สันติภาพเมียนมาร์: รัฐบาลผลักดันจะให้มีพิธีลงนามหยุดยิงต้นเดือนหน้า แต่กลุ่มชาติพันธุ์ดึงเวลาชี้หากไม่พร้อมสันติภาพไม่ยั่งยืน ไทใหญ่ระบุหลายประเด็นคุยกันไม่ทะลุตั้งแต่เรื่องอำนาจการเป็นตัวแทนของทีมรัฐบาลไปจนถึงเรื่องปลีกย่อยเช่นใครจะเป็นสักขีพยาน เผยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลนัดประชุมใหญ่ 24-26 ก.ย.
เจ้าคืนใส ใจเย็น ผู้จัดการสถาบันปีตองสุเพื่อสันติภาพและการเจรจาหรือพีไอเปิดเผยว่า วันที่ 17-18 ก.ย.นี้รัฐบาลเมียนมาร์หรือพม่าจะส่งตัวแทนจากศูนย์สันติภาพเมียนมาร์มาหารือกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่ยังต่อต้านรัฐบาลในเรื่องรายละเอียดของการทำข้อตกลงหยุดยิง โดยฝ่ายรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะให้มีพิธีลงนามในต้นเดือนหน้า และจะเชิญตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมในคณะกรรมการเตรียมการ แต่อีกด้านกลุ่มชาติพันธุ์เองนัดประชุมใหญ่ช่วงวันที่ 24-26 ก.ย.เพื่อกำหนดท่าทีร่วมในเรื่องการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเนื่องจากยังมีหลายประเด็นไม่เห็นพ้องกับรัฐบาล
ด้านพ.อ.จายหล้า โฆษกสภากอบกู้รัฐฉาน Restoration Council of the Shan State (อาร์ซีเอสเอส) ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า ขณะนี้กลุ่มต่างๆพยายามขอให้รัฐบาลพม่าใช้เวลาในการทำข้อตกลงหยุดยิงให้รอบด้านและรอบคอบ เพราะยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันหลายประการ เรื่องแรกคือใครควรจะได้ร่วมลงนามในข้อตกลง รัฐบาลพม่ากำหนดมาแค่ 15 กลุ่ม โดยบอกว่ามีอยู่สามกลุ่มที่รัฐบาลเห็นว่าไม่มีกองกำลังจึงไม่จำเป็นต้องร่วมลงนาม ส่วนอีกสามกลุ่มกำลังสู้รบกับรัฐบาลจึงต้องการให้แยกไปทำข้อตกลงต่างหาก แต่ทางด้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆมีความเห็นร่วมกันว่า การทำข้อตกลงหยุดยิงควรต้องทำกับทั้งหมด 21 กลุ่มไปพร้อมๆกัน เพราะแม้ในเวลานี้หลายกลุ่มอาจจะยังไม่มีกองกำลังมากมายหรือชัดเจนแต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนได้ และหากปล่อยทิ้งไว้จะไม่เป็นผลดีกับการสร้างสันติภาพให้ยั่งยืน
พ.อ.จายหล้ากล่าวว่า อีกประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันคือเรื่องผู้ร่วมสังเกตการณ์ในพิธีลงนาม ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายสรุปตรงกันว่าจะเชิญตัวแทนจากจีน ญี่ปุ่น ไทย อินเดีย และสหประชาชาติเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน แต่ขณะที่ทางกลุ่มชาติพันธุ์ต้องการให้เชิญประเทศตะวันตกเช่นสหรัฐฯและสหภาพยุโรปรวมทั้งตัวแทนจากกลุ่มอาเซียน รัฐบาลพม่าอ้างว่า การจะเชิญตัวแทนอาเซียนเข้าร่วมอาจจะยากเนื่องจากอาเซียนมีหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ส่วนทางตะวันตกนั้น ทางการพม่าเกรงว่าหากเชิญมาด้วย จีนจะไม่ตอบรับ จึงยังไม่ต้องการให้เชิญ นี่เป็นประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้เช่นกัน
พ.อ.จายหล้าบอกว่า ยังมีประเด็นเรื่องอำนาจการเป็นตัวแทนพูดคุยสันติภาพของตัวแทนรัฐบาลพม่าว่ายังไม่ชัดว่ามีความชอบธรรมในระดับใด “มีการถามกันในรัฐสภาว่า การไปเจรจากับกบฎ เจรจากับคนนอกกฎหมายเป็นเรื่องที่เป็นทางการไหม เราเองจึงไม่รู้ว่าที่เราทำกันทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า เท่าที่รู้ตัวแทนรัฐบาลพม่าที่มาพูดคุยได้รับอำนาจจากคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี อันนี้มันใช่หรือไม่ อีกอย่างถ้ามีการลงนาม ก็ยังต้องเอาข้อตกลงไปขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบสิ่งที่ทำก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนของเราเองนั้นอยากจะให้มันเป็นทางการและให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับมัน” เขาว่า
โฆษกกลุ่มอาร์ซีเอสเอสบอกอีกว่า ยังมีปัญหาว่ากองทัพเห็นชอบหรือไม่ซึ่งขณะนี้ไม่ชัดเจน การที่รัฐธรรมนูญของพม่าระบุไว้ว่า กองทัพมีอำนาจในการดำเนินการโดยไม่ขึ้นอยู่กับคำสั่งจากรัฐบาลหากเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ ดังนั้นหากกองทัพพม่าไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยหรือทำข้อตกลงนี้ก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน และที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าข้อตกลงบางเรื่องที่ทำกันไว้กับรัฐบาล เช่นเรื่องให้กองกำลังแต่ละฝ่ายรวมทั้งของรัฐบาลอยู่ในที่ตั้ง หากจะเคลื่อนย้ายโดยมีอาวุธด้วยให้ประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ ก็ไม่ปรากฎว่ากองทัพพม่าทำตามในเรื่องนี้ ผลคือยังคงมีการปะทะกันอยู่เรื่อยๆ
นอกจากนั้นพ.อ.จายหล้าเสริมอีกว่า ยังมีบางเรื่องที่ยังไม่ได้รวมเข้าไว้ในเนื้อหาของข้อตกลง คือเรื่องของการจัดตั้งหน่วยงานร่วมเพื่อเฝ้าระวังการละเมิดการหยุดยิง กับการกำหนดกติกาให้กับทุกฝ่ายในระหว่างที่มีการหยุดยิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรต้องทำประกอบไปด้วยไม่เช่นนั้นการทำข้อตกลงหยุดยิงอาจจะไม่ได้ผลในทางปฎิบัติเท่าใด
“ทำไมรัฐบาลเร่งรัดอยากลงนามเป็นเรื่องที่คิดกันมาก” เขาว่า ขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลอาจจะต้องการสร้างคะแนนนิยมก่อนจะมีการเลือกตั้ง พ.อ.จายหล้าเห็นว่าการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงอาจจะช่วยปูทางให้รัฐบาลได้รับการยอมรับมากขึ้นในประชาคมโลกซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับพม่า แต่หากมองในรายละเอียดจะพบว่ามีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ลงตัวและไม่เป็นคุณสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ เขามองว่าการรีบร้อนลงนามโดยที่หลายประเด็นยังไม่ชัดและกลุ่มชาติพันธุ์เองก็ยังไม่พร้อมจะไม่ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งในระยะยาว
พ.อ.จายหล้ายอมรับว่าหลายฝ่ายกำลังพิจารณาสิ่งที่นักวิเคราะห์วิตกที่ว่า การทำข้อตกลงหยุดยิงนี้ผิดขั้นตอน กล่าวคือตกลงหยุดยิงก่อนแล้วจึงจะคุยในเรื่องเนื้อหาทางการเมืองเพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะเป็นไปได้ยากที่จะสร้างสันติภาพได้จริง โฆษกกลุ่มอาร์ซีเอสเอสบอกว่า ในเรื่องของการเจรจาเรื่องเนื้อหาทางการเมืองนั้น ได้ตกลงกันว่าให้ใช้หลักการที่ได้จากข้อตกลงปางหลวงซึ่งทำขึ้นในปี 2490 สมัยที่นายพลอ่องซาน บิดาของอ่องซานซูจีเป็นผู้นำพม่า โดยให้นำเนื้อหาหลักมาเป็นประเด็นสำคัญในการพูดคุย ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวนี้พม่าจะจัดตั้งสหพันธรัฐ จัดวางความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกลางและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในรูปแบบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พ.อ.จายหล้าระบุว่า ขณะนี้ยังมีคำถามอยู่ว่ารัฐบาลพม่าจะยอมจริงหรือไม่ ในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์เช่นกลุ่มฉานหรือไทใหญ่นั้นเห็นว่า อย่างน้อยกลุ่มชาติพันธุ์ควรจะได้มีสิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรของตนเอง รวมทั้งในด้านสังคมและวัฒนธรรม มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจปกครองหรือ power sharing แต่เชื่อว่าการเจรจาเนื้อหาทางการเมืองจะใช้เวลานาน อีกอย่าง ไม่ว่าจะเจรจาได้เนื้อหาอย่างไรก็ตามยังจะมีปัญหาในการนำไปปฏิบัติ เขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญพม่าฉบับปัจจุบันแทบไม่เปิดโอกาสให้แก้ไข เพราะในประเด็นสำคัญๆนั้นต้องการเสียงในสภาถึง 75% ทั้งยังต้องลงประชามติด้วย
หากการเจรจายืดเยื้อ โฆษกกลุ่มอาร์ซีเอสเอสชี้ว่า ทางฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆจะเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ “ทุกวันนี้เรามีปัญหาความสามัคคี รัฐบาลเองก็มีความสามารถในการทำให้เราแตกกัน ถ้าเราหยุดยิงแล้วแต่การเจรจายืดเยื้อ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆก็จะยิ่งเสียเปรียบมากขึ้นไปอีก อำนาจต่อรองจะน้อยลงไปเรื่อยๆ” พ.อ.จายหล้ากล่าว

 
Top