0

ออสเตรเลียเพิ่มงบรายจ่ายด้านการทหารครั้งใหญ่
ในช่วง 10 ปีข้างหน้า งบรายจ่ายด้านการทหารของออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นเป็น 29,900 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 777,400 ล้านบาท) นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลของออสเตรเลียเกี่ยวกับการแผ่ขยายแสนยานุภาพทางการทหารของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค
ตามเอกสารแผนนโยบายด้านกลาโหมปี 2559 ออสเตรเลียจะทุ่มงบประมาณด้านการทหารส่วนใหญ่ไปกับการต่อเรือดำน้ำ 12 ลำ ซึ่งจะเป็นเรือดำน้ำที่มีศักยภาพในการปฏิบัติการระดับภูมิภาค นอกจากนี้จะจัดสรรงบประมาณเพื่อสั่งต่อเรือพิฆาตอีก 3 ลำ เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำอีก 9 ลำ ซื้อเครื่องบินรบอีก 72 ลำ อากาศยานไร้คนขับ และอื่น ๆ อีก รวมทั้งเพิ่มกำลังพลอีก 2,500 เป็น 62,400 นาย โดยงบประมาณภายใต้แผนการนี้มีสัดส่วนคิดเป็น 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของออสเตรเลียในปี 2564
นายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบูล ระบุว่า ภัยคุกคามออสเตรเลียไม่ได้จำกัดอยู่ที่ปัญหาความขัดแย้งกับต่างชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภัยก่อการร้าย สงครามไซเบอร์ และปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย เขาบอกว่าแผนการใช้จ่ายด้านการทหารของออสเตรเลียเน้นหนักเพิ่มแสนยานุภาพทั้งทางบกและทางทะเล การป้องกันด้านไซเบอร์ การใช้เทคโนโลยีในการป้องกันตัวเอง นอกจากนั้นยังจะปรับปรุงศักยภาพของกองทัพเรือครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
เอกสารฉบับนี้ยังระบุแผนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของออสเตรเลียเอาไว้ 3 ประการ คือ ปกป้องพรมแดนทางตอนเหนือและช่องทางการสื่อสารทางทหารของออสเตรเลีย รักษาความมั่นคงในภูมิภาคใกล้เคียง และช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยของโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ออสเตรเลียยังคงเน้นย้ำความร่วมมือกับสหรัฐฯ และแสดงจุดยืนคัดค้านการถมทะเลสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ พร้อมเรียกร้องให้อาเซียนและจีนร่วมกันกำหนดหลักการปฏิบัติสำหรับย่านทะเลจีนใต้โดยเร็ว
ดร.จอห์น แบล็กซ์แลนด์ จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกลาโหม มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย บอกว่า ภาษาที่ออสเตรเลียใช้กล่าวถึงจีนในแผนนโยบายกลาโหมปีนี้มีความกร้าวมากกว่าเมื่อ 3 ปีก่อน และ ชี้ว่าการที่จีนมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นก็ยิ่งมีแนวโน้มจะไม่ยอมทำตามกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของตน เห็นได้จากในเรื่องข้อพิพาทดินแดนและในปัญหาเรื่องไซเบอร์ ขณะเดียวกันระบุว่า แผนการใช้จ่ายด้านการทหารของออสเตรเลียที่มีสัดส่วน 2% ของตัวเลขจีดีพีไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผล เพราะตัวเลขงบกลาโหมทั่วโลกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1- 2.3 % ของจีดีพี


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top