0

ไวรัสซิกาจะช่วยให้ลาตินอเมริกายอมผ่อนปรนกฎหมายต้านการทำแท้งหรือไม่ ?

ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคลาตินอเมริกามีกฎหมายต่อต้านการทำแท้งที่เข้มงวด และการยุติการตั้งครรภ์ถือเป็นสิ่งต้องห้ามที่ขัดต่อหลักศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและอีแวนเจลิค รวมทั้งยังขัดต่อบรรทัดฐานทางสังคมด้วย อย่างไรก็ตามวาเลเรีย เปรัสโซ ผู้สื่อข่าวสายสังคมของบีบีซีบอกว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาในปัจจุบันได้จุดกระแสถกเถียงเรื่องกฎหมายต่อต้านการทำแท้งที่เข้มงวดขึ้นมาอีกครั้ง เพราะไวรัสชนิดนี้ถูกโยงว่า เป็นต้นเหตุที่ให้ทารกในบราซิลหลายพันคนมีภาวะศีรษะเล็กผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองผิดปกติ
ปัจจุบัน บราซิลเป็นประเทศที่ไวรัสซิกาแพร่ระบาดรุนแรงที่สุด โดยมีรายงานว่าอาจมีทารกที่มีภาวะศีรษะเล็กผิดปกติแต่กำเนิดเกือบ 4,000 รายนับตั้งแต่เชื้อเริ่มระบาดเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อปี 2557 ที่มีเพียง 150 ราย และกฎหมายบราซิลอนุญาตให้สามารถทำแท้งได้เฉพาะกรณีที่ผู้หญิงถูกข่มขืน หรือการตั้งครรภ์จะทำให้มารดาเป็นอันตรายถึงชีวิตเท่านั้น
เดโบรา ดินิซ อาจารย์ด้านกฎหมายบอกว่า ผู้หญิงในบราซิลต่างหวาดวิตกว่า จะตั้งครรภ์ในช่วงที่ไวรัสชนิดนี้กำลังระบาดหนักในประเทศ ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนผิวสีและฐานะยากจน
ดินิซ เป็นหนึ่งในกลุ่มนักเคลื่อนไหวในบราซิลที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดของประเทศ เพื่อให้สตรีมีสิทธิ์ทำแท้งได้ในกรณีที่ตั้งครรภ์ทารกที่มีภาวะศีรษะเล็กผิดปกติ โดยกลุ่มชี้ว่า ปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นมาจากการที่รัฐบาลล้มเหลวในการกำจัดยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญให้หมดไป ดังนั้นผู้หญิงบราซิลจึงไม่ควรถูกลงโทษจากการกระทำ ที่มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายของรัฐ ทั้งยังระบุว่าการยอมให้มารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกาทำแท้งได้นั้น ถือเป็นเรื่องสิทธิสตรี ที่ผู้หญิงจะเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการเจริญพันธุ์ของตนเอง
กลุ่มนี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน ในการเรียกร้องให้สตรีสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย กรณีที่ทารกเกิดมาพร้อมภาวะที่ไม่มีสมองและกะโหลกศีรษะ สำหรับคำร้องครั้งล่าสุดนี้ จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงสุดในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากศาลอนุมัติก็จะเป็นการแก้ไขกฎหมายต่อต้านการทำแท้งที่มีอายุยาวนาน 75 ปี
ทางด้านกลุ่มผู้มีความเห็นต่างได้วิจารณ์ว่า ไวรัสซิกากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือขององค์กรที่พยายามทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมายและได้รับการยอมรับจากสังคม อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ชาวบราซิล 67% ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายต่อต้านการทำแท้ง ส่วนอีก 16% เห็นด้วยว่าควรเพิ่มเงื่อนไขที่ให้สามารถทำแท้งได้ และอีก 11% คิดว่าควรให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
นอกจากนี้ หลายประเทศในทวีปอเมริกา เช่น โคลอมเบีย และเอลซัลวาดอร์ ก็มีการถกเถียงเรื่องนี้เช่นกัน โดยโคลอมเบียแนะนำให้สตรีที่ติดเชื้อไวรัสซิกาพบแพทย์เพื่อประเมินช่องทางยุติการตั้งครรภ์ภายในกรอบของกฎหมาย ขณะที่ทางการเอลซัลวาดอร์ แนะนำให้สตรีเลื่อนการวางแผนตั้งครรภ์ไปจนถึงปี 2561
เอลซัลวาดอร์นั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านการทำแท้งที่เข้มงวดที่สุดในโลก เพราะห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำแท้ง แม้การตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งผู้ฝ่าฝืนอาจต้องโทษจำคุกถึง 40 ปี ซึ่งหลังจากไวรัสซิกาแพร่ระบาดกลุ่มพลเมืองได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเปิดอภิปรายเรื่องผ่อนปรนกฎหมายดังกล่าวในระดับชาติ
ขณะเดียวกันหลายฝ่ายเชื่อว่า การที่ทางการประเทศต่าง ๆ แนะนำให้สตรีเลี่ยงการตั้งครรภ์ในช่วงนี้ เป็นการมองข้ามข้อมูลทางสถิติที่บ่งชี้ว่า การตั้งครรภ์กว่าครึ่งในภูมิภาคลาตินอเมริกา เป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของการตั้งครรภ์แบบนี้มักจบลงด้วยการทำแท้ง
ข้อมูลจากสถาบันกัทมาเคอร์ องค์กรด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ในสหรัฐฯ บอกว่าอัตราการทำแท้งในภูมิภาคนี้อยู่ที่ปีละ 4.4 ล้านราย และ 95% เป็นการทำแท้งเถื่อนที่ไม่ปลอดภัย
ส่วนศูนย์เพื่อสิทธิการเจริญพันธุ์ที่มีสำนักงานในสหรัฐฯ ระบุว่า แต่ละปีมีสตรีในภูมิภาคลาตินอเมริกาเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยราว 2,000 คน และอีกนับล้านต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ข้อมูลเหล่านี้จะยิ่งทำให้สตรีมีครรภ์ในพื้นที่ที่ไวรัสซิการะบาดเกิดความหวาดวิตกเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ได้ทำให้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องการทำแท้งขึ้นมาถกเถียงกันในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาอีกครั้ง ‪#‎Zika‬ ‪#‎Zikavirus‬
ภาพประกอบ ภาพแรก ทารกในบราซิลที่มีสมองเล็กกว่าปกติ, ภาพ 2 การรณรงค์ป้องกันไวรัสซิกาในโคลอมเบีย, ภาพ 3 นักเคลื่อนไหวในชิลีที่สนับสนุนการทำแท้ง, ภาพ 4 ผู้เดินขบวนต่อต้านการทำแท้งในเม็กซิโก



แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top