0

สมาชิกกลุ่มมารา ปาตานี ย้ำยังต้องการแก้ปัญหาใต้ผ่านการเจรจา 

นายอาบูฮาฟิซ อัล ฮากีม สมาชิกคณะเจรจากลุ่มมารา ปาตานี เขียนบทความแสดงความเห็นไว้ในบล็อกส่วนตัว ในเว็บไซต์Deepsouthwatch.org ย้ำว่าทางกลุ่มต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งผ่านการเจรจาสันติภาพ หรือการเจรจาสันติสุข แต่เรียกร้องให้ทางการไทยอย่างเบี่ยงความสนใจไปจากประเด็นหลักและรากเหง้าของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

บทความของนายอาบูฮาฟิซ ซึ่งจั่วหัวว่า หนึ่งปีของการเจรจาสันติภาพ-เราไปถึงไหนกัน? ระบุว่าเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 เป็นวันครบรอบหนึ่งปีของกระบวนการเจรจาสันติภาพภาคใต้/ปาตานีหรือที่รัฐบาลไทยใช้คำว่าการเจรจาสันติสุข บทความยังให้รายละเอียดกระบวนการเจรจาซึ่งมีการประชุมหารือกันในเรื่องทางเทคนิค ไปจนถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่ทางกลุ่มออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมาปฏิเสธข่าวที่มีการนำเสนอในสื่อมวลชนว่าผลของการพูดคุยระหว่างทีมพูดคุยเพื่อสันติสุขตัวแทนรัฐบาลไทย กับทีมมารา ปาตานี ได้ตกลงกันร่วมจัดตั้งเขตปลอดภัยขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้คือที่ อ.บาเจาะและเจาะไอร้อง

นายอาบูอาฟิซ ระบุถึงถ้อยแถลงของโฆษกของฝ่ายกองทัพที่ชี้ว่ากองทัพให้ความสำคัญกับการลดความรุนแรงที่อ้างว่าเกิดจากนักรบปาตานี แต่ในขณะเดียวกันเป็นที่ทราบและมีการเก็บบันทึกความจริงที่ว่าเหตุรุนแรงและภัยร้ายที่เกิดขึ้นนั้นมาจากฝ่ายรัฐ/ทหาร และแน่นอนว่าผู้กระทำความผิดไม่เคยถูกนำตัวมาลงโทษ

สมาชิกคณะเจรจากลุ่มมารา ปาตานี กล่าวอีกว่ากลุ่มย้ำคำมั่นที่จะแก้ปัญหาความขัดแข้งผ่านกระบวนการเจรจาสันติภาพ (หรือสันติสุข) และขอให้รัฐบาลไทยมีความจริงใจ ไม่หาข้ออ้างที่จะเบี่ยงเบนความสนใจไปจากประเด็นหลักและรากเหง้าของปัญหาในภาคใต้ และคนไทยควรเปลี่ยนแปลงทัศนคติด้วยการยอมรับว่ากลุ่มมารา ปาตานีเป็นคณะผู้เจรจา แทนที่จะเรียกพวกเขาว่าเป็น “ผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ” นายอาบูฮาฟิซ ทิ้งท้ายว่ากระบวนการสันติภาพปาตานีเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลายาวนาน และหากปราศจากความยุติธรรมสันติภาพก็จะไม่เกิด

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)ได้เปิดเผยคำชี้แจงของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ฝ่ายรัฐใช้กระบวนการพูดคุยสร้างความไว้วางใจกับกลุ่มผู้เห็นต่างให้หันกลับมาเห็นด้วยกับรัฐ โดยคณะพูดคุยฯ มีชุดความคิดที่กำหนดไว้ 3 ประเด็นหลัก คือ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย, เรื่องเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาในพื้นที่และกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกัน และจะให้ภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

พล.ต.บรรพตยังระบุถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการสร้างความไว้วางใจ และให้ความสำคัญกับทุกกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top