0


น้อยยิ่งกว่าน้อยครั้ง ในรอบกว่า 40 ปี ที่จะปรากฏภาพและเสียงของ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร อดีต 1 ใน 3 ผู้นำประเทศ ที่เรืองอำนาจที่สุด แห่งยุค 14 ตุลาคม 2516

ในวัย 81 จากนายทหารหนุ่มยศพันเอก ที่มีบารมีเหนือนายพลค่อนกองทัพ “พันเอก ณรงค์” ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ต้องแบกไว้บนบ่า เขาปรากฏตัวที่บ้านถกลสุข ในฐานะ “ปู่” และ “ตา” ของหลานแห่งตระกูล “กิตติขจร”

อดีตนายทหารผู้ดุดัน แห่งกองทัพของจอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี เล่าว่า ชีวิตส่วนตัวในแต่ละวันหมดไปกับการทำกับข้าว ดูแลหลานปู่ หลานตา เล่นกีฬา และเล่นไพ่ ฝึกสมอง

งานที่ยังต้องทำเพื่อไม่ให้ทักษะส่วนตัวหายไป คือการเป็นที่ปรึกษาบริษัท ของอดีตลูกน้องที่ชื่อ “อัครเดช ศศิประภา”

“เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์นวนคร อัครเดชเขาเป็นลูกน้องสมัยผู้บังคับหมวดสมัยผมเป็นนายร้อย เขาเป็นประธานมาชวนเป็นที่ปรึกษา และบริษัทเอ็นอีซี –นอร์ทอีสเทอร์โปรดักชั่น”

“พันเอก ณรงค์” ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อีกครั้ง โดยเตรียมคำตอบมาล่วงหน้า เพราะเขาบอกว่าจะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้าย จึงเปิดฉากเล่าแบบ “ฟันธง” ว่า “ไม่น่าจะลุกลามบานปลาย ถ้าไม่มีคนยุยง”

“มีคนยุให้นักศึกษาเคลื่อนไหว ก่อกวนมาเรื่อย จนกระทั่ง 10 ตุลาคม 2516 ทางพ่อตาผม (จอมพลประภาส จารุเสถียร) รัฐมนตรีมหาดไทย บอกให้จับ ผมบอกอย่าจับนะ จับแล้วมีเรื่องแน่ เพราะฝ่ายตรงข้ามของเราต้องการให้จับ ก็ไม่ฟังผม ก็จับไปขังไว้ที่บางเขน ผมบอกให้ปล่อย ถ้าไม่ปล่อยมีเรื่องใหญ่ แต่ปล่อยแล้วไม่จบ เพราะมีคนเข้าไปส่งเสริม ให้ทุนให้รอน”

ทัศนะของ “พันเอก ณรงค์” เรื่องขบวนการนักศึกษา เขามองเพียงว่า “ผมไม่เคยเห็นเด็กพวกนี้เป็นศัตรูเลย ผมสงสารเขาด้วยซ้ำ ไปเป็นเครื่องมือให้เขาทำไม อย่างว่า เด็กตามพวกนี้ไม่ทัน โดนใช้เป็นเครื่องมือไม่รู้ตัว มารู้ก็สายไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้ก็รู้กันหลายคน ตอนนั้นเขาไปจ้างกันมาเกณฑ์กันมา แล้วก็ เด็กชั้นประถมยังมีเลย ผมสงสารเด็กจริงๆ ไม่รู้เอามาทรมานทำไม เด็กเล็กมานั่งกันเต็มหมด ธรรมศาสตร์นี่เต็มเลย ราชดำเนินนี่ทั้งถนน”

ความเชื่อฝังใจ “พันเอก ณรงค์” คือมีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ต้องการโค่น 3 ผู้มีอำนาจ “ถนอม-ประภาส-ณรงค์”

“ต้องการที่จะโค่นเรา…พวกนี้ก็เด็กนะ ไปรับการสนับสนุนกัน ก็ออกมากันใหญ่โต ก็เลยบานปลายกัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม เอาการเมืองมาใส่ทีหลัง เรื่องเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มเขา 14 คนนี่มา ธีรยุทธ (บุญมี) พามาพบผมที่สวนรื่น ก็คุยกัน ตกลงกันว่า จากนี้ไป 6 เดือนจะประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ มันละเอียดอ่อน ก็ตกลงกัน”

แต่เหตุการณ์พลิกผัน เพราะมีการออกคำสั่งซ้อน จนลุกลามเป็นมหาวิปโยค “พันเอก ณรงค์” ยังเชื่อถึงทุกวันนี้ว่ามีใครบางคนอยู่เบื้องหลัง “ผมจะบอกให้ก็ได้ (บอกชื่อนายพลคนหนึ่ง) จะกล้าลงหรือไม่ก็ตาม แต่เขาตายไปหมดแล้ว เขาโกรธไม่ได้ต่ออายุเป็นอธิบดีกรมตำรวจ ผิดหวังไม่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด มือสำคัญคือคนคุมทหารเสือพรานอุดร เขาต้องทำทุกวิถีทางให้เรา
พัง”
ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201305/07/262037e0b.jpg

“ผมคิดอยู่อย่างเดียวว่า เราถูกพวกเดียวกันหักหลังกันเอง เพื่อต้องการจะขึ้นเป็นใหญ่เองเท่านั้น”

สุดท้ายสิ่งที่เขาคาดก็เป็นจริง “ผมบอก บานปลายไม่รู้นะ เตรียมตัวออกนอกประเทศละกัน ผมก็กลับมานอนบ้าน พอเดี๋ยวเดียวได้เรื่อง วันที่ 14 ตุลา ก็มีการขอให้ไปเดินทางพักผ่อนต่างประเทศชั่วคราว แหม ชั่วคราว เล่นซะหลายปี (หัวเราะ) เราก็แย่”

“พันเอก ณรงค์” ย้อนนึกถึงความทรงอิทธพลของตัวเอง ที่อาจเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง

“ใช่ ทางทหารก็ไม่มาก แค่ผู้บัญชาการกรมเท่านั้นเอง ก็มีอำนาจแค่ทหาร 3 กองพัน การเมืองในตำแหน่งรองเลขาเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิวัติราชการ (ก.ต.ป.) ผมเป็นทหารอยู่ มีนายพลใหญ่คนหนึ่ง จะให้ผมเป็นรองเลขาธิการพรรคการเมือง ผมไม่เอา เล่นการเมืองมากไม่ได้ ไม่อยากทำ เขาก็ไม่พอใจ ผมไม่ยอม”

ในฐานะคนคุมเรื่องคอร์รัปชันใน ก.ต.ป. มือทำงานของ “พันเอก ณรงค์” ในเวลานั้น ชื่อ “กล้านรงค์”

“ผมมีหน้าที่เยอะแยะ คุม ก.ต.ป. เราต้องทำตามกฎหมาย ใช้อำนาจไม่ได้ คนที่ผมใช้ให้ทำงานประจำคือนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นคนที่ตรงมาก ยังกะไม้บรรทัด ผมสั่ง บางทีขอให้อะลุ่มอล่วยบ้าง เขาบอกไม่ได้ ถ้าขืนอะลุ่มอล่วยเราเสีย เขาเป็นคนใช้ได้ทีเดียว ตอนนั้นเขาเป็นชั้นโท อยู่กับผมมาตลอด”

แม้มีตำแหน่งแห่งหนในองค์กรปราบคอร์รัปชัน แต่ชีวิตหลังหล่นจากม่านการเมือง แม้แต่บ้านที่เขานั่งให้สัมภาษณ์ยังถูกยึด และเขาต้องเช่าบ้านตัวเองจากกรมธนารักษ์

“ผมไม่ได้หาประโยชน์อะไรเลย ตอนยึดทรัพย์บัญชีเงินฝากในธนาคารยังไม่มีเลย บ้านผมปลูกมา มีหลักฐานซื้อ-ขายถูกต้องก็ยึดไป ยังไม่ได้คืน บ้านหลังนี้ ที่ตรงนี้คุณแม่ผมซื้อวาละ 35 บาท ตอนสืบสวนกับเจ้าของที่เขาก็ยังไม่ฟัง ทรัพย์สินเรา ที่ดินเมียผมซื้อมาวาละ 140 บาท ก็ถูกยึดไป ต้องเช่าอยู่หมด”

“เขายึดหมดทุกอย่าง รถรา เงินส่วนตัว บ้านที่คุณพ่อเกิด ที่จังหวัดตาก อยู่ตั้งแต่แบเบาะ ยังยึดเลย ตอนนี้เอาเป็นห้องสมุดประชาชน บ้านเกิดคุณแม่ผม ที่ดินที่อยุธยา ทิ่ดินนี้มีมาแต่คุณแม่ผมเกิด ทรัพย์สินที่ใช้อยู่เกือบไม่มีอะไรเป็นชื่อเรา เวลานี้ ผมเป็นผู้อาศัย ผู้อาศัยบ้านตัวเอง”

เขาเล่าว่ามีฝ่ายการเมืองหลายยุคที่พยายามจะทำเรื่อง “คืนทรัพย์สิน” ให้คนในตระกูล “กิตติขจร” แต่ก็ไม่เคยผ่านการพิจารณา “ผมไม่หวังแล้วนะ ตั้งกรรมการสอบสวนตั้งแต่ก่อนสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พอมา พล.อ. เปรม ก็ตั้งกรรมการ กรรมการเขาลงมติให้คืน ก็ไม่คืน เขาก็เก็บหลักฐานต่างๆ ที่สำนักนายกฯ ไม่มีใครกล้าแตะต้อง กลัวคนฮือขึ้นมาอีก…ยึด หากต้องคืนทรัพย์สินที่ถูกรัฐบาลยึดต้องออกเป็นกฎหมาย ต้องเข้าสภาผู้แทน เรื่องใหญ่ ทีนี้รัฐบาลไหนเขาจะตั้งเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องของเขา”

มีเรื่องหนึ่งที่คาใจ “พันเอก ณรงค์” ข้อหานี้แม้ในบรรดานักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าก็ยังคลางแคลง เมื่อเขาถูกใบปลิวโจมตีว่า “จะเป็นประธานาธิบดี”

“ถ้าผมประกาศอย่างนั้น โดนกระทืบไปแล้ว เพราะผมพูดในงานเลี้ยงใหญ่ ที่หล่มสัก ภูหินร่องกล้า มีเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ทหาร ตำรวจ เต็มไปหมด ผมก็พูดกันดังๆ ว่า ไอ้พวกนี้เข้าไปอยู่ป่าทำไม มันอยากให้ประเทศไทยเป็นประธานาธิบดีรึไง เราพูดแค่นี้ กลายเป็นผมประกาศตัวเป็นประธานาธิบดี ผมก็ขำ”

ภาพชีวิตที่ “พันเอก ณรงค์” จำไม่เคยเลือน แม้เหตุการณ์ผ่านไปกว่า 40 ปี คือวันที่ต้องเก็บเสื้อผ้าออกจากแผ่นดินแม่ และพ่อต้องหล่นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

“คุณพ่อลาออก วันที่ 13 ตุลาคม ท่านพูดในที่ประชุมว่า ถ้าผมออกจากตำแหน่งเสียเหตุการณ์มันอาจจะดีขึ้นก็ได้ คุณพ่อเลยกราบบังคมทูลเลย บอกข้าพระพุทธเจ้าจะขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้เหตุการณ์เรียบร้อย เช้าวันที่ 14 ตุลาคมผมก็เดินทาง แต่คุณพ่อไปพักที่ดอนเมืองก่อนแล้วไปวันที่ 15 ตุลาคม ไม่ทันได้เตรียมเนื้อเตรียมตัวอะไร ลูกสาวผมคนเล็กมีกางเกงไปตัวเดียว ใส่ชุดนอนไปด้วย”

“ไปอยู่เยอรมัน 5 ปี ร่อนอย่างกับนก…เขาไม่ให้เข้า ไม่ยอมให้กลับ”


คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี บุตรสาวจอมพล ถนอม กิตติขจร จะถูกแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ที่มาภาพ : http://program.thaipbs.or.th/documentaryprogram/article343938.ece?episodeID=370013

อาจนับได้ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ครอบครัว “กิตติขจร” เดินออกจากเส้นทางอำนาจด้วยความเจ็บปวดจนมิอาจหวนคืน แม้ว่าเวลานี้ คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี บุตรสาวจอมพล ถนอม กิตติขจร จะถูกแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกครั้ง

“พันเอก ณรงค์” บอกว่า ชีวิตที่ผ่านมา “เป็นพรหมลิขิต ฟ้าดินต้องการให้เป็นอย่างนั้น ผมถึงไม่เดือดร้อนอะไร ชะตาเป็นอย่างนั้นก็ต้องเป็น ถ้าเราไปฝืนชะตาอาจตายก็ได้ ผมไม่ได้ยอมแพ้ใคร ผมชนะตัวเองด้วยซ้ำ ที่ผมดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ ไปเล่นกอล์ฟ ออกกำลังกาย”

วาระ “14 ตุลาคม” ของทุกปี สำหรับ “พันเอก ณรงค์” ในใจของเขาเป็นเช่นไร เขาตอบว่า “ผมไม่ได้รู้สึกอะไรในเวลานี้ ผมไม่เคยคิดถึงเรื่อง 14 ตุลาอีกเลย ไม่มีความหมายอะไรเลย ผมอยากพูดว่า พวกเราเป็นชายชาติทหาร ไม่ต้องไปคิดย้อนหลัง ไม่ต้องไปคิดแก้แค้น สังคมพิพากษาก็พิพากษาไป ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร จะเห็นว่าผมเป็นเขียดเป็นกิ้งกือ เป็นหมาอะไรก็ได้ ผมก็อยู่ของผมอย่างนี้”

เหตุการณ์ “14 ตุลาคม” อยู่ในความทรงจำของคนนับแสน มีบุคคลระดับแกนนำที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเหตุการณ์ ทั้งในฝ่ายนักศึกษา ประชาชน และฝ่ายทหาร รัฐบาล ในเวลานั้น บางคนเปิดปากเล่าให้ทีมงานสารคดี ชุด “หากไม่มีวันนั้น 14 ตุลาคม” ได้บันทึก บางคนบอกเพียงว่า “ขอให้เรื่องนี้ได้ตายไปกับตัว”

“พันเอก ณรงค์” ส่งท้ายการสนทนาว่า “เมื่อผมตายเมื่อไรก็จบ คุณพ่อตายไปแล้ว พ่อตาผมก็ตายไปแล้ว ถ้าผมตายไป เรื่องทุกอย่างก็จบไปด้วยหรือไม่ ไม่รู้ จะดีไม่ดีก็ช่าง ผมไม่รู้ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้อะไรแล้ว”

หมายเหตุ: พันเอก ณรงค์ กิตติขจร ให้สัมภาษณ์ที่บ้านถกลสุข เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ในสารคดี “หากไม่มีวันนั้น…14 ตุลา 2516” ในวาระ 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 แบ่งเป็น 4 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้จัดทำวีซีดีจำหน่าย ภายใต้ชื่อ “หากไม่มีวันนั้น 14 ตุลาคม” 40 ความทรงจำเดือนตุลาคม 2516

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เห็นว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจ จึงนำมาเรียบเรียงใหม่อีกครั้ง ในวาระ 14 ตุลาคม 2557

source :- http://thaipublica.org/2014/10/narong-kittikachorn/

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top