0

มารู้จักกับซูเปอร์สตาร์แห่งโลกโซเชียลมีเดียในซาอุดีอาระเบีย
ซาอุดีอาระเบีย เป็นดินแดนที่กษัตริย์เรียกตัวเองว่า “ผู้พิทักษ์มัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง” ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ซูเปอร์สตาร์ในโลกโซเชียลมีเดียจะเป็นผู้นำทางศาสนา ซึ่งมักแสดงความคิดเห็นและเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาผ่านสื่อประเภทนี้ และบางครั้งก็ก่อให้เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงขึ้นในสังคม
โมฮัมหมัด อัล-อาริฟี ถูกยกให้เป็น “แบรด พิตต์” ในหมู่ผู้นำศาสนาในซาอุดีอาระเบีย เพราะมีบุคลิกที่มีเสน่ห์ดึงดูดผู้คน แต่ขณะเดียวกันก็ถูกวิจารณ์จากกรณีที่เขาให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ชายสามารถตีสั่งสอนภรรยาได้เบาๆ หากภรรยาไม่อยู่ในโอวาท ทั้งยังคัดค้านแนวคิดให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน
อาริฟี ยังมีแนวคิดที่แข็งกร้าวเกี่ยวกับศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ เขาถูกกล่าวหาว่าก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างนิกาย หลังจากที่พูดว่า ชาวชีอะห์ “เป็นพวกนอกรีตที่ต้องถูกฆ่า” ทั้งยังเคยให้สัมภาษณ์ปกป้องกลุ่มอัลไคด้า และนายโอซามา บิน ลาเดน นอกจากนี้ ยังเคยถูกห้ามเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรเพราะเคยไปเทศนาที่มัสยิดในเมืองคาร์ดิฟฟ์ ซึ่งต่อมาเด็กหนุ่ม 3 คนที่ได้ไปฟังได้เดินทางไปร่วมรบกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) แต่ อาริฟี ปฏิเสธเรื่องที่ว่าตนอาจทำให้เด็กเหล่านี้มีความคิดรุนแรง พร้อมยืนกรานว่าตนต่อต้านการกระทำป่าเถื่อนรุนแรงของไอเอส
ทวิตเตอร์ของอารีฟีมีผู้ติดตาม 14 ล้านคน ส่วนเฟสบุ๊คของเขาก็มีผู้ติดตาม 21 ล้านคน
อาห์เหม็ด อัล-ชูกาอิรี ถูกยกให้เป็นนักเทศน์ผู้ทันสมัย เขาโด่งดังจากรายการโทรทัศน์เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นเขาเดินทางไปตามประเทศต่างๆรอบโลก แต่งกายในชุดเสื้อยืดกางเกงยีนส์แล้วพูดคุยเรื่องศาสนาอิสลามในลักษณะเป็นกันเอง แนวคิดและสไตล์ของเขาได้รับความสนใจจากคนหนุ่มสาวนับล้าน ชูกาอิรี ถือเป็นคนแรกๆที่หันมาใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับผู้ชม และกลายเป็นกระบอกเสียงของชาวมุสลิมสายกลางที่ทรงอิทธิพล เขามีแนวคิดต่อต้านกลุ่มสุดโต่งอย่างชัดเจน และชี้ว่า อิสลามไม่ใช่ศาสนาแห่งความรุนแรง
อัล-ชูกาอิรีมีผู้ติดตามเขาทางทวิตเตอร์ 13 ล้าน เฟสบุ๊คอีก 13 ล้าน และอินสตาแกรมอีก 5 ล้าน
ซัลมาน อัล-โอดาห์ เป็นหนึ่งในผู้นำทางศาสนาชื่อดังของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้มีแนวคิดสุดโต่งและต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง แต่หลังจากถูกจำคุก 5 ปีแล้วเข้ารับการฟื้นฟู เขาก็มีแนวคิดเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โอดาห์ ใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับผู้ติดตามนับล้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาสนับสนุนแนวคิดให้ผู้ชายมีภรรยาคนเดียว เขามักทวีตข้อความเกี่ยวกับความรัก ความเมตตา และต่อต้านความรุนแรง อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนมากวิจารณ์ว่าการที่เขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงนั้นแสดงถึงการไม่มีจุดยืนและความไม่น่าเชื่อถือในตัวเขา
ทวิตเตอร์ของอัลโอ-ดาห์มีผู้ติดตาม 8 ล้าน เฟสบุ๊ค 5 ล้าน อินสตาแกรมอีก 1 ล้าน
นาวัล อัล-อีด เป็นหนึ่งในนักเทศน์หญิงชื่อดังของประเทศ ทั้งยังเคยถูกจัดให้เป็นสตรีชาวซาอุฯที่ทรงอิทธิพลที่สุดโดยนิตยสารผู้หญิงอาหรับ แม้จะไม่เคยเผยโฉมตัวเองในโลกโซเชียลมีเดีย แต่ อีด ก็มีชื่อเสียงโด่งดังจากการจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับสิทธิสตรี ควบคู่กับการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสตรีในกรุงริยาด อีด มีพื้นเพมาจากกลุ่มมุสลิมสายอนุรักษ์นิยมดังนั้นความคิดเห็นของเธอจึงจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในสังคม โดยเมื่อ 3 ปีก่อนเธอเคยเขียนบทความคัดค้านการออกกฎหมายต่อต้านการคุกคามต่อสตรี โดยชี้ว่ากฎหมายไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ทางออกของปัญหานี้คือการแต่งกายเรียบร้อยมิดชิดและการแบ่งแยกชาย-หญิงให้มากขึ้น นอกจากนี้เธอยังวิจารณ์ค่านิยมแบบตะวันตก เพราะเชื่อว่าการยึดหลักศาสนาอิสลามจะทำให้ผู้หญิงมีสิทธิที่ “เหมาะสม”
ทวิตเตอร์ของเธอมีผู้ติดตาม 1 ล้าน เฟสบุ๊คอีก 45,000 และอินสตาแกรมอีก 150,000 คน

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top