0



การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้หนูดำแพร่พันธุ์ในป่าฝนเขตร้อนมากขึ้น
งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน บ่งชี้ว่า การตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หนูดำแพร่พันธุ์เข้าไปอยู่ในป่ามากขึ้น ซึ่งอาจเป็นภัยต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประจำถิ่นชนิดอื่น ๆ
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biotropica ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งมีการตัดไม้ทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง พบว่าหนูดำ (Black rats) หรือที่เรียกว่า หนูท้องขาวบ้าน หรือ หนูเรือ ที่อาศัยในเขตเมือง ได้แพร่พันธุ์เข้าไปอาศัยอยู่ในป่าที่ถูกทำลาย เพราะบริเวณดังกล่าวมีสภาพเหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของหนู เนื่องจากตามพื้นดินมีเศษไม้จากการตัดไม้ที่เต็มไปด้วยแมลงซึ่งเป็นอาหารของหนูชนิดนี้ ทั้งยังมีพุ่มไม้เตี้ย ๆสำหรับหนูใช้เป็นที่หลบภัย ต่างจากป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมักเต็มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ และมีใบไม้ตกอยู่ตามพื้นดินเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดเสียงดังเวลาหนูวิ่ง ซึ่งจะดึงดูดสัตว์นักล่าที่กินหนูเป็นอาหาร
ทีมนักวิจัยชี้ว่า การตัดไม้ทำลายป่าฝนเขตร้อนเป็นวงกว้างนั้น ยิ่งเพิ่มภัยคุกคามที่เกิดจากสัตว์ต่างถิ่น เช่น หนูดำ ซึ่งเชื่อว่าเป็นภัยต่อนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประจำถิ่นขนาดเล็ก ซึ่งมีบทบาทในการช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ของพืชไปตามพื้นที่อื่น พร้อมแนะนำว่า การเคลียร์พื้นที่ในป่าไม่ให้มีเศษซากต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหารและที่หลบซ่อนของหนูดำ จะช่วยควบคุมไม่ให้หนูแพร่เข้าไปในป่าได้
ทั้งนี้ หนูดำ ได้แพร่พันธุ์ไปทั่วโลกในช่วง 400 ปีที่ผ่านมา และมักเข้าไปแย่งอาหารของสัตว์ประจำถิ่น ส่งผลให้สัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์ไป นอกจากนี้ ยังเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคต่างๆด้วย โดยเชื่อว่าหนูดำเป็นต้นกำเนิดของกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง แม้ว่างานวิจัยหลายชิ้นที่เพิ่งออกมาจะตั้งข้อสงสัยกับความเชื่อดังกล่าวก็ตาม


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top