อัยการแจงกรณีไม่ฟ้องพานทองแท้ คดีกรุงไทยปล่อยกู้ เหตุไม่ใช่นักการเมือง
นายวินัย ดำรงมงคลกุล ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวชี้แจงกรณีไม่สั่งฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร ข้อหารับของโจร ในคดีกรุงไทยปล่อยกู้โดยมิชอบ เนื่องจากไม่ใช่นักการเมือง ไม่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของ คตส. ต้องแยกฟ้องต่างหาก
คดีที่เรียกกันสั้นๆ ว่าคดีกรุงไทยปล่อยกู้ นั้นเป็นคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพิ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมาให้จำคุกอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย 18 ปี จากกรณีปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร และสั่งจำคุกผู้เกี่ยวข้องอีก 24 ราย โดยพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วยเนื่องจากเป็นผู้สั่งให้ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อแก่กลุ่มกฤษดามหานคร
คดีนี้อัยการเป็นโจทก์ตามคำร้องของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ให้ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 27 คนเป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
นายวินัยชี้แจงว่าเหตุที่อัยการไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน ชินวัตร นายวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญจนา และ นายมานพ ทิวารี เนื่องจากนายจุลสิงห์ วสันต์สิงค์อัยการสูงสุด(ขณะนั้น)พิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่ คตส.ให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ ชินวัตร กับพวก ฐานรับของโจร นั้น เป็นการกระทำความผิดหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 27 คน ในคดีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้กระทำเสร็จสิ้นไปแล้วและผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ราย มิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง ไม่อาจเป็นผู้ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 คตส.จึงไม่มีอำนาจไต่สวน ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ และไม่อาจมีความเห็นในความผิดฐานรับของโจรโดยหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ก็ควรที่จะต้องร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแยกต่างหากจึงต้องแยกฟ้องต่อศาลอาญาที่มีเขตอำนาจต่อไป