0

กต. แถลงโต้รายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขาดความสมดุลและไม่คำนึงถึงบริบทเฉพาะของไทย
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เผยแพร่คำแถลงตอบโต้การนำเสนอรายงานด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลวานนี้ว่า รายงานดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงบริบทที่ท้าทายในประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกกับความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองหวนคืนมาอีก ดังนั้น จึงถือได้ว่ารายงานนี้ขาดความสมดุลและไม่คำนึงถึงบริบทเฉพาะ
กต. ระบุด้วยว่า รายงานของแอมเนสตี้ฯ ไม่สะท้อนถึงพัฒนาการเชิงบวกอันเป็นผลจากการดำเนินการอย่างจริงจังของรัฐบาลในหลายประการ เช่น การแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ ทั้งในเรื่องการมีบทบาทนำของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย การจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายของไทย จำนวน 164 ฉบับ ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น การออก พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 รวมทั้งมีนโยบายสำคัญ เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ การคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง (เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ) และการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว
ทั้งนี้ กต. ระบุยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล
“ดังเห็นได้ว่าสื่อหลายสำนักสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคมด้วย เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทย อยู่ในช่วงของการปฏิรูปเพื่อนำสู่ความสามัคคีภายในชาติ และประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน”
แถลงของกระทรวงการต่างประเทศระบุว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยินดีรับฟังความคิดเห็นและการแสดงความห่วงกังวลของภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรแอมเนตี้อินเตอร์เนชั่นแนล
สำหรับการนำเสนอรายงานขององค์กรแอมเนสตี้ฯ วานนี้เป็นการเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนใน 160 ประเทศทั่วโลก โดยนายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการองค์กรแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยระบุว่าปีนี้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยถูกจับตาในระดับโลกหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม และการปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง ขณะที่การขัดแย้งกันด้วยอาวุธนั้นสังคมไทยอาจจะลดความสนใจไปแล้ว แต่ความขัดแย้งที่รุนแรงใช้อาวุธนั้นยังดำรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้ของประเทศไทย ขณะที่นางแซมพา พาเทล ผู้อำนวยการประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ได้กล่าวว่าในภูมิภาคเอเชียวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการจำกัดสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ มีการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อนเพื่อปิดปากผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบโดยมีประเทศไทยเป็นตัวอย่าง

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top