วาฬใช้เสียงต่างรูปแบบเพื่อการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม สร้างความผูกพันทางสังคมเหมือนมนุษย์
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดัลเฮาซีในแคนาดา พบว่า การเปล่งเสียงสื่อสารที่มีรูปแบบเฉพาะในกลุ่มวาฬสเปิร์ม หรือวาฬหัวทุยนั้น เป็นเครื่องมือที่วาฬใช้ในการสร้างความผูกพันทางสังคม และบ่งบอกถึงความเป็นกลุ่มทางสังคมเดียวกัน เช่นเดียวกับมนุษย์
วาฬเป็นสัตว์ที่มีเครือข่ายทางสังคมแน่นแฟ้น และสื่อสารกันด้วยการเปล่งเสียงคลิกอย่างเป็นระบบ โดยการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications นั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาวาฬสเปิร์ม หรือวาฬหัวทุย ที่อยู่นอกชายฝั่งหมู่เกาะกาลาปาโกส ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก แล้วพบว่า วาฬแต่ละกลุ่มมีการสื่อสารภายในกลุ่มด้วยเสียงที่มีรูปแบบและการไล่ลำดับเสียงเฉพาะตัว คือ ทำเสียงคลิก หรือเสียงคล้ายการเข้ารหัสมอร์ส ที่มีจังหวะและความเร็วแตกต่างกันไป ซึ่งการเปล่งเสียงเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่กำเนิด ทว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ภายในกลุ่ม อันเป็นพฤติกรรมที่คล้ายกับการมีวัฒนธรรมของมนุษย์
ศ.ฮาล ไวท์เฮด หนึ่งในทีมนักวิจัยบอกว่า การสื่อสารในลักษณะดังกล่าวเปรียบเสมือนแฟนฟุตบอลที่ใส่เสื้อทีมฟุตบอลเดียวกัน ซึ่งแม้พวกเขาจะไม่รู้จักทุกคนในสนาม แต่พวกเขาก็แสดงตัวว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันและร้องเพลงเชียร์ทีมเดียวกัน

 
Top