0

เว็บไซต์ trust ของมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ รายงานข้อมูลซึ่งองค์การสหประชาชาติเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยซึ่งมีจำนวนประชากรไร้สัญชาติมากที่สุดประเทศหนึ่ง ได้ให้สัญชาติบุคคลไป 18,770 คน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็น 4.2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนคนไร้สัญชาติทั้งหมด
“จำนวนเหล่านี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นแนวโน้มของการยุติปัญหาคนไร้สัญชาติในประเทศไทย” รูเวนดรินี เมนิกดิเวลา ผู้แทนของยูเอ็นเอชซีอาร์ประจำประเทศไทยกล่าว
จนถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยังมีประชากรจำนวน 443,862 ที่มีสถานะเป็นบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยต้องเร่งความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาให้เร็วขึ้นหากต้องการบรรลุเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติวางไว้ว่าปัญหาบุคคลไร้สัญชาติต้องยุติลงในปี พ.ศ. 2567
นักกฎหมายที่ทำงานในเรื่องการแก้ปัญหาบุคคลไร้สัญชาติรายหนึ่งยังไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้หรือไม่เพราะปัญหาคอร์รัปชั่นและการไม่สนใจแก้ปัญหาของข้าราชการระดับท้องที่ บุคคลไร้สัญชาติยังถูกมองอย่างไร้ตัวตนในทางกฎหมาย และไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไม่ว่าจะชาติใดก็ตาม ซึ่งนั้นหมายความว่าพวกเขาถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานและกลายเป็นเหยื่อของการแสวงประโยชน์และการค้ามนุษย์
บุคคลไร้สัญชาติจำนวนมากในประเทศไทยเป็นชาวเขา ซึ่งสืบทอดกันมาในพื้นที่และเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างจากประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งคือเด็กๆ ที่เป็นลูกของแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศเมียนมา
ประเทศไทยได้ปฏิรูปกฎหมายสัญชาติในปี 2551 เพื่อแก้ปัญหาปัญหาบุคคลไร้สัญชาติและยังมียุทธศาสตร์ชาติในการช่วยให้บุคคลได้สัญชาติ แต่ก็ยังน่ากังวลในส่วนของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
ฟองจันทร์ สุขเสน่ห์ ที่ปรึกษากฎหมายของบุคคลไร้สัญชาติให้ความเห็นว่าแม้กฎหมายเกี่ยวกับสถานะบุคคลของไทยจะดีแต่ก็ไม่เห็นแนวโน้มว่าไทยจะแก้ปัญหาบุคคลไร้สัญชาติได้ทันกรอบเวลาเป้าหมายในปี พ.ศ. 2567
“สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดที่ดิฉันได้พบก็คือการคอร์รัปชั่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐเองไม่คุ้นกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องและไม่ต้องการที่จะทำความคุ้นเคยกับกฎหมาย” ฟองจันทร์กล่าวผ่านบทสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เมื่อต้องเผชิญกับวิธีคิดแบบนี้ ก็ทำให้ดิฉันไม่มีความหวังว่าทางการไทยจะมีความคืบหน้าและบรรลุเป้าหมายภายในกรอบเวลาที่วางไว้ได้”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ราดา โกวิล ผู้เชี่ยวชาญด้านบุคคลไร้สัญชาติจากยูเอ็นเอชซีอาร์ ยังมองในแง่ที่มีความหวังว่าจำนวนบุคคลที่ได้สัญชาติจำนวน 18,773 คนในช่วงสามปีที่ผ่านมา ก็ทำให้เห็นแรงผลักดันในด้านบวก ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ก็เพิ่มความตระหนักว่าการยุติปัญหาบุคคลไร้สัญชาติจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาและลดความยากจนในพื้นที่ชาวเขา ซึ่งบ่อยครั้งที่บุคคลไร้สัญชาติถูกผลักเข้าสู่วงจรการค้ายาเสพติดและการทำผิดกฎหมายเพราะถูกปิดกั้นโอกาสในการทำงานและมีข้อจำกัดในการเดินทาง
ตัวเลขประมาณการบุคคลไร้สัญชาติทั่วโลกคือประมาณ 10 ล้านคน โดยประเทศที่มีบุคคลไร้สัญชาติมากที่สุดได้แก่ เนปาล เมียนมาและไอวอรี โคสต์ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้เผยแพร่ข้อมูลการแก้ปัญหาบุคคลไร้สัญชาติของไทยหลังจากที่เมื่อปีที่แล้วได้ประกาศรณรงค์ที่ชื่อ ‪#‎ibelong‬ ซึ่งมีเป้าหมายขจัดปัญหาบุคคลไร้สัญชาติภายใน 1 ทศวรรษ
แฟ้มภาพ: ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงลี้ภัยจากการปะทะกันระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมาร์ เข้าสู้ชายแดนไทย เมื่อปี 2551

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top