เรื่องของ “เงินมืด” กับเศรษฐกิจอินเดีย
อินเดียหลุดรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจมาได้แบบเจ็บตัวน้อยมาก และขณะนี้อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นักวิเคราะห์บอกว่า สิ่งที่ช่วยอินเดียเอาไว้ มันคือเรื่องของการทุจริตดีๆนี่เอง
เมื่อไม่นานมานี้ อินเดียเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีก่อนว่าอยู่ที่ 7.4% ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวรวดเร็วที่สุดในหมู่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก จัสติน โรว์ลัตต์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่า เศรษฐกิจที่สดใสนี้นอกจากจะมาจากภาคการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังเป็นผลพวงมาจาก “เงินมืด” ในระบบเศรษฐกิจอินเดียที่ช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์
กอชิค บาซู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก และอดีตหัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดีย กล่าวถึงเรื่องนี้ในหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อ “An Economist in the Real World” ว่าการทุจริตเล็กๆน้อยๆในสังคมอินเดีย เช่น ระบบเงินมืด (Black money) ซึ่งเป็นเงินที่หลบเลี่ยงการเสียภาษี และเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในอินเดีย เปรียบเสมือนเกราะป้องกันให้แก่ภาคธนาคารของประเทศนี้
เศรษฐกิจอินเดียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาขยายตัวอย่างมาก โดยมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เฟื่องฟู โดยในปี 2545-2549 ราคาอสังหาริมทรัพย์ในอินเดียปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 16% แซงหน้ารายได้เฉลี่ยของประชาชนไปมาก และยังเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าในสหรัฐฯ แต่อินเดียกลับไม่ประสบวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพเหมือนสหรัฐฯที่ส่งผลกระทบไปทั่วภาคธนาคารอย่างรวดเร็ว
บาซู บอกว่า ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะธนาคารกลางอินเดียดำเนินมาตรการแบบป้องกันไว้ก่อน แต่ที่เหนือกว่านั้นเขาบอกว่ามันเนื่องมาจากระบบ “เงินมืด” โดยในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในอินเดียนั้น ผู้ขายมักต้องการให้ผู้ซื้อทำสัญญาซื้อขายโดยระบุราคาอสังหาริมทรัพย์เพียงครึ่งหนึ่งของราคาซื้อขายจริง ยกตัวอย่างเช่น หากบ้านราคา 100 รูปี ผู้ขายจะให้ระบุราคาขายในสัญญาเพียง 50 รูปี แล้วให้ผู้ซื้อจ่ายส่วนที่เหลืออีก 50 รูปีในรูปของเงินสด ซึ่งเงินสดในส่วนนี้ก็คือ “เงินมืด” นั่นเอง
การซื้อขายรูปแบบนี้ทำให้ผู้ขายไม่ต้องจ่ายภาษีแพง ส่วนผู้ซื้อเองก็ได้ประโยชน์เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงก็ทำให้พวกเขาเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินน้อยลงไปด้วย ขณะเดียวกันยังหมายความว่าชาวอินเดียจะใช้สินเชื่อเพื่อกู้ซื้อบ้านน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ในสหรัฐฯ และอังกฤษ ที่ในช่วงตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเฟื่องฟูธนาคารบางแห่งปล่อยสินเชื่อ 100-110% ของราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้เมื่อตลาดตกต่ำ ธนาคารใหญ่ๆต้องล้มครืนไปพร้อมกับราคาอสังหาริมทรัพย์
ดังนั้นการที่ธนาคารอินเดียปล่อยสินเชื่อให้ผู้ซื้อบ้านน้อย ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำในปี 2551-2552 อินเดียไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพรุนแรงนัก มีเพียงความเสียหายข้างเคียงที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเท่านั้น และสามารถฟื้นตัวได้ภายในเวลาเพียง 1 ปี โดยระหว่างปี 2552-2554 เศรษฐกิจอินเดียกลับมาขยายตัวเกือบ 8%
ดังนั้นการที่ธนาคารอินเดียปล่อยสินเชื่อให้ผู้ซื้อบ้านน้อย ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำในปี 2551-2552 อินเดียไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพรุนแรงนัก มีเพียงความเสียหายข้างเคียงที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเท่านั้น และสามารถฟื้นตัวได้ภายในเวลาเพียง 1 ปี โดยระหว่างปี 2552-2554 เศรษฐกิจอินเดียกลับมาขยายตัวเกือบ 8%
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น