ความเห็นวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตอนที่ 1 รัฐธรรมนูญในภาวะสังคมไทยลอกคราบ จะอยู่ยาวเกิน 5 ปีและแก้ไขยากที่สุด
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน จากกลุ่มนิติราษฎร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับตัวบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติในวันที่ 6 กันยายนนี้ เขาเห็นว่าส่วนที่ต้องพิจารณามากที่สุดก็คือการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติ ตามมาตรา 260 ซึ่งสามารถใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลได้ในกรณีที่เกิดวิกฤตรัฐบาลไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงจำกัดอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการโดยตำแหน่งนั้นระบุไว้ชัดเจนว่า คือผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้เห็นว่าอำนาจของทหารนั้นอยู่เหนือพลเรือน ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่อำนาจพลเรือนต้องเป็นอำนาจสูงสุด
โดยเขาชี้ว่าในมาตรา 261 ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปรองดองแห่งชาตินั้น งานทั้งหมดที่ระบุก็คือการบริหารงานแผ่นดิน
“มาตรานี้คืออำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งนั้นและมีค่าบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องปฏิบัติตามด้วย และอำนาจนี้ยังถูกเขียนเติมได้อีกในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” วรเจตน์กล่าวและตั้งคำถามว่า ในมาตรา 261 วรรค 3 ให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการสั่งคณะรัฐมนตรีด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาว่า หากคณะรัฐมนตรีทำตามคำสั่งของคณะกรรมการฯ แล้วเกิดความเสียหาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม การมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติขึ้นมากำกับรัฐบาลอีกชั้นหนึ่งไม่ใช่เรื่องผิดคาด เพราะเขาคิดว่าในภาวะที่เงื่อนไขทางการเมืองเป็นทางตันก็หนีไม่พ้นต้องออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้ คือต้องเอาการเมืองในระบอบรัฐสภาไว้ล่างสุด ควบคุมโดยศาลและองค์กรอิสระ โดยมีอีกองค์กรหนึ่งอยู่บนสุดเพื่อใช้อำนาจในภาวะวิกฤต
รศ.ดร. วรเจตน์กล่าวด้วยว่า ในภาวะปกติธรรมดาก็มีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหาร แต่ในภาวะที่ไม่ปกติกรณีฉุกเฉินต้องมีกลไกที่ใช้อำนาจอย่างเร็ว ซึ่งในประเทศที่มีพัฒนาการประชาธิปไตยแล้วจะต้องมีการถ่วงดุลกันโดยองค์กรอื่น แต่จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เห็นว่ามีการถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจในการบริหารเช่นนั้น ซึ่งเขาก็เห็นว่าการมีบทบัญญัติในลักษณะที่มีองค์กรสูงสุดควบคุมกลไกตามระบบรัฐสภาปกติเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าสังคมไทยอยู่ในภาวะของการลอกคราบ ซึ่งจะทำให้เห็นความผิดเพี้ยนบางอย่าง แต่ก็คือสภาวะที่สังคมจะต้องเผชิญ
ในส่วนที่มีการคาดการณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นฉบับที่ใช้ชั่วคราวในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทย ไม่เกิน 5 ปีนั้น เขามองต่างไป โดยเห็นว่าบทบัญญัติบางข้อสะท้อนชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต่ออายุองค์กรที่อยู่เหนือระบอบรัฐสภาออกไปได้อีกอย่างน้อย 5 ปี และเมื่อสถาปนากลไกเช่นนี้ได้แล้วก็อาจจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ นอกจากรัฐธรรมนูญจะเปิดช่องเอาไว้ให้ต่ออายุคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไปอีก 5 ปี เงื่อนไขปัจจัยทางการเมืองไทยและการบัญญัติกฎหมายปิดทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ก็เป็นการป้องกันการแก้รัฐธรรมนูญในภายหน้า ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
“การปลดล็อกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันสุ่มเสี่ยงมากในวันหน้า เพราะมันปิดทาง กลไกทางกฎหมายมันถูกบีบให้ไปสู่การต้องลบล้าง ผมจึงเชื่อว่าอนาคตมีโอกาสขยายไปยาวนานกว่า 5 ปีแน่ๆ การบัญญัติบทเฉพาะกาลสะท้อนว่ากลัวการคืนอำนาจกลับไปที่ประชาชน” นักกฎหมายมหาชนกล่าว
(บทวิเคราะห์มี 2 ตอน ตอนหน้าว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีหลายมาตรฐาน)

 
Top