เลือกตั้งสิงคโปร์กับผลลัพธ์ที่ไม่ยากเกินจะคาดเดา
วันพรุ่งนี้ (11 ก.ย.) คนสิงคโปร์จะไปหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ประกาศล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดนานถึง 16 เดือน เทสซา หว่อง ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่า เป็นที่รู้กันว่าการเลือกตั้งของสิงคโปร์ที่ผ่าน ๆ มา แม้จะดูมีสีสันแต่ในเวลาเดียวกันก็คาดเดาผลได้อย่างแสนจะง่ายดาย ครั้งนี้ก็เช่นกัน การที่พรรคกิจประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมานาน 50 ปี จะได้กุมบังเหียนอีกครั้ง จึงไม่ได้ทำให้ใครประหลาดใจ
พรรคกิจประชาชนได้แรงหนุนจากกลุ่มคนสูงอายุที่ได้เห็นพัฒนาการของสิงคโปร์จากอดีตจนก้าวขึ้นเป็นชาติเศรษฐกิจชั้นนำ คนกลุ่มนี้ยอมสละเสรีภาพบางอย่าง เพื่อแลกกับความมั่งคั่งและมั่นคง ทว่าคนรุ่นหนุ่มสาวกลับต้องการเห็นรัฐบาลที่ตรวจสอบได้ และอยากให้มีผู้แทนฝ่ายค้านเข้าไปทำหน้าที่มากขึ้น
การเลือกตั้งหนนี้นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่ไร้เงาของนายลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังจะเป็นครั้งแรกที่มีการชิงชัยกันในทุกเขตเลือกตั้งเพราะมีผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านลงแข่งขันมากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะในยุคของอดีตผู้นำที่ล่วงลับซึ่งได้ชื่อว่าไร้ความปราณีและใช้การฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือจัดการกับฝ่ายตรงข้าม
นายฉี ซุ่น ฉวน ที่เคยกลายเป็นบุคคลล้มละลายเพราะถูกนายลี กวน ยู ฟ้องร้อง เป็นคนหนึ่งที่ได้โอกาสหวนคืนสังเวียนเลือกตั้งอีกครั้ง
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของสิงคโปร์นั้นได้ชื่อว่าใสสะอาดปราศจากการโกงกิน แต่ก็มีโครงสร้างทางการเมืองที่นักวิจารณ์หลายคนมองว่าเอื้อประโยชน์แก่พรรคกิจประชาชน หนึ่งในนั้นก็คือระบบเขตเลือกตั้งกลุ่มผู้แทน ซึ่งกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจัดกลุ่มโดยต้องมีกลุ่มคนเชื้อชาติส่วนน้อยรวมอยู่ด้วยอย่างน้อยหนึ่งคน กับการกำหนดให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งแต่เพียงผู้เดียว นั่นก็คือทีมใดได้เสียงมากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะยกทีม ยิ่งทำให้ยากที่ฝ่ายค้านจะมีโอกาสได้ที่นั่ง
หลายคนยังมองว่าระบบแบบนี้ทำให้นักการเมืองที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมได้อาศัยบารมีนักการเมืองคนอื่นผ่านเข้าสภาไป นอกจากนี้การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไร้ซึ่งความเป็นอิสระมักจะเปลี่ยนแนวแบ่งเขตเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลาทำให้ถูกครหาว่าเป็นกลโกงเลือกตั้ง โดยเฉพาะการรวมเอาชุมชนที่อยู่ห่างไกลเข้าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน อย่างไรก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงนี้พรรคกิจประชาชน ปฏิเสธและยืนยันว่าพรรคเองก็เสียประโยชน์เช่นกัน
อีกประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งคือความแนบแน่นระหว่างพรรครัฐบาลกับกลไกของรัฐบาลเองและการควบคุมแหล่งเงินทุนของรัฐซึ่งมาจากเงินภาษีเพื่อให้ได้อำนาจครอบงำทางการเมือง
พรรคฝ่ายค้านสิงคโปร์ระบุว่าการเข้าถึงเงินกองทุนของรัฐบาลและทรัพยากรชุมชนในเขตเลือกตั้งของตนเป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่ชุมชนที่เป็นมิตรกับพรรคกิจประชาชนมักเป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงค์
กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง พรรคกิจประชาชนถึงกับเคยออกปากว่าจะปรับปรุงที่อยู่อาศัยในเขตเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านเป็นกลุ่มสุดท้าย ท่าทีแบบนี้นี่เองที่ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้พรรคกิจประชาชนสร้างบรรยากาศการแข่งขันทางการเมืองที่ทำให้ผู้เล่นมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้นกว่าเดิม ‪#‎SingaporeElection‬





 
Top