ปัญหาควันไฟป่าที่มีทุกปีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจากไหน?
ไฟป่าในอินโดนีเซียที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันลอยเข้าปกคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสาเหตุหลักมาจากการเผาป่าของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มและอุตสาหกรรมกระดาษ ซึ่งทำกันเป็นประจำทุกปีในจังหวัดริอาว, จังหวัดสุมาตราใต้ และบางพื้นที่บนเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย ผลพวงของไฟป่าที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หมอกควันลอยไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตก เข้าปกคลุมพื้นที่หลายจังหวัดของอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
ในสิงคโปร์และอินโดนีเซียนั้น มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยดัชนีมาตรฐานมลพิษ (PSI) ขณะที่มาเลเซียใช้ดัชนีมลพิษในอากาศ (API) ซึ่งผลการวัดคุณภาพอากาศที่ได้จากดัชนีทั้งสองนั้น หากมีค่าเกิน 100 จะถูกจัดให้อยู่ในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และหากมีค่าเกิน 300 ก็จะถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม ในอินโดนีเซียที่เพิ่งจะประกาศภาวะฉุกเฉินพบว่า ในเมืองเปกันบารู ของจังหวัดริอาว มีค่า PSI สูงน่าตกใจถึง 984 ส่วนที่มาเลเซียก็มีค่า API สูงถึง 750
มลพิษเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจและดวงตา ฝุ่นละอองขนาดเล็กยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาวอีกด้วย เพราะอาจทำให้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอด
สำหรับมาตรการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากความพยายามดับไฟป่าที่เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะอยู่ในพื้นที่ถ่านหินเลนที่ไฟสามารถคุอยู่ใต้ดินและต้องใช้น้ำปริมาณมากดับไฟแล้ว ทางการอินโดนีเซียยังได้รับปากมาหลายปีว่า จะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายจัดการกับบริษัทที่จุดไฟเผาป่า โดยภายใต้รัฐบาลชุดล่าสุด ได้มีการระบุชื่อบริษัทต้องสงสัย 10 แห่ง และมีการสอบสวนผู้ต้องสงสัยอีกกว่า 100 ราย
ก่อนหน้านี้ในปี 2545 ชาติภาคีอาเซียนยังได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ ด้วยการเฝ้าระวังใกล้ชิดและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะทางการอินโดนีเซียประสบความยากลำบากในการเฝ้าตรวจตราการกระทำผิดในพื้นที่อันกว้างใหญ่บนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย ระบุว่า ปัญหาอีกส่วนมาจากการเผาป่าอย่างผิดกฎหมายของบริษัทที่มีนายทุนเป็นคนมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อปีก่อน สิงคโปร์ได้ผ่านกฎหมายที่เอื้อให้ดำเนินคดีกับบริษัทที่กระทำผิด แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกนำมาบังคับใช้อย่างไร ขณะเดียวกันก็มีการใช้วิธีประจานและคว่ำบาตรสินค้าจากบริษัทที่เป็นต้นเหตุให้เกิดไฟป่าด้วย