วิโรจน์ ณ ระนอง ชี้โครงการหลักประกันสุขภาพ ไม่เคยเป็นภาระที่เกินตัว สำหรับงบประมาณรัฐ และเป็นเรื่องปกติที่รัฐจะใช้จ่ายเพื่อโครงการด้านสาธารณสุขให้ประชาชน ทั้งนี้ หากไม่ต้องการให้เป็นภาระโรงพยาบาล ก็อาจเพิ่มงบจ่ายต่อหัวคนไข้ เพื่อชดเชยให้โรงพยาบาลได้
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงกรณีแนวความคิด ให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค โดยชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆในโครงการ ควรต้องมาความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ว่าต้องการให้มีโครงการดังกล่าวต่อไปหรือไม่
ทั้งนี้ ดร.วิโรจน์ ชี้ว่าปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 4 ของ GDP โดยเป็นส่วนที่รัฐต้องจ่ายในโครงการบัตรทอง เพียงประมาณร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งนับตั้งแต่มีโครงการนี้ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนงบประมาณที่รัฐต้องจ่ายด้านสาธารณสุข ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยยะสำคัญมากนัก
ทั้งนี้ ดร.วิโรจน์ เห็นว่าข้อวิจารณ์ที่มีต่อโครงการบัตรทอง ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการให้โรงพยาบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย โดยรัฐบาลจ่ายชดเชยให้เพียงหัวละ 2,000 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าว สามารถแก้ได้ด้วยการเพิ่มงบประมาณภาครัฐในโครงการดังกล่าว ให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกปี โดยเฉพาะในส่วนของเงินชดเชยต่อหัวคนไข้ให้กับโรงพยาบาล ซึ่งต่อให้มีอัตราการเพิ่มที่มากกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ก็ยังไม่ถือเป็นภาระงบประมาณที่หนักเกินไป
source :- http://news.voicetv.co.th/thailand/303930.html
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น