ชะตากรรมคนงานไทยในอิสราเอล: รายงานวิจัยเรียกร้องรัฐบาลอิสราเอลตรวจสอบการตายของคนงานไทยอย่างจริงจัง ชี้สภาพจ้างงานที่ใช้คนอย่างหนักอาจมีส่วน ระบุคนงานส่วนหนึ่งทำงานทุกวัน วันละ 12 ชม.หนึ่งปีได้หยุด 4 วัน
“ 21 พ.ค. 2556 นายไพรวัลย์ สีสุขขะ ชาวไทยอายุ 37 ปีเสียชีวิตขณะนอนหลับในสวนเกษตร Kfar Vitkin ใกล้เมืองเนทันยา ในห้องที่แออัดในโรงนาที่นายจ้างอิสราเอลดัดแปลงเป็นที่พักคนงาน... จากข้อมูลที่ได้จากเพื่อนคนงาน ไพรวัลย์มักต้องทำงานมากถึง 17 ชม.ต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์.. ”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่จัดทำโดยอูริ ซากี นักกิจกรรมชาวอิสราเอลที่ทำวิจัยให้กับกลุ่มฮิวแมนไรซ์ วอช รายงานนี้เสนอให้รัฐบาลไทยกับอิสราเอลตรวจสอบสาเหตุการตายของแรงงานไทยในอิสราเอลที่สะสมรวมแล้วกว่าร้อยอย่างจริงจัง พร้อมทั้งชี้ถึงเงื่อนไขการทำงานอันหนักหน่วง ความเป็นอยู่ที่แออัดว่าอาจมีส่วนในสาเหตุการตาย ในรายงาน มีการอ้างคำพูดคนงานไทยรายหนึ่งที่พูดถึงตัวเองว่า “รู้สึกเหมือนเป็นก้อนเนื้อที่ตายแล้ว” จากสภาพการทำงานหนักต่อเนื่อง
อูริ ซากี แห่งกลุ่มฮิวแมนไรซ์วอชและเป็นนักกิจกรรมอิสราเอลเปิดเผยกับบีบีซีไทยด้วยว่า ในช่วงนี้ตนได้เข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและอิสราเอล โดยในส่วนของไทยจะรวมไปถึงกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้เพื่อเสนอให้ทุกฝ่ายพิจารณาปรับปรุงสภาพเงื่อนไขในการทำงานของแรงงานไทยในอิสราเอล รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลอิสราเอลตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของแรงงานไทยที่เสียชีวิตลงทีละรายรวมๆกันแล้วจำนวนเกินร้อยนั้นให้ละเอียดถี่ถ้วนไม่รีบสรุป รายงานระบุว่าที่ผ่านมาการที่ทางการอิสราเอลสรุปสาเหตุว่าคนเหล่านั้นเป็นโรคไหลตายนั้นทำอย่างรวดเร็วเกินไปขาดการตรวจสอบหาเหตุที่แท้จริง
นายซากีเขียนในรายงานเรื่อง “สัญญาเถื่อน: การปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานไทยในภาคการเกษตรของอิสราเอล” (A Raw Deal: Abuse of Thai workers in Israel’s Agricultural Sector) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนม.ค.ปีนี้ว่า จากปี 2551 - 2556 มีข้อมูลว่ามีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตรวม 122 คน โดย 43 คนเสียชีวิตจากโรคไหลตาย (sudden nocturnal death syndrome) อีก 5 คนฆ่าตัวตาย และอีก 22 คนไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากตำรวจอิสราเอลไม่ได้ร้องขอให้มีการชันสูตรพลิกศพ และที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการร้องขอให้สอบสวนอย่างจริงจัง แต่รัฐบาลอิสราเอลยังไม่ได้ทำ นายซากีระบุว่า เรื่องนี้รัฐบาลไทยควรจะขอให้รัฐบาลอิสราเอลดำเนินการเพื่อดูแลแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอลให้ดีขึ้น
นายซากีระบุว่าเมื่อคณะของเขาลงเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการทำรายงานดังกล่าวในบางพื้นที่พบว่า ส่วนหนึ่งของคนงานไทยในอิสราเอลซึ่งมีประมาณ 20,000 คนนั้น คนที่พบทำงานหนักมากอย่างต่อเนื่องและสภาพความเป็นอยู่ของหลายรายน่าเป็นห่วง “เราพบว่ามีข้อมูลมากพอในเรื่องของต้นตอของการเสียชีวิต เราได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลตรวจสอบเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วนมากขึ้นเพราะมีความเป็นห่วงว่า มันอาจเกี่ยวเนื่องกับสภาพเงื่อนไขในการทำงานของพวกเขา”
เขากล่าวว่า คนงานเหล่านั้นทำงานหนักต่อเนื่องในสวนเกษตรในสภาพอากาศที่ร้อนมาก “มีช่วงหนึ่งที่เราไปเยี่ยมเยียนแรงงานกลุ่มหนึ่งในช่วงก่อนที่อิสราเอลจะเข้าสู่วันหยุดยาว ซึ่งแน่นอนว่าในตลาดมีความต้องการในเรื่องผลผลิตอาหารสูง คนที่เราไปพบต้องทำงานกะที่ต่อเนื่องตลอด 24 ช.ม. ด้านสภาพความเป็นอยู่ก็แออัด หลายๆที่ที่เราไปพบว่าสภาพที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ แออัด ห้องเล็กมาก กรณีที่แย่ที่สุดที่เห็นคือนอนในกล่องกระดาษ ห้องน้ำ อะไรต่างๆไม่ดีพอ”

รายงานที่เขาเขียนให้กับฮิวแมนไรซ์วอชระบุว่า จากการได้ไปพบปะกับแรงงานไทยในชุมชนเกษตรทั้งตอนเหนือ ตอนกลางและใต้ของประเทศ พวกเขาล้วนบอกว่าได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ถูกบังคับให้ทำงานยาวนานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อยู่ในสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยและไม่ได้รับสิทธิให้เปลี่ยนนายจ้าง ในชุมชนเกษตรสิบกลุ่ม มีเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถแสดงใบแจ้งหรือสลิปเงินเดือนให้ดูได้และเขียนเป็นภาษาฮีบรู ทั้งไม่ได้ระบุจำนวนเวลาการทำงานที่ถูกต้อง คนงานไทยคนหนึ่งจากตอนเหนือบอกว่าเขารู้สึกเหมือนเป็น “ก้อนเนื้อที่ตายแล้วหลังจากทำงานตั้งแต่ตีสี่ครึ่งถึงหนึ่งทุ่ม อีกคนบอกว่านายจ้างใช้กล้องส่องทางไกลคอยตรวจว่าพวกเขาทำงานจริงหรือไม่และทำกับพวกเขาเหมือน “เป็นทาส” หลายคนบอกว่าทำงานวันละ 12 ช.ม.สัปดาห์ละ 7 วันและได้หยุดแค่ปีละ 4 วัน ปกติสัญญาจ้างงานของพวกเขาคือ 5 ปี 5 เดือน
รายงานของฮิวแมนไรซ์วอชบอกอีกว่า คนงานหลายคนที่ผู้ทำวิจัยได้พบบอกว่ามีอาการเจ็บป่วย เช่นมึนหัว แสบตา ระบบทางเดินหายใจมีปัญหาและพวกเขาเชื่อว่ามาจากการต้องฉีดยาฆ่าแมลงและไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม ต้องให้ญาติในเมืองไทยส่งยาให้เพราะเข้าไม่ถึงระบบรักษาพยาบาลในอิสราเอล บางรายบ่นเรื่องถูกคิดค่าน้ำค่าไฟแพงเกินเหตุ ขณะที่อยู่ในสถานที่ห่างไกลจนเกินกว่าจะออกไปซื้ออาหารข้างนอกได้ อาหารที่มีการนำไปขายให้นั้นก็ราคาแพงเกินไป
นายซากีกล่าวว่าภาคการเกษตรของอิสราเอลนั้นพึ่งพาแรงงานไทยเป็นสำคัญ มากยิ่งกว่าจากชาติอื่นๆ ส่วนใหญ่พวกเขามาจากอีสาน ระบบการจัดหาแรงงานจากไทยไปอิสราเอลนั้นที่จริงเป็นระบบที่ได้ออกแบบใหม่ ตัดตัวกลางหรือนายหน้าไปแล้ว ด้วยการให้มีองค์กรที่รับตรวจสอบและมีระบบนำแรงงานไทยไปโดยตรง ใช้ระบบคัดเลือกแบบลอตเตอรี่ ขณะที่ในอิสราเอลก็มีระบบการดูแลทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ การให้หลักประกันสุขภาพและสิทธิของคนงาน แต่ในเรื่องหลังนั้นเขาชี้ว่าแรงงานไทยมักไม่ค่อยรับรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอย่างไรบ้าง เขาระบุว่า แรงงานไทยได้รายได้จากการทำงานเสริมนอกเวลาก็จริง แต่หลายคนบอกว่า ที่จำเป็นต้องทำงานอย่างยาวนานและต่อเนื่องส่วนหนึ่งเพราะไม่มีทางเลือก ปัญหาของพวกเขาอีกอย่างคือเรื่องชองการทำงานในพื้นที่ที่ไม่มีความรู้และไม่สามารถติดต่อผู้คนทั่วไปได้เพราะปัญหาในเรื่องภาษาและสถานที่ทำงานที่อยู่ห่างไกล
อูริ ซากีกล่าวว่า ผลของการพบปะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆพวกเขารับปากว่าจะดูแลปัญหานี้ให้ดีขึ้น ซึ่งเขาก็หวังว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาบอก

 
Top