0

"คนข้างบ้านผมถามว่าไปคุยกับเขาทำไม ทำไมไม่จับเลย ผมก็ไม่รู้จะบอกยังไงเหมือนกัน": เมื่อทหารเป็นคนผลักดันสันติภาพภาคใต้
ค่ำวันที่ 24 ก.พ. เป็นครั้งแรกที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดพูดคุยกับนักข่าวต่างประเทศเรื่องความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพภาคใต้ พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขเปิดคอมพิวเตอร์ ฉายภาพสถิติและโครงสร้างการทำงานแก้ปัญหาภาคใต้ที่ยอดบนสุดของโครงสร้างคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ มีหน่วยงานราชการทั้งพลเรือนและทหารอยู่ภายใต้โครงสร้างนี้ ถือว่าเป็นโครงสร้างใหม่ของรัฐบาล คสช. เขาอธิบายอย่างละเอียดถึงขั้นตอนการทำงาน ใครเป็นใครในเรื่องการพูดคุย “สันติสุข”
“ผมเป็นนักรบ ผมเป็นคนที่วางแผนเรื่องการปฎิบัติการมาโดยตลอด” ชีวิตมาถึงจุดหักเห หันมาทำเรื่องสันติภาพเมื่อได้เข้าร่วมเรียนในหลักสูตรสันติภาพของสถาบันพระปกเกล้า “เรียนตอนแรกก็รับไม่ได้ ทำไมต้องคุย แต่เรียนไปสักสองสามเดือนก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น” และพลโทนักรบกลายเป็นคนเดียวที่ทำงานในคณะพูดคุยทั้งในทีมใหม่และทีมเก่าภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขาบอกเล่าถึงบทเรียนหลายอย่าง แต่สิ่งแรกที่เลขานุการคณะพูดคุยทำในการแถลง คือเรียกความเชื่อมั่น เขายืนยันว่าสังคมต้องมั่นใจว่ารัฐบาลคุยถูกคนเพราะคนที่นั่งร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย คือส่วนหนึ่งของ 32 รายชื่อที่ไทยยื่นให้กับมาเลเซียว่าต้องการตัวอยู่บนโต๊ะการพูดคุย แต่ทั้งนี้ทุกคนเข้าร่วมโดยไม่มีการบังคับ
พลโทนักรบยืนยันว่า กระบวนการสันติภาพเริ่มต้นแต่ไม่จำเป็นต้องลดความรุนแรงได้ทันที สิ่งที่ต้องทำคือต้องพยายามสร้างพันธมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ทั้งสองด้านที่นั่งโต๊ะพูดคุยไม่ว่าฝ่ายมารา ปาตานีหรือฝ่ายไทย มีทั้งคนที่เห็นด้วยกับการพูดคุยราวครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือ 30% อยู่กลางๆ อีก 15-20% ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เขาเชื่อว่าต้องดึงคนที่อยู่ตรงกลางให้เข้าร่วมมากที่สุด ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย เมื่อกระบวนการเดินหน้าได้ผลจะเจอแรงกดดันให้ยกเลิกความรุนแรงเอง
เมื่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามว่าเชื่อได้อย่างไรว่ารัฐบาลทหารจะทำงานพูดคุยสันติภาพได้ดีกว่ารัฐบาลพลเรือน เลขานุการคณะพูดคุยบอกทันทีว่า เพราะทีมงานชุดใหม่มีแผนงาน ขั้นตอนที่ชัดเจน มีการประเมินผล ต่างจากชุดที่ผ่านมาที่ดูเหมือนจะมองเห็นเป็นงานที่ง่าย ที่น่าสนใจคือเขาเปิดเผยว่า ไม่มีการทำรายงานการทำงานเสนอต่อ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นคือพลเอกประยุทธ์ และไม่มีรายงานทางการที่จะนำมาใช้สานต่อได้ยกเว้นของเขาที่ทำเองเพื่อนำเสนอต่อ ผบ.ทบ.ในเวลานั้น
ความเห็นของพลโทนักรบคงตอกย้ำความคิดของกลุ่มผู้เห็นต่างที่เคยให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยไว้ชัดเจนว่า ในเมื่อทหารเป็น “ตัวจริง” ของการต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลไทย การพูดคุยกับทหารหนนี้คือบททดสอบอันสำคัญของกระบวนการสันติภาพกับรัฐบาล การเปิดเผยของพลโทนักรบถึงการทำงานของคณะพูดคุยชุดเก่าเท่ากับบอกเล่าจุดอ่อนที่ทหารมีส่วนร่วมรับรู้ไม่มาก มาถึงหนนี้เลขานุการคณะพูดคุยยืนยันว่า ต้องมีกระบวนการสร้างความไว้ใจ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำมาจนถึงขณะนี้ เพราะการพูดคุยยังไม่ได้แตะประเด็นที่จะคุยกันจริงๆ เขาย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ง่าย กระบวนการของต่างประเทศใช้เวลากันนับปีกว่าจะกำหนดหัวข้อคุยกันได้ แต่หนนี้ทีมไทยมีแผนชัดเจน
“เราวางเป้าหมายจะคุยให้ได้ผลในสามปี มินดาเนาเขาทำสิบเจ็ดปี ขณะนี้เราผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการสร้างความมั่นใจ” พลโทนักรบเล่าต่อเหมือนจะมีอารมณ์ขัน “ถ้าสำเร็จเราจะทำสถิติโลก ต่างประเทศคงจะมาเรียนรู้จากเรา”
ในเรื่องของการพูดคุยภายใต้ คสช. ที่ผ่านมามีการพบปะเต็มคณะอย่างไม่เป็นทางการสี่หน บวกกับการทำงานของคณะพูดคุยชุดเล็กในการกำหนดกติกาการพูดคุยซึ่งจวนจะแล้วเสร็จ ประเด็นที่เคยติดขัดก็แก้ไขไปได้ทั้งในเรื่องการยอมรับมารา ปาตานี การกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติและในเรื่องของการยกเว้นไม่เอาผิดทางกฎหมายสมาชิกทีมพูดคุยในระหว่างที่มีการคุยกัน การพูดคุยอย่างเป็นทางการคาดว่าจะเป็นภายในเดือนมีนาคม จะเริ่มด้วยการทดสอบความไว้ใจซึ่งกันและกันด้วยเรื่องกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัย สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความคืบหน้าอีกประการในสายตาของพลโทนักรบคือเรื่องที่ว่ามารา ปาตานียอมรับแล้วว่าหลักการของสังคมในพื้นที่ต้องเป็นการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม สามจังหวัดใต้เป็นพื้นที่ของทุกคนไม่ใช่เฉพาะมุสลิม
แต่อุปสรรคสำคัญของกระบวนการพูดคุยในเวลานี้ก็ยังมีหลายประการ พลโทนักรบยอมรับว่า ความยุ่งยากในการผลักดันกระบวนการสันติภาพไม่ใช่อยู่ที่ฝ่ายตรงข้าม แต่อยู่ในฝ่ายตัวเองเนื่องจากผู้คนไม่เดือดร้อนและไม่เห็นด้วยว่าเหตุใดจึงต้องไปพูดคุย มีเรื่องแทรกซ้อนเช่นความขัดแย้งที่ออกไปในแนวศาสนา เช่นเรื่องการที่คนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยเรื่องการสร้างพุทธมณฑลในปัตตานี อีกอย่างที่เป็นอุปสรรค คือสิ่งที่พลโทนักรบเรียกว่า “นักค้าสันติภาพ” คือคนที่อยากเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการเองเพราะเรื่องของเงินและมองว่าทหารทำไม่ได้ ปัญหาหลักด้วยคือนักการเมือง
“ปัญหาภาคใต้ปัญหาหลักคือเรื่องการเมือง การแย่งชิงพื้นที่คะแนนเสียงทางการเมือง หัวคะแนนเป็นกลุ่มผู้เห็นต่าง เคยเห็น ส.ส.ในใต้ออกมาช่วยแก้ปัญหามั่งไหม ไม่มี รัฐบาลเราไม่มีผลประโยชน์ เรามีแต่ทหารที่ไปตายและอยากกลับบ้านทุกคน เมษาและตุลานี้เราพยายามถอนทหารและให้กำลังท้องถิ่นดูแลตัวเอง ผลประโยชน์อยู่ที่การเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติทั้งสิ้น”
ขณะนี้สิ่งที่คณะพูดคุยต้องการคือแรงสนับสนุนและบรรยากาศจากในพื้นที่ “เราต้องการอย่างมากคือพลังในการสนับสนุนการพูดคุย การประณาม ปฏิเสธความรุนแรงในพื้นที่มันจะช่วยเราอย่างมาก และเซฟตี้โซน” และดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่ในพื้นที่เท่านั้น อาจจะเรียกว่าทั่วประเทศที่แรงสนับสนุนยังเป็นปัญหาใหญ่อย่างที่พลโทนักรบเองก็บอก “คนข้างบ้านผม เขาถามผมว่าไปคุยทำไม ทำไมไม่จับเลย ผมก็ไม่รู้จะตอบเขาอย่างไรเหมือนกัน”


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top