เมื่อคืนเห็นบทความเก่าที่เขียนโดยเพื่อนร่วมงานของผมเอง --คุณสานิตย์ เพ็ชรพรหมศร (เล็ก)-- ซึ่งได้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างสรรค์หนังสือประชดประชันการเมือง ที่คลาสสิคและขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง ที่ชื่อว่า "คู่มือทรราช" คุณเล็กได้ตอบคอการเมืองคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องหนังสือเล่มนี้ และความเป็น "เหลือง" หรือ "แดง" ของผู้เขียนและสถาบันสหสวรรษ ได้อย่างครบถ้วนและชัดเจน
ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ในช่วงนี้มาก เพราะระหว่างที่เอาโพสต์สี่ห้าโพสต์ลง ก็มีนักรบจากทุกสีเสื้อเข้ามาโจมตีและก่อกวน บางรายถึงขนาดด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย (ซึ่งได้ถูกลบทิ้งไปแล้วเป็นส่วนใหญ่) ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าพวกเราคือฝ่ายตรงข้าม บทความนี้น่าจะช่วยเคลียร์ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น บทความนี้ยังมีความพิเศษสำหรับผมอีกประการ เพราะหนังสือ "คู่มือทรราช" เล่มนี้เป็นหนังสือการเมืองเล่มแรกของผม และได้ช่วยบ่งบอกถึงตัวตนและจุดยืนทางการเมืองของผมอย่างชัดเจน
--------------------------------------------
"คู่มือทรราช" ตกลงเป็น "เหลือง" หรือ "แดง" กันแน่?
สืบเนื่องจากที่ทางแอดมินของสถาบันสหสวรรษได้แนะนำหนังสือ "คู่มือทรราช" ไว้ก่อนหน้านี้ และคุณ Etopus Lee ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า หนังสือเล่มดังกล่าว "แอบเหลือง"
โดยส่วนตัวในฐานะของคนที่มีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือเล่มดังกล่าว และเคยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับผู้เขียนหลายครั้งหลายหน ถึงแม้จะเห็นคล้อยตามกับคำพูด "แอบเหลือง" แต่ก็เห็นว่าการนิยามเพียง "แอบเหลือง" ยังมีความคลาดเคลื่อน และหาได้ครอบคลุม หรือสอดคล้องกับสิ่งที่ ดร.วุฒิพงษ์ ตั้งใจนำเสนอผ่านหนังสือเล่มดังกล่าวแต่อย่างใด จึงขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมเพื่อเติมเต็ม และช่วยให้ใกล้เคียงกับความตั้งใจของ ดร.วุฒิพงษ์ มากขึ้น
ก่อนอื่นคงต้องมานิยามศัพท์กันก่อนเพื่อให้เข้าใจตรงกันเมื่อเอ่ยถึงคำใดคำหนึ่ง และในที่นี้ผมขอนิยามเน้นหนักไปเฉพาะประเด็นทางด้านการเมืองนะครับ
- "เหลือง" หมายถึง กลุ่มคนที่คัดค้านแนวคิดและทิศทางการบริหารราชการตามแนวทางของทักษิณ กลุ่มนี้มีทั้งคนที่นิยมพรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาได้เปลี่ยนสภาพเป็น "ฟ้า" แทน ส่วนเหลืองบางกลุ่มก็หมดความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ไปเลย
- "แดง" หมายถึง กลุ่มคนที่นิยมแนวคิดและทิศทางการบริหารประเทศตามแนวทางของทักษิณ โดยรวมกลุ่มนี้จะรับไม่ได้โดยสิ้นเชิงกับ "เหลือง" และแนวทางการบริหารราชการของพรรคประชาธิปัตย์
- "แอบเหลือง" จากนิยามข้างต้น ผมขอสรุปโดยย่อว่าหมายถึง อาการไม่เห็นด้วยกับทักษิณและ "แดง" แต่กระมิดกระเมี้ยน ไม่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง ทำแบบเนียนๆ
- "แอบแดง" ถ้านิยามแอบเหลืองแบบข้างต้น แอบแดงก็คงต้องนิยามว่า อาการไม่เห็นด้วยกับ "เหลือง" และ "ฟ้า" แต่กระมิดกระเมี้ยน ไม่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง ทำแบบเนียนๆ เหมือนกัน
................................................
อีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนอีกนิดหนึ่งก็คือ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ "คู่มือทรรราช"
- "คู่มือทรรราช" พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ เดือนมิถุนายน พ.ศ.2543
- ชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยสมัยที่สองระหว่างปี พ.ศ.2540-2544
- พรรคไทยรักไทย จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2541 ชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลสมัยแรกในปี พ.ศ.2544
- "เหลือง" หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เริ่มเคลื่อนไหวและรวมตัวกันราวเดือนกันยายน พ.ศ.2548
- "แดง" หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีชื่อเดิมว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2550
หากพิจารณาจากปีที่ "คู่มือทรราช" เริ่มเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก คือ พ.ศ.2543 จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลานั้นสังคมไทยยังไม่มีทั้ง "เหลือง" และ "แดง" มีเพียง "นักการเมือง" กับ "ประชาชน" หรือพูดง่ายๆ ว่ามีเพียง "นกกระสา" กับ "กบ"
ช่วงเวลาที่ ดร.วุฒิพงษ์ เขียน "คู่มือทรราช" คือช่วงเวลาที่ชวน หลีกภัย บริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 มาแล้วราว 3 ปี โดยที่ทักษิณยังไม่เคยได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแต่อย่างใด
ดังนั้น คงจะไม่ผิดหากจะบอกว่า ดร.วุฒิพงษ์ เขียน "คู่มือทรราช" โดยอาศัยสภาพสังคม เศรษฐกิจ และพฤติกรรมทางการเมืองของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยที่บริหารราชการในช่วงปี พ.ศ. 2544-2548 แต่อย่างใด เรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเป็นพฤติกรรมในการบริหารราชการของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เพียงฝ่ายเดียว
และในเวลาต่อมาหลายๆ ครั้ง ดร.วุฒิพงษ์ ยังได้กล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจว่า ไม่มากก็น้อย เนื้อหาบางส่วนของหนังสือคงถูกทักษิณและพวกนำไปใช้โจมตีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนนำไปสู่ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544
หรือถ้าจะกล่าวแบบสั้นๆ กระชับๆ และใช้นิยาม "เหลือง" "แดง" เข้ามาเป็นเกณฑ์ ก็คงกล่าวได้ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2543-2544 หนังสือ "คู่มือทรราช" เป็นหนังสือ "แอบแดง"
ครั้นเมื่อเกิดกลุ่ม "เหลือง" ขึ้นในปี พ.ศ.2548 เนื้อหาในหนังสือ "คู่มือทรราช" ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อใช้ในการอธิบายพฤติกรรมทางการเมืองของทักษิณ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสามารถอธิบายได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน และเนื้อหาบางส่วนในหนังสือก็ถูกใช้เพื่อการโจมตีรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของทักษิณ เหมือนเมื่อครั้งที่ใช้โจมตีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
ตอนนี้ ถ้าเราใช้นิยาม "เหลือง" "แดง" ข้างต้นมาวิเคราะห์ "คู่มือทรราช" หนังสือที่ครั้งหนึ่ง "แอบแดง" ก็กลายเป็นหนังสือ "แอบเหลือง" ไปเป็นที่เรียบร้อย
หลายคนอาจแปลกใจที่หนังสือเล่มเดียวกัน จะเป็นได้ทั้ง "แอบเหลือง" และ "แอบแดง" ได้อย่างไร
จริงๆ แล้วมันไม่น่าแปลกใจหรอกครับ เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะตีแผ่พฤติกรรมทางการเมืองของ "แดง" "ฟ้า" หรือ "เหลือง" เลย แต่เป็นหนังสือที่ผู้เขียนตั้งใจตีแผ่พฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมือง หรือ "นกกระสา" ที่ไม่เคยมองว่าตัวเองเป็น "แดง" "ฟ้า" หรือ "เหลือง" เป็นนกกระสาที่ไม่ว่าจะบอกว่าตัวเองเป็นสีอะไรก็แล้วแต่ พฤติกรรมทางการเมืองก็ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด ทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์และความมั่งคั่งส่วนตน
นกกระสาเหล่านี้คิดแต่เพียงว่า "กบ ยังไงก็ยังเป็นกบอยู่วันยังค่ำ และกบไม่ว่าจะสีอะไรก็ทำให้ตนอิ่มท้องได้เหมือนกัน"
"คู่มือทรราช" ครบรอบ 12 ปีเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (2555) น่าเสียดายนะครับที่ผู้เขียนพยายามบอกเรามานานถึง 12 ปีแล้ว เราได้แต่เพียงอ่านมัน แต่ไม่เคยเข้าใจ เพราะมัวแต่หลงทางไปกับสีที่นกกระสาเอามาป้ายให้เรา
-------------------------------------------------------



 
Top