อินเตอร์โพลสนับสนุนไทย ช่วยแพร่ข้อมูลเรื่องชายเสื้อเหลือง ออก “หมายสีน้ำเงิน” แจกสมาชิก 190 ประเทศ ขณะที่อีกด้านหลายฝ่ายจับตาชุมชนอุยกูร์และคนเชื้อสายตุรกีในไทย
พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ หัวหน้าตำรวจสากลประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลจากการขอความร่วมมือจากองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศหรืออินเตอร์โพล พบว่า คดีวางระเบิดราชประสงค์ในกรุงเทพฯได้รับความสนใจอย่างมากจากอินเตอร์โพลสำนักงานใหญ่กับอีกหลายประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา อินเตอร์โพล ได้ออก Blue notice หรือหมายน้ำเงินแจ้งไปยังสมาชิกประเทศ 190 แห่งทั่วโลกว่าประเทศไทยต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับชายเสื้อเหลืองผู้ต้องสงสัยที่ได้ภาพจากซีซีทีวี โดยการออกหมายสีน้ำเงินเวียนไปยังสมาชิกประเทศถือว่าเป็นการขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่นข้อมูลการเข้าออกจากประเทศใดประเทศหนึ่งใน 190 ประเทศนี้ซึ่งรวมทั้งตุรกีและจีนด้วย
นอกจากนั้น พล.ต.ต.อภิชาติระบุว่า กำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมทั้งหมดเกี่ยวกับคน อื่น ๆ ที่ทางไทยออกหมายจับรวมทั้งที่จับเพิ่มอีกหนึ่งคนเพื่อส่งต่อไปให้กับอินเตอร์โพลซึ่งแสดงความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับคดี เพราะเป็นครั้งแรกที่มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย นอกจากอินเตอร์โพลแล้ว อีกหลายประเทศก็สนใจเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่มีข้อมูลที่มีนัยสำคัญมาแลกเปลี่ยนนอกจากการขอข้อมูลฝ่ายไทยไปตรวจสอบ
ส่วนในเรื่องของการสืบสวนสอบสวน นสพ.บางกอกโพสต์รายงานไว้วันนี้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับคำสั่งให้เฝ้าจับตาชาวอุยกูร์ที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถือหนังสือเดินทางของจีนหรือตุรกีก็ตาม โดยกองบังคับการปราบปรามจะทำงานร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบบรรดาคนเชื้อสายอุยกูร์ที่อยู่ในไทยซึ่งมีประมาณ 3,000 คน โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งการในเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
บางกอกโพสต์รายงานด้วยว่า ผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งหนีออกไปยังบังคลาเทศแล้ว สำหรับสามีของนางวรรณา สวนสันที่ตำรวจออกหมายจับเป็นรายล่าสุดนั้น นสพ.รายงานว่า ตำรวจมีข้อมูลว่าเป็นผู้จ่ายค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์ในหนองจอก และขณะที่นางวรรณา สวนสัน บอกเจ้าหน้าที่ว่าขณะนี้พำนักในตุรกี ตำรวจมีข้อมูลว่าสามีของเธออยู่อีกประเทศหนึ่ง
ด้านแอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์แห่งกลุ่มข่าวสารความมั่นคง ไอเอชเอส-เจนส์เขียนไว้ในบางกอกโพสต์เช่นกันเมื่อ 1 ก.ย.ว่า เขาเชื่อว่า การลงมือนี้กระทำโดยกลุ่มคนที่เป็นคนก่อการร้ายข้ามชาติแต่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีชื่อที่รู้จักกัน น่าจะเป็นกลุ่มเล็กแต่มีทักษะในการลงมือ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่มีความเชื่ออย่างเดียวกันแต่เป็นแก๊งอาชญากรรมหรือมีการกระทำที่ผิดกฎหมายในกรุงเทพฯ โดยเป้าหมายอาจจะเพื่อแก้แค้นในเรื่องอุยกูร์ที่ไทยส่งกลับให้จีนซึ่งชัดเจนว่าต้องถูกจีนลงโทษ หรือเป็นไปได้ว่าอาจจะมีคนของพวกเขาปนอยู่ในคนกลุ่มนั้นด้วย
เดวิสบอกว่าการทำงานร่วมกันของกลุ่มคนเช่นนี้ต้องใช้คนที่ไว้ใจได้เท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้สามารถตีวงแคบลงมาได้ว่า อาจจะเป็นคนที่มีเชื้อสายเดียวกัน คืออุยกูร์หรือตุรกี เดวิสชี้ว่า หลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบที่หนองจอกบ่งชี้ด้วยว่า คนเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนของหรือคน เพราะมีหนังสือเดินทางปลอมจำนวนมาก และเขาเชื่อว่าคนในกลุ่มแก๊งนี้เดินทางเข้าออกเมืองไทยผ่านกัมพูชา เวียดนามและจีนเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตามเดวิสไม่เชื่อว่าในประเทศไทยจะมีชุมชนอุยกูร์และเชื้อสายตุรกีจำนวนมาก เขาเห็นว่ามีน้อยมาก
เดวิสชี้อีกว่า เรื่องนี้เตือนให้เห็นว่า ทางการไทยต้องเตรียมรับมือการก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวคือการจับมือกันของแก๊งอาชญากรรมใต้ดินกับกลุ่มที่มีทักษะก่อการร้าย และปรับตัวในการรับมือทั้งภายในและภายนอกเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ไม่ใช่ปฏิเสธการคงอยู่ของปัญหาการก่อการร้าย
พล.ต.ต.อภิชาติเองก็เห็นว่าในประเทศไทยน่าจะมีชุมชนคนเชื้อสายอุยกูร์ไม่มาก และข้อจำกัดคือโดยลักษณะอาจจะบอกได้ยากโดยเฉพาะอุยกูร์เชื้อสายตุรกี อุยกูร์ในจีนซึ่งจะถือหนังสือเดินทางจีนของจีนนั้นจะมีจำนวนมากกว่า
ด้านนางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ มูลนิธิศักยภาพชุมชนซึ่งทำงานกับกลุ่มผู้หนีภัยในประเทศไทยกล่าวว่า จำนวนชาวอุยกูร์ในไทยมีน้อยมาก ส่วนใหญ่อยู่ในการกักกันของทางการเพราะเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ต้องการอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องการเดินทางไปต่อยังมาเลเซียและตุรกี นางชลิดาชี้ว่าเรื่องนี้ทางการไทยควรหาทางคลี่คลายคดีอย่างโปร่งใสให้เห็นว่าการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและใช้กระบวนการยุติธรรมตรงไปตรงมา ลงโทษคนผิดแต่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อตัดตอนไม่ให้เกิดความเจ็บแค้นตามมาอีกจนกลายเป็นการสานต่อไปเรื่อย ๆ