0


ไอลอว์เปิดสถิติหลังรัฐประหาร ทหารเรียกประชาชนปรับทัศนคติอย่างน้อย 902 คน

เว็บไซต์ไอลอว์เปิดเผยข้อมูลบุคคลที่ถูกเชิญไปปรับทัศนคติ โดยวิธีต่างๆ ได้แก่ เชิญไปค่ายทหาร ไปพบที่บ้าน ชวนไปกินกาแฟหรือกินข้าว นับแต่รัฐประหารเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 902 คน โดยตั้งข้อสังเกตว่าระยะหลังทหารเลือกใช้วิธีไปเยี่ยมบ้านหรือโทรศัพท์มากกว่าการเชิญตัวมาพูดคุยในค่ายทหาร

นายวีรวรรธน์ สมนึก เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่าการเก็บข้อมูลดังกล่าวนั้น ใช้ข้อมูลจากสื่อต่างๆ และการลงพื้นที่บ้าง ซึ่งคาดว่าน่าจะยังไม่ครบถ้วนและน่าจะยังมีกรณีที่ไม่เป็นที่รับรู้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด และในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีปัญหาเฉพาะแตกต่างออกไป

นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลพบว่า ระยะหลังเจ้าหน้าที่ทหารมีความเข้มงวดมากขึ้นต่อการรวมตัวกันแสดงออกแม้ว่าประเด็นที่รวมตัวกันนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐบาล หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่น กรณีชาวบ้านที่ต่อต้านเหมืองแร่ในจังหวัดทางภาคอิสาน

สำหรับหลักเกณฑ์ในการปฏิบัตินั้น พบว่าระยะหลังเน้นการโทรศัพท์ไปพูดคุย หรือไปพบที่บ้าน มากกว่าเชิญตัวโดยมีจดหมายเชิญ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ที่ถูกโทรศัพท์ไปพูดคุยหรือไปเยี่ยมที่บ้านในลักษณะนี้ยอมรับว่ารู้สึกกลัว

“เมื่อก่อนจะเรียก หรือมีหนังสือเชิญตัว แต่ว่าช่วงหลังใช้วิธีโทรศัพท์หา แต่ไม่บอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไหน การโทรไปแบบนี้เป็นการคุกคามแบบหนึ่งที่ตัวคนถูกโทรไปรู้สึกได้ว่ากำลังถูกคุกคามอยู่ หรือการไปถึงบ้านเพื่อไปถ่ายรูปแล้วกลับเลย หรือการไปถึงบ้านแล้วบอกว่ามาเยี่ยมมาทำความรู้จักเพราะว่าเป็นการเปลี่ยนชุดเจ้าหน้าที่ ทำให้คนที่เผชิญกับการปฏิบัติแบบนี้รู้สึกว่าเขาไม่ค่อยมีความปลอดภัยมากนัก”

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งในประเด็นการเรียกบุคคลมาปรับทัศนคติว่า แนวทางปฏิบัติเริ่มจากการสร้างความเข้าใจและการขอความร่วมมือเป็นหลัก ถ้าไม่เป็นผลก็ต้องเพิ่มระดับตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเชิญมาพูดคุย เช่น ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยขอความร่วมมือไว้ อีกทั้งยังคงดำเนินการซ้ำๆ โดยเฉพาะต่อบางบุคคลเท่านั้น ที่มีการเสนอข้อมูลความคิดเห็นในลักษณะเชิงพาดพิงกล่าวหา บุคคลหรือองค์กรในเรื่องที่ไม่เป็นความจริงและพิสูจน์ไม่ได้ ที่อาจนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นหรือการทำให้สังคมเข้าใจผิดได้


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top