0

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ ปีนี้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยถูกจับตาในระดับโลก 

นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวในการแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2558 ว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยใน 1 ปีทีผ่านมานั้นปรากฏอยู่ในการจับตาทั้งในระดับเอเชียแปซิฟิกและระดับโลก ขณะที่นายอภิรักษ์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนรัฐบาลรับรายงานประจำปีระบุย้ำประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นของคนในประเทศที่ต้องปกป้องสิทธิของประชาชนเพื่อประโยชน์ของสังคม ไม่ใช่เรื่องของมาตรฐานฝรั่งที่จะมาบังคับใช้ในสังคมไทยอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ

นายชำนาญ กล่าวว่าประเด็นที่องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรวบรวมเป็นรายงานประจำปีนั้น มีบางประเด็นมีความก้าวหน้าเช่น ประเด็นสิทธิในการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งปีที่ผ่านมา มี 4 ประเทศที่ให้การรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งจนถึงขณะนี้มีประเทศที่รับรองสิทธิคู่แต่งงานเพศเดียวกัน 20 ประเทศแล้ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประเทศไทยนั้นยังมีกรณีที่เป็นปัญหาในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม และการปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง ขณะที่การขัดแย้งกันด้วยอาวุธนั้นสังคมไทยอาจจะลดความสนใจไปแล้ว แต่ความขัดแย้งที่รุนแรงใช้อาวุธนั้นยังดำรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้ของประเทศไทย

นางแซมพา พาเทล ผู้อำนวยการประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ได้กล่าวว่า ถึงการปิดปากผู้แสดงความเห็นต่างซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยยกตัวอย่างประเทศไทย

“ในภูมิภาคเอเชียวันออกเฉียงใต้ เราเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการจำกัดสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ มีการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อนเพื่อปิดปากผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบในไทย”

ในส่วนของวิกฤตผู้ลี้ภัยนั้น ผู้อำนวยการประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกกล่าวว่าในส่วนของวิกฤตผู้อพยพนั้น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ต่างไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมือง

ทั้งนี้ในภาพรวมของ 160 ประเทศทั่วโลก ประเด็นผู้อพยพนั้นแย่ลง และมีอย่างน้อย 113 ประเทศทั่วโลกมีการจำกัดสิทธิในการแสดงออกและมีการคุกคามสื่อมวลชน มีผู้พลัดถิ่นจากบ้านเกิดมากกว่า 60 ล้านคนทั่วโลก และจะต้องพลัดถิ่นริมชายแดนหรือมากกว่านั้น มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกบังคับให้มีการลี้ภัยไปยังพื้นที่เสี่ยงและอันตรายต่อชีวิต และไม่น้อยกว่า 36 ประเทศยังมีความรุนแรงเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธ

ในปี 2558 มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่น้อยกว่า 156 คนถูกฆาตรกรรมและเสียชีวิตขณะถูกคุมขัง มากกว่า 61 ปประเทศจับกุมคุมขังนักโทษทางความคิดเพราะการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก มากกว่า 122 ประเทศมีการทรมานและปฏิบัตอย่างโหดร้านยและทารุณต่อประชาชนพลเรือน ไม่น้อยกว่า 19 ทั่วโลก เกิดอาชญากรรมสงคราม และไม่น้อยกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของ 160 ประเทศทั่วโลกนั้นมีการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีให้กับรัฐบาลไทย โดยมีอภิรักษ์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนรัฐบาล ซึ่งนายอภิรักษ์กล่าวว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้นยังคงเป็นความท้าทายคนทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน แม้ในหลักการจะมีการยึดมั่นว่าต้องดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยและกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องแต่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในทางปฏิบัติด้วยว่ามีอะไรตกหล่นไปบ้าง

“กระทรวงการต่างประเทศยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐ ในการทำงานในพันธกรณีระหว่างประทศของไทย แต่การที่รัฐบาลมองว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องต่างประเทศนั้น ผมมีความเห็นว่า จริงๆ สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องภายในประเทศ เป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันเพื่อประโยชน์ของคนไทยในประเทศ ไม่ใช่เรื่องของมาตรฐานฝรั่งที่จะมาบังคับใช้ในสังคมไทย”

ภาพจากซ้าย นางปิยนุช โคตรสาร รักษาการผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล ประเทศไทย นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นายอภิรักษ์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และนางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top