผ่านกระบวนการนี้มาสองทศวรรษแล้ว แต่อย่างไรก็ดีถ้าเราพูดถึงวัฒนธรรมความกลัว ผมว่าความกลัวทั้งหลายมันได้สร้างหรือไปกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติต่อกัน เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตกลัวกระทรวง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตก็จะไปกดขี่ผู้อำนวยการโรงเรียนต่อ ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ไปกดขี่ครูต่อ ครูก็ไปกระทำกับเด็กต่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผลสุดท้ายเด็กก็ไม่มีใครสนใจเลย เพราะเรามัวแต่กลัวกันจนลืมนึกถึงเด็ก ผมคิดว่าตรงนี้ถ้าระบบการผลิตครูในกระแสหลักถ้าเรายังเป็นระบบเดิมๆ เราไม่สามารถ แก้ไขปัญหาความกลัวได้ ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาทั้งหลายต้องใช้เวลา ผมคิดว่าการปฏิรูปการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นที่นโยบาย แต่จริงๆ แล้วมันต้องเกิดขึ้นที่ห้องเรียน เพราะครูทุกคนคือผู้เปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
ดังนั้นเรื่องของความกลัวจึงมีความสอดคล้องทั้งงานของเปาโล แฟร์และงานอื่นๆที่ว่าด้วยวัฒนธรรมความกลัวด้วย และเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องตระหนักมากยิ่งขึ้นและค่อยๆสร้างการเปลี่ยนแปลงกันไป น้องๆที่เป็นแสงสว่างเล็กๆจะกลายเป็นแสงสว่างที่ยิ่งใหญ่ได้
ขณะที่ผู้ดำเนินรายการ กล่าวตอนท้ายด้วยว่า เพื่อให้เข้ากับชื่องาน งานเสวนาครั้งนี้ไม่มีข้อสรุป แต่พวกเราหวังว่าทุกท่านจะได้เอาไปคิดต่อและตกผลึกด้วยการแลกเปลี่ยนด้วยตัวของท่านเอง อย่างไรก็ตามก็ทิ้งท้ายด้วยประโยคของ เปาโล แฟร์ ในหนังสือการศึกษาของผู้ถูกดขี่ที่ว่า “Without dialogue there is no communication, and without communication there can be no true education.”

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top