0


จากญี่ปุ่นถึงไทย : เท็ปโกยอมรับประกาศเรื่องการหลอมละลายของนิวเคลียร์ช้าเกินไป ส่วนเครือข่ายปฎิรูปพลังงานดูดซับบทเรียนจากฟูกูชิมะชี้ให้มองหาเทคโนโลยีอื่น
บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือเท็ปโก ผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ยอมรับว่าบริษัทแจ้งเรื่องเกิดการหลอมละลายของนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี 2554 ช้ากว่าที่ควร ด้านผู้ประสบภัยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในไทยเผย ชาวบ้านมีความคิดต่าง คือทั้งที่หวาดกลัวกับกัมมันตรังสี กับไม่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบ
บริษัทเท็ปโก ซึ่งออกมายอมรับเมื่อวานนี้ ระบุด้วยว่ามีกฎระเบียบภายในบริษัทที่กำหนดชัดเจนให้ต้องประกาศว่าเกิดการหลอมละลายของนิวเคลียร์เมื่อเกิดความเสียหายกับเตาปฏิกรณ์หลักเกิน 5% แต่ในครั้งนั้นบริษัทได้แจ้งแก่ทางการหลังเกิดความเสียหายเกิน 50% หรือ 3 วันหลังจากเกิดภัยพิบัติ และยังไม่ได้ประกาศแจ้งให้ประชาชนทั่วไปทราบเป็นเวลานานถึงสองเดือน
ส่วนที่เมืองไทย เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยได้เชิญผู้ประสบภัยชาวญี่ปุ่นมาบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ในงานเสวนาหัวข้อ “จำเป็นแค่ไหนที่ประเทศไทยต้องเสี่ยงมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” ซึ่งผู้ประสบภัยให้ข้อมูลว่าชาวบ้านมีความคิดแยกเป็นสองส่วนทั้งยังคงหวาดกลัวกับกัมมันตรังสีและไม่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบ
น.ส.เอมิโกะ ฟูจิโอกะ จากเครือข่ายดวงประทีปแห่งฟูกูชิมะเพื่อพลเมืองโลก เล่าว่าหลังเกิดภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ทางการต้องสั่งอพยพประชาชนราว 100,000 คนออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยที่พบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีราว 300,000 คน ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพ เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ 167 คน สูงกว่าค่าความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ก่อนโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะระเบิด ซึ่งอยู่ที่ 3 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบันจังหวัดฟูกูชิมะยังต้องกำจัดหญ้าและวัชพืช รวมทั้งดินที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ด้วยการนำไปเผาในโรงเผาขยะที่รัฐบาลยืนยันว่ามีความปลอดภัย และเนื่องจากฟูกูชิมะเป็นเมืองอุตสาหกรรมเกษตรและประมง การปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในสัตว์น้ำและพืชผลการเกษตร จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อเกษตรกร
ด้านนายคอนโนะ โยชิกิ ผู้นำชุมชนในอำเภอโอกาดะ เมืองมินามิ โซมะ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะราว 20 ก.ม.กล่าวว่า หลังต้องอพยพออกจากบ้านเกิดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เขาจะได้เดินทางกลับไปที่นั่นเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากรัฐบาลได้พยายามฟื้นฟูสภาพเมืองให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เขาเล่าด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น เมืองมินามิ โซมะ มีประชากรอาศัยอยู่ราว 70,000 คน ปัจจุบันยังคงเป็นเมืองร้างไม่มีผู้อยู่อาศัย และจากการสำรวจความต้องการของผู้ที่ถูกอพยพออกจากอำเภอโอดากะจำนวน 13,000 คน ส่วนใหญ่ตอบว่าจะไม่กลับไปอยู่เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม นายคอนโนะ กล่าวว่า ยังมีชาวบ้านกลุ่มที่ต้องการกลับไปซึ่งให้เหตุผลว่ากัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมปริมาณเล็กน้อยน่าจะไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา ส่วนกลุ่มที่ไม่ต้องการกลับไปให้เหตุผลว่าการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสีเพียงเล็กน้อย อาจส่งผลในระยะยาวถึงทายาทรุ่นต่อไปได้
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) กล่าวว่า ถ้าไทยไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเติม อีก 10 ปีข้างหน้า ไทยก็จะยังคงมีปริมาณไฟฟ้าสำรองอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าร้อยละ15 ซึ่งเป็นปริมาณไฟฟ้าสำรองที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) กำหนด และจะเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงปีที่ 17-19 นับจากนี้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางด้านพลังงานจะพัฒนาไปมากพอที่ประเทศไทยจะมีตัวเลือกในการผลิตไฟฟ้า โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งก่อปัญหามลพิษให้กับประเทศ


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top