0

ภาคประชาสังคมไทย เตรียมร่วมประชุมทบทวนการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เจนีวา หวังนำเสนอประเด็น ที่อาจไม่ปรากฎในรายงานของฝ่ายรัฐบาล
น.ส. ชุมาพร แต่งเกลี้ยง คณะทำงานเครือข่ายการทำงานในกระบวนการ UPR (The CSOs Coalition for Thailand UPR) ระบุว่า ขณะนี้ภาคประชาสังคมไทยได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางของภาคประชาชนที่จะเข้าร่วม การประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ (Human Rights Council) ประจำปี 2559 ซึ่งประเด็นสิทธิมนุษยชนของไทยจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในเดือนพฤษภาคมที่จะ ถึงนี้
กระบวนการยูพีอาร์ (Universal Periodic Review) เป็นกลไกใหม่ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 192 ประเทศ จะต้องจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ หรือเรียกย่อๆ ว่ารายงานยูพีอาร์เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน และไม่มีข้อยกเว้น การทบทวนรอบแรกจะใช้เวลา 4 ปีๆ ละ 48 ประเทศ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆ ได้นำเสนอรายงานคู่ขนานด้วย
โดยก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมไทยที่ทำงานประเด็นสิทธิมนุษยชนได้ส่งรายงานคู่ขนานของประชา สังคมให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนไปแล้ว ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ สิทธิของผู้สูงอายุ สิทธิผู้ติดเชื้อ สิทธิสุขภาพ สิทธิคนพิการ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม สิทธิผู้ลี้ภัยเเละผู้เเสวงหาที่ลี้ภัย สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิเด็กประเทศไทย สิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิทธิความหลากหลายทางเพศ สิทธิที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในชีวิต การทรมาน โทษประหารชีวิต การบังคับให้สูญหาย เสรีภาพความเป็นส่วนตัวและสิทธิแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อสื่อสารกับประเทศต่างๆ ที่จะเข้าร่วมประชุมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน โดยหารือกันเพื่อกำหนดประเด็นหลักในการสื่อสารกับประเทศสมาชิก เพื่อนำไปซักถามต่อฝ่ายทางการไทย
ทั้งนี้ ชุมาพรกล่าวด้วยว่า ในการประชุมซึ่งรัฐบาลอาจจะสะท้อนเรื่องต่างๆ ภายใต้การทำงานของรัฐ และมีหลายประเด็นที่ยังเป็นข้อโต้แย้งได้ เช่น การที่รายงานภาครัฐระบุว่า การคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ดำเนินตามหลักการปารีส แต่ในความเป็นจริงแล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยถูกลดอันดับและถูก วิจารณ์จากไอซีซีเรื่องกระบวนการคัดเลือกกรรรมการฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ ชุมาพรชี้ว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านเสรีภาพในการแสดงความเห็นหลังการรัฐประหารนั้นถูกจับ ตา แต่ประเด็นดังกล่าวนี้กลับนี้ไม่ได้ถูกเน้นย้ำในการรายงานของภาครัฐ
“กลไกของยูพีอาร์ไม่ได้เป็นเพียงแต่กลไกที่ให้ภาครัฐไปไปเสนออย่างเดียว แต่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ นำเสนอรายงานแบบคู่ขนานด้วย ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวอย่างนี้ การที่ภาคประชาสังคมหันไปใช้วิธีการยูพีอาร์ในการนำเสนอรายงานสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนของไทย ซึ่งถือเป็นช่องทางที่เหลืออยู่น้อยมากที่จะนำเสนอให้ประชาคมโลกได้เห็นการ ละเมิดสิทธิทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม เราไมได้คิดว่าเราต้องไปต่อสู้กับภาครัฐ แต่สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการใช้พื้นที่ยูพีอาร์ให้รัฐได้รับข้อเสนอ และอุดช่องว่างในประเด็นที่รัฐไม่มีความกล้าหาญในการนำเสนอ”
ชุมาพรกล่าวโดยระบุว่า หลังจากนี้คณะทำงานจะจัดทำรายงานข้อเท็จจริงฉบับย่อ เพื่อให้ประเทศสมาชิกที่จะเข้าร่วมประชุมได้เข้าใจประเด็นได้ง่ายขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จก่อนสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top