0
จิตแพทย์อเมริกันผู้ผลักดันให้ถอดกลุ่มคนรักเพศเดียวกันออกจากอาการโรคจิต เสียชีวิตแล้วในวัย 83

โรเบิร์ต สปิทเซอร์ จิตแพทย์ชาวอเมริกันผู้มีอิทธิพลที่ได้รับการยกย่องจากผลงานการจัดจำแนกประเภทโรคจิตสมัยใหม่ เสียชีวิตแล้วในวัย 83 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวที่เมืองซีแอตเติลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

เจเน็ต วิลเลียมส์ ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นเพื่อร่วมงานของเขาด้วย เป็นผู้แจ้งข่าวการเสียชีวิตของสามี โดยเธอกล่าวถึงสามีว่าผลงานของเขาที่เป็นคู่มือวินิจฉัยที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขมาหลายฉบับที่เรียกกันว่า DSM นั้นถูกถือว่าเป็น “ผลสำเร็จครั้งใหญ่ในสาขาวิชาชีพ” ซึ่งช่วยให้จิตแพทย์มีนิยามที่ชัดเจนสำหรับโรคจิตประเภทต่างๆ เพื่อจะได้หารือถกเถียงกันได้สะดวกขึ้น

นพ.สปิทเซอร์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคู่มือการวินิจฉัยและเชิงสถิติสำหรับโรคจิต และยังได้รับการยกย่องจากการผลักดันให้เอาลักษณะโฮโมเซ็กชวล หรือคนรักเพศเดียวกัน ออกจากการถูกจำแนกว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งในปี พ.ศ. 2516

นพ.สปิทเซอร์เคยทำงานที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่นิวยอร์ก และในช่วงทศวรรษ 1970 หรือในช่วงพ.ศ. 2510 นั้น คู่มือ DSM ได้จัดจำแนกการรักเพศเดียวกันว่าเป็นความเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง โดยระบุว่าเป็น “ความแปรปรวนทางบุคลิกภาพที่ต่อต้านสังคม” ซึ่งต่อมา น.พ.สปิทเซอร์วิเคราะห์และภายหลังเอาออกจากรายการโรคจิ

สปิทเซอร์เคยบอกว่าเขาผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากได้พบกับนักกิจกรรมด้านสิทธิของเกย์และมั่นใจว่าการรักเพศเดียวกันไม่สามารถเป็นโรคจิตได้หากคนที่เป็นเกย์ไม่รู้สึกเป็นปัญหากับรสนิยมทางเพศของตน โดยเขาบอกกับวอชิงตันโพสต์ว่า "การเป็นโรคในทางการแพทย์จะต้องเกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดหรือความบกพร่องในการทำหน้าที่ในสังคม”

นพ.แจ็ค เดรชเชอร์ นักจิตวิเคราะห์ที่เป็นเกย์ บอกว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญสำหรับสิทธิเกย์ “การที่เกย์สามารถแต่งงานกันได้ในปัจจุบันส่วนหนึ่งเป็นผลงานของบ็อบ สปิทเซอร์”

แต่ภายหลังสปิทเซอร์ก็มีเรื่องอื้อฉาวหลังจากตีพิมพ์ผลการศึกษาในปี 2544 ที่สนับสนุนการบำบัดเยียวยาคนที่เป็นเกย์ให้หันมาชอบผู้หญิง ซึ่งทำให้นักกิจกรรมสิทธิเกย์โจมตีว่าเขาทรยศ จนอีกสิบกว่าปีต่อมา เขาออกมาขอโทษสำหรับการศึกษาชิ้นนั้นที่เขาบอกว่ามีข้อบกพร่อง เขาบอกว่ามันเป็นสิ่งเดียวในอาชีพของเขาที่เขารู้สึกสำนึกเสียใจ

นพ.อัลเลน ฟรานซิส บรรณาธิการคู่มือ DSM ฉบับหลังๆ บอกว่า สปิทเซอร์เป็น “จิตแพทย์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคสมัยของเขา”


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top