ยอดขายอาวุธทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สถิติล่าสุดจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอล์คโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2006-2011 พบว่าปริมาณการส่งมอบอาวุธชนิดสำคัญต่าง ๆ จากประเทศผู้ค้าไปยังผู้ซื้อได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 14 % ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งแสดงถึงความต้องการอาวุธที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเหตุความขัดแย้งทั่วโลก
โจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของบีบีซีระบุว่า ความต้องการอาวุธที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เนื่องจากเกิดเหตุความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารเพิ่มขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชีย ที่ส่วนหนึ่งมาจากการขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีน ไปจนถึงเหตุวุ่นวายในตะวันออกกลาง เช่นที่อิรัก ซีเรีย และเยเมนซึ่งซาอุดีอาระเบียเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ส่วนที่ยุโรปเองนั้น การแผ่ขยายแสนยานุภาพทางทหารของรัสเซีย ก็ทำให้หลายประเทศเพิ่มงบประมาณทางทหารขึ้นเช่นกัน
ในรายงานของ SIPRI สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมียอดขายคิดเป็น 33% ของยอดขายอาวุธทั่วโลก ลูกค้าผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี
ส่วนรัสเซียนั้น เป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่อันดับรองลงมา โดยมียอดขาย 25% ในตลาดโลก และมีลูกค้ารายใหญ่คือจีนและอินเดีย
อย่างไรก็ตาม จีนนั้นได้กลายมาเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ของโลกเช่นกัน โดยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ค้ารายใหญ่อันดับสาม แซงหน้าฝรั่งเศสและเยอรมนี ด้วยยอดขายราว 6% ในตลาดโลก และมีลูกค้าสำคัญคือปากีสถาน
การที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ค้าอาวุธรายสำคัญนี้ แสดงถึงความก้าวหน้าในเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการทหาร ซึ่งสามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่แต่เดิมจะหาซื้อได้จากผู้ค้าชาติตะวันตกเพียงไม่กี่รายเท่านั้น เช่น โดรนที่ใช้งานทางทหารของจีน ก็เริ่มมีผู้พบเห็นแล้วที่ไนจีเรีย ซึ่งแสดงว่าจีนไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตอาวุธราคาถูกที่ลอกเลียนแบบจากอาวุธรัสเซียอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การที่จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงรายใหญ่ของโลก แสดงว่าเทคโนโลยีการทหารของจีนยังคงต้องพัฒนาอีกอย่างมาก
ยอดขายอาวุธของฝรั่งเศสและเยอรมนีตกลงอย่างมากตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ยอดขายอาวุธของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก เพิ่มขึ้นเกือบถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้า
ส่วนผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ที่สุด 5 รายของโลก ระหว่างช่วงปี 2011-2015 นั้น ได้แก่อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย ซึ่งนำเข้าอาวุธรวมกันคิดเป็น 34% ของปริมาณการสั่งซื้อทั่วโลก การที่ผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ทั้งหมดอยู่ในเอเชีย ยิ่งตอกย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ความตึงเครียดขัดแย้งกำลังทวีขึ้นในภูมิภาคนี้
ภาพประกอบ (ล่าง) : แผนภูมิแท่งแสดงปริมาณการนำเข้าอาวุธของผู้ซื้อในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งคิดเป็นร้อยละจากยอดการสั่งซื้อทั้งหมดในตลาดโลก โดยปริมาณการนำเข้านี้เปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2006-2010 (สีเขียวเข้ม) และช่วงปี 2011-2015 (สีเขียวอ่อน)
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น