เมียนมาร์กลับมาผลิตฝิ่นเพิ่มขึ้นอีก หลังความต้องการของผู้เสพในเอเชียเพิ่มสูงขึ้น
ตามเป้าหมายเดิมของรัฐบาลเมียนมาร์แล้ว สิ้นปีนี้ทั้งประเทศควรจะต้องปลอดจากยาเสพติด แต่ไม่นานมานี้ ปริมาณการผลิตฝิ่นของเมียนมาร์กลับเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันดับสองของโลกแล้ว ซึ่งทำให้เกิดคำถามที่ชวนสงสัยว่า ยุคทองของ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่การค้ายาเสพติดเคยเฟื่องฟู กำลังจะหวนกลับมาอีกครั้งหรือไม่?
ที่รัฐชินทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาร์ หมู่บ้านตามแนวไหล่เขาติดกับพรมแดนรัฐมณีปุระของอินเดียต่างก็ทำไร่ฝิ่นขนาดเล็กกันมาเป็นเวลานาน โดยใช้ฝิ่นเป็นยาพื้นบ้านรักษาโรคท้องเดินและอาการเจ็บป่วยอื่นๆ รวมทั้งเป็นของที่ใช้รับรองแขกและผ่อนคลาย เช่นเดียวกับการดื่มสังสรรค์ของคนในสังคมเมืองทั่วไป แต่สถิติในช่วงสิบปีที่ผ่านมาชี้ว่า เริ่มมีการปลูกฝิ่นเพื่อการค้าอย่างจริงจังกันมากขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว และตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา ปริมาณการผลิตฝิ่นในเมียนมาร์เพิ่มขึ้นเกือบเป็นสามเท่า
สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประมาณการณ์ว่า มีการแปรรูปฝิ่นเป็นเฮโรอีนและส่งออกจากเมียนมาร์เมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าในการซื้อขายถึง 340 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยขณะนี้เมียนมาร์เป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากอัฟกานิสถาน โดยผลิตฝิ่นราวร้อยละ 25 ของที่ผลิตได้จากทั่วโลก
การผลิตยาเสพติดที่เพิ่มขึ้น มาจากความต้องการของตลาดผู้เสพยาเสพติดขนาดใหญ่ที่กำลังขยายตัวในจีน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดย UNODC รายงานว่า เฉพาะผู้เสพยาเสพติดในจีนกว่าหนึ่งล้านคนนั้น บริโภคเฮโรอีนถึงร้อยละ 70 ของที่ผลิตได้ในเอเชียเลยทีเดียว นอกจากนี้ รายได้จากการผลิตฝิ่นยังได้กลายมาเป็นรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำ สำหรับเกษตรกรที่ยากจนในพื้นที่ห่างไกลของเมียนมาร์อีกด้วย ชาวบ้านในรัฐชินบางคนบอกว่า รายได้จากการปลูกผักหรือข้าวโพดนั้นน้อยนิด เทียบไม่ได้กับรายได้จากฝิ่น ซึ่งปลูกเพียงสี่เดือนก็เก็บเกี่ยวได้ ไม่ต้องขนส่งผลิตผลให้ลำบากเพราะพ่อค้ายาเสพติดมารับซื้อถึงที่ บางรายถึงกับให้เงินทุนสำหรับการเพาะปลูกล่วงหน้ากันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นก็มีผลเสีย ทำให้คนในชุมชนติดฝิ่นกันมากขึ้นทั้งคนรุ่นหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ เกษตรกรบางรายถึงกับต้องหักใจไม่ปลูกฝิ่นอีกทั้งที่ทำรายได้ดี เพราะลูกๆของเขาพากันติดฝิ่นจนเสียผู้เสียคน การปราบปรามยาเสพติดจากทางการนั้นไม่ได้ผล เพราะทั้งกองทัพและกลุ่มติดอาวุธต่างๆนั้นได้ผลประโยชน์จากการเก็บ “ภาษีฝิ่น” ซึ่งเป็นเงินนอกกฎหมายที่เรียกเก็บในอัตราสูง
นักวิจัยบางส่วนหวังว่า ในอนาคต การผลิตฝิ่นในเมียนมาร์อาจลดลงบ้าง เนื่องจากแนวโน้มในระยะยาว ฝิ่นอาจไม่ทำกำไรให้เกษตรกรมากนัก เพราะราคาฝิ่นเริ่มตกลงและต้องจ่ายค่าแรงงานเพิ่มขึ้น พร้อมไปกับการขูดรีด “ภาษีฝิ่น” จากบรรดาผู้มีอิทธิพล ที่นับวันยิ่งหนักหน่วงขึ้นด้วย